Economics

คุมสายการบินบอก ‘ค่าเลือกที่นั่ง-โหลดสัมภาระ’ ป้องกันผู้โดยสารถูกเอาเปรียบ

กพท. เล็งออกกฎบังคับสายการบินบอก “ค่าเลือกที่นั่ง-โหลดสัมภาระ” ล่วงหน้า ป้องกันผู้โดยสารถูกเอาเปรียบ

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า กพท. อยู่ระหว่างร่างประกาศแนวทางการกำกับบริการเสริมของสายการบิน (Ancillary Service) ซึ่งไม่ใช่บริการขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้าไปยังจุดหมายปลายทาง เช่น บริการเลือกที่นั่งล่วงหน้า, บริการอาหารและเครื่องดื่ม, การซื้อน้ำหนักสัมภาระล่วงหน้า, ประกันเดินทาง, บริการ Wifi เป็นต้น เพื่อกำกับดูแลธุรกิจสายการบินและคุ้มครองผู้โดยสารให้ได้รับบริการที่เป็นธรรมมากขึ้น

จุฬา สุขมานพ2
ภาพจาก CAAT – The Civil Aviation Authority of Thailand

เนื่องจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจสายการบินในปัจจุบันได้เปลี่ยนไป โดยพบว่าสายการบินทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ (Low-Cost Airline) หรือสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Cost Airline) ต่างปรับกลยุทธ์ หันมาหารายได้จากบริการเสริมมากขึ้น เพราะการจำหน่ายบัตรโดยสารมีแข่งขันรุนแรง ขณะที่บริการเสริมกลับเป็นช่องทางการหารายได้ที่สร้างกำไรให้กับสายการบินได้เป็นอย่างดี

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากจะซื้อบัตรโดยสารสายการบินโลวคอสต์ในปัจจุบัน ผู้โดยสารจะไม่สามารถเลือกที่นั่งเองได้ ถ้าหากผู้โดยสารต้องการเลือกที่นั่ง ก็ต้องจ่ายค่าบริการเลือกที่นั่งเพิ่มเติม เป็นต้น โดยที่ผ่านมาสายการบินมักจะขายบริการเสริมหรือบังคับขายมาพร้อมกับบัตรโดยสาร ไม่มีการแจ้งค่าบริการเสริมให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้โดยสาร จึงต้องออกกฎหมายควบคุม

การบินไทยถ่ายทอดสด

“ขณะนี้ กพท. อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อกำหนดว่าบริการชนิดใดบ้างเข้าข่ายเป็นบริการเสริม รวมทั้งกำหนดมาตรการให้สายการบินต้องแจ้งราคาบริการล่วงหน้า และวิธีการจำหน่ายในช่องทางต่างๆ ให้ผู้บริโภครับรู้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารเลือกเปรียบเทียบราคาการใช้บริการเสริมตรงตามความต้องการที่แท้จริง ไม่ใช่การบังคับขายโดยไม่แจ้งราคา คาดว่าภายใน 2-3 เดือนจะเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้” นายจุฬากล่าว

นายจุฬา กล่าวอีกว่า ในปี 2552 หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้รายได้จากตั๋วโดยสารของสายการบินทั่วโลกลดลงอย่างมาก สายการบินต่างๆ จึงต้องปรับตัวและหากลยุทธ์ เพื่อสร้างความอยู่รอดให้กับองค์กร ด้วยการขายบริการเสริม ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ สายการบินสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติครั้งนั้นได้ ในระยะเวลา 7 – 8 ปีต่อมา สายการบินมีกาไรสูงขึ้น 4 – 5 % และพบว่าสายการบิน Spirit ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ มีรายได้จากบริการเสริมสูงสุดคิดเป็น 46.6% ของรายได้ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการหารายได้ของสายการบินต้นทุนต่ำ จะมุ่งเน้นรายได้จากบริการเสริมมากขึ้น

ขณะที่สายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ก็หันมาเก็บค่าบริการเสริมด้วย เช่น สายการบิน British Airways ผู้โดยสารชั้นธุรกิจที่ซื้อบัตรโดยสารในราคาพิเศษ จะต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติม หากต้องการโหลดสัมภาระ และกรณีที่เป็นเที่ยวบินระยะใกล้ (Short haul) จะไม่มีบริการอาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้โดยสารชั้นประหยัด เป็นต้น

Avatar photo