Economics

แย้มทีโออาร์‘เอราวัณ-บงกช’ เข้ากพช.วันนี้

20180410032252 1

นายกฯนั่งหัวโต๊ะประชุมกพช.เคาะทีโออาร์เปิดประมูลแหล่ง “เอราวัณ-บงกช” ก่อนประกาศเชิญชวนเอกชน 24 เมษายนนี้ “ศิริ”มั่นใจระบบแบ่งปันรัฐกำกับได้ทุกมิติ แย้มทีโออาร์ก๊าซเก่าราคาถูกก๊าซใหม่ราคาสูง

กว่า 30 ปีที่ผ่านมา แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช และแหล่งเอราวัณ ได้สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ เพราะปริมาณก๊าซธรรมชาติ 75 % ที่ผลิตได้ในอ่าวไทย มาจากทั้ง 2 แหล่งนี้  ก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศถึง 60%

หลังจากยืดเยื้อมานานกับการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุปี 2565-2566 ของแหล่งเอราวัณ- บงกช จะดำเนินการอย่างไรในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ช่วยบ่ายวันที่ 23 เมษายนนี้ ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กระทรวงพลังงานได้เสนอให้มีการพิจารณาอนุมัติเงื่อนไขทีโออาร์ เปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมทั้งเอราวัณ- บงกช

พลังงานประกาศเชิญชวนอังคารนี้

เมื่อกพช.อนุมัติร่างทีโออาร์แล้วจากนั้นวันที่24เมษายนนี้ ช่วงบ่ายกระทรวงพลังงานโดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะร่วมแถลงข่าวรายละเอียดทีโออาร์ รวมถึงคุณสมบัติผู้ที่จะเข้าร่วมประมูล จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เคยผ่านงานประมูลหรือไม่ สามารถผลิตก๊าซได้เท่าไหร่ รวมถึงรายได้ที่จะเสอนให้กับรัฐ ทั้งนี้เพื่อประกาศเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจได้รับทราบ และเสนอตัวเข้าร่วมประมูลได้

ก่อนหน้านี้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่าจะคัดเลือกเอกชนให้เสร็จสิ้นปลายปีนี้ และคงลงนามสัญญาได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ย้ำราคาต้องสูงกว่าปัจจุบัน

ในหลักการสำคัญของการประมูลต้องรักษาความต่อเนื่องของกำลังผลิตจากปัจจุบัน 2 แหล่ง มีกำลังผลิตรวม 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ราคาต้องไม่กระทบค่าไฟฟ้า ดังนั้นผู้ชนะประมูลต้องรักษาระดับการผลิตรวมทั้ง 2 แหล่ง ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และราคาต้องสูงกว่าราคาในปัจจุบัน (ราคาอยู่ที่ประมาณ 8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู) และสัญญาประมูลจะแบ่งออกเป็น 2 สัญญา

siri
ศิริ จิระพงษ์พันธ์

มั่นใจระบบแบ่งปันรัฐกำกับได้ทุกมิติ

ล่าสุดนายศิริ ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ เดินหน้าประเทศไทย”เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา ว่าการใช้สัญญาแบ่งปันผลผลิต เพื่อให้มีการผลิตก๊าซอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้ประกอบการภายใต้สัมปทานและแบ่งปันผลประโยชน์

นายศิริ ย้ำว่าการประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชครั้งนี้  เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลเลือกรูปแบบเป็นสัญญาแบบแบ่งปันผลผลิตมาใช้  จะส่งผลดีทำให้รัฐบาลมีส่วนร่วมในการอนุมัติแผนงาน งบลงทุน ตลอดจนการดำเนินการต่างๆ กับผู้ได้รับสัญญา ข้อดีคือภาครัฐสามารถเข้าไปกำกับได้เกือบทุกมิติของการลงทุนส่วนรายได้นั้นทำให้รัฐได้ค่าภาคหลวง ส่วนแบ่งกำไรและภาษีเงินได้โดยรวมแล้วรัฐจะได้ส่วนแบ่งมากกว่าครึ่ง

ย้ำผู้ชนะอาจเป็นคนใหม่หรือเก่าได้

การที่รัฐบาลที่ตัดสินใจใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ได้ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าทรัพย์ยากรที่อยู่ใต้ดินเป็นของคนไทยทุกคน ดังนั้นเราต้องหาระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด เชื่อว่าเป็นระบบที่ปรับปรุงให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้แหล่งผลิตก๊าซมีความมั่นคง

การแบ่งปันผลผลิตรัฐเป็นเจ้าของแทนประชาชน  จะเป็นผู้กำหนดว่าราคาก๊าซธรรมชาติ ที่จะซื้อจะขาย การทำสัญญาจะขายกันเท่าไหร่และปริมาณผู้ประกอบการต้องรับประกันว่าจะผลิตได้เท่าไหร่ ผู้ชนะอาจจะเป็นคนใหม่หรือคนเดิมก็ได้

เอราวัณ5

ก๊าซเก่าราคาต่ำ-ก๊าซใหม่ราคาสูง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าเดิมมีการพิจารณากันว่า 2 แหล่งดังกล่าวซึ่งมีอยู่หลายแปลงจะแยกประมูลออกเป็น4-5แปลงเลยหรือไม่ แต่  สุดท้ายดูแล้วจากโครงสร้างท่อที่มีอยู่แล้วทุกอย่าง คือให้ทำแบบเดิมคือ 2 แปลง

ส่วนปริมาณก๊าซในอ่าวไทยตอนนี้ มันก็มีปริมาณที่ลดลงจากเดิมที่เคยผลิตได้ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันปัจจุบันก็ผลิตไม่ได้ขนาดนั้น เพราะหายากขึ้น

เมื่อปริมาณก๊าซลดลงรัฐก็พยายามที่จะไม่ให้ราคาก๊าซที่ซื้อมาปั่นไฟ มีราคาเปลี่ยนแปลงมากนัก ก็เท่ากับว่าก๊าซเดิมก็จะได้ราคาต่ำ ก๊าซใหม่ก็ต้องประมูลกัน ซึ่งเป็นหลักการโดยทั่วไป

ฉะนั้นผู้ที่เสนอเงื่อนไขคงเป็นเรื่องที่ราคาในส่วนที่เกินจากราคาก๊าซเก่า ซึ่งต้องมาซัพพอร์ตทำได้มากกว่า ส่วนก๊าซเก่าที่จะผลิตได้จาก 2 แหล่งเก่าก็จะราคาหนึ่ง ถ้าจะให้มากกว่านี้ราคาก็ต้องสูงขึ้นไม่เช่นนั้นก็ไม่มีกำไร เพราะต้องขุดเจาะมากขึ้นต้องมาประมูลราคาตรงนี้ว่า จะเป็นเท่าไหร่นี่คือหลักการ ซึ่งต้องกำหนดไว้ในเงื่อนไขทีโออาร์เรื่องราคาเป็นเรื่องสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขทีโออาร์ที่จะออกมาใหม่ เชื่อว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับรายเก่ามากกว่า เนื่องจากรายเก่ามีประสบการณ์ใน2แหล่งอยู่แล้ว ดังนั้นรายเก่าน่าจะมีความได้เปรียบมากกว่า ส่วนรายใหม่อาจจะมีปัญหามากกว่าเนื่องจากยังไม่เคยดำเนินการมาก่อนในพื้นที่ทั้ง 2 แหล่ง

สำหรับเอกชนที่แสดงความสนใจเข้าร่วมประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณก่อนหน้านี้ มีทั้งเชฟรอน  บริษัทโมเอโกะเครือ มิตซุย  บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.)  บริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม  แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

รายงานข่าวจากปตท.สผ. ระบุว่าขณะนี้ในส่วนของบริษัทอยู่ระหว่างรอประกาศรายละเอียดทีโออาร์จากกระทรวงพลังงาน แต่หลังจากฟังการชี้แจงรายละเอียดของกระทรวงพลังงานวันที่ 24เมษายนนี้แล้ว ได้ให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการสรุปรายละเอียดให้เสร็จภายใน 2 วัน  เพื่อที่บริษัทได้เตรียมแผนที่จะเข้าร่วมประมูล

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight