World News

สหรัฐชี้รัฐบาลไทยละเมิดสิทธิรุนแรง

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยแพร่รายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ประจำปี 2560 ชี้ รัฐบาลไทยยังมีการละเมิดสิทธิรุนแรง

thai 1

นายจอห์น ซัลลิแวน รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ แถลงรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่างๆ ครอบคลุมเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2560 โดยรายงานในส่วนของไทยนั้น มีความยาว 44 หน้า อ้างอิงข้อมูลของทางไทย ระหว่างเดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 2560

รายงานระบุว่า คนไทยยังถูกละเมิดสิทธิรุนแรงในรัฐบาลชุดปัจจุบัน รวมถึง การที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังเกินกว่าเหตุ มีการคุกคาม หรือข่มเหงผู้ต้องหาคดีอาญา ผู้ถูกคุมขัง และนักโทษผู้ต้องขัง

นอกจากนี้ ยังพบกรณีที่ทางการจับกุม และคุมขังประชาชนตามใจชอบ เช่น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงข่มเหงกลุ่มผู้ที่มีความเห็นแตกต่างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาการทุจริต การหาประโยชน์ทางเพศกับเด็ก และการค้ามนุษย์

รายงาน ยังชี้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย ยังมีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อ ผู้ต้องสงสัย ผู้กระทำผิด หรือเกี่ยวข้องกับการวิสามัญฆาตกรรม โดยอ้างข้อมูลจากสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ระบุว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559- กันยายน 2560 เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง รวมถึง ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยระหว่างการจับกุมไป 16 ราย เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากตัวเลขในปีก่อนหน้านี้

สหรัฐระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา คสช.มักคุมตัวผู้ที่แสดงความคิดเห็นต่างทางการเมือง โดยข้อมูลจนถึงเดือนสิงหาคม 2560 กรมราชทัณฑ์รายงานว่ามีผู้ถูกจำคุกหรือควบคุมตัวในความผิดฐานหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพ 135 คน องค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายแห่งระบุว่าการดำเนินคดี กับบุคคลเหล่านี้มักมีมูลเหตุมาจากเรื่องการเมือง

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/ 2558 กำหนดให้ทหารมีอำนาจตรวจค้น ยึด และควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน โดยไม่ต้องมีหมายของศาล การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นลักษณะเดียวกับการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน  ส่งผลให้ที่ผ่านมาพบกรณีทหารใช้อำนาจดังกล่าวคุกคามบุคคลที่แสดงความเห็นตรงข้ามกับ คสช.หรือสมาชิกครอบครัวของบุคคลนั้น

นอกจากนี้ ทางการยังเฝ้าติดตามและตรวจสอบผู้เห็นต่าง รวมถึงชาวต่างชาติ โดยเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว รัฐบาลได้ออกประกาศห้ามประชาชนติดต่อ หรือเผยแพร่ข้อความทางสื่อสังคมออนไลน์ จากบุคคลต้องห้าม 3 คน ซึ่งเขียนวิจารณ์ประเทศไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์บ่อยครั้ง

รายงานระบุว่า ทางการไทยใช้กฎหมาย เป็นเครื่องมือเอาผิดผู้ที่วิจารณ์สถาบันอย่างต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาองค์กรสื่ออิสระจะยังดำเนินงานอยู่ได้ แต่ต้องเผชิญอุปสรรคในการทำงานอย่างอิสระ ผู้คนในแวดวงสื่อหลายรายแสดงความวิตกกังวลว่าคำสั่งของ คสช.จะจำกัดเสรีภาพสื่อ และสั่งระงับการทำงานของสื่อโดยไม่มีหมายศาล

ขณะเดียว กันก็กังวลเรื่องที่ทางการเข้าไปจำกัดหรือ ขัดขวางการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างเสรี รวมถึงการเซ็นเซอร์เนื้อหาต่างๆ ทางออนไลน์ด้วย

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight