Economics

‘กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ’ โร่แจงประมูล ‘บงกช-เอราวัณ’

“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” โร่แจงกรณี “ปตท.สผ.” ชนะประมูลแหล่ง “บงกช-เอราวัณ” ยันทั้งหมดอยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รายงานว่า ภายหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 50/2561 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แปลงเอราวัณ) และ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/61 (แปลงบงกช)

483791

โดยกระทรวงพลังงานได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ในข้อเสนอหลักที่ประกอบด้วย

  • ราคาก๊าซธรรมชาติตลอดอายุสัญญาตามสูตรราคาที่กำหนดในเอกสารเชิญชวน
  • ส่วนแบ่งกำไรของผู้รับสัญญา
  • โบนัสและผลประโยชน์พิเศษ
  • สัดส่วนการจ้างพนักงานไทย

ซึ่ง บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ที่เป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ ได้ยื่นข้อเสนอค่าคงที่ราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ 116 บาท/ล้านบีทียู สำหรับทั้งสองแปลง เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบัน ที่ 165 บาท/ล้านบีทียู สำหรับแปลงเอราวัณ และ 214.26 บาท/ล้านบีทียู สำหรับแปลงบงกช

หากนำข้อเสนอมาเทียบส่วนลดค่าใช้จ่ายราคาก๊าซธรรมชาติให้กับประเทศ เท่ากับ 550,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี ตามเงื่อนไขการผลิตขั้นต่ำ หรือปีละ 55,000 ล้านบาท และหากนำส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติที่ได้จากทั้ง 2 แปลง มาใช้ลดค่าใช้จ่ายผลิตไฟฟ้าทั้งหมด จะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 29 สตางค์ต่อหน่วย ไปอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 10 ปี

แหล่งบงกช

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ไทยใช้เพียง 58% ของก๊าซธรรมชาติทั้งหมด เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงประมาณการได้ว่า หากเฉลี่ยส่วนลดให้ผู้ใช้ก๊าซทุกรายตามสัดส่วนการใช้จะประหยัดไฟฟ้าได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย

ในด้านข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ผู้ชนะการประมูลยังได้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐมากกว่า 50% โดยข้อเสนอดังกล่าวมากกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารเชิญชวน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาท รวมถึงยังสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้ง 2 แปลง ได้ต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ซึ่งจะสามารถสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้กับประเทศ เพื่อเป็นรากฐาน ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ การพัฒนาทั้ง 2 แปลงนี้ ในช่วงระยะเวลา 10 ปีแรกของสัญญาแบ่งปันผลผลิต คาดว่า สามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และ ส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไร ที่เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติ ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทย ในสัดส่วน 98% และยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท รวมทั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท

เอราวัณ ๑๘๑๒๐๒ 0009

ทั้งนี้ ในส่วนของการให้หน่วยงานรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน 25% นั้น เนื่องจากบริษัทที่ชนะการประมูลของทั้ง 2 แปลง คือบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ในส่วนของข้อเสนอดังกล่าวบริษัทที่ชนะการประมูลจึงเข้าเงื่อนไขด้านการเข้าร่วมของหน่วยงานรัฐ โดยแปลง G1/61 (แปลงเอราวัณ) ในสัดส่วน 60% และ แปลง G2/61 (แปลงบงกช) ในสัดส่วน 100% ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยทั้ง 2 แปลง อยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ”

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK