Economics

‘ซีพี’ลอยลำคว้า ‘ไฮสปีดเทรน’ 1.2 แสนล้าน

การรถไฟฯ ลั่น ‘CP’ ยื่นข้อเสนอดีสุด จ่อคว้าประมูล ‘ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน’ รอเคลียร์ตัวเลขสัปดาห์หน้า หากผ่าน “ลอยลำ”เจรจารัฐบาล ส่วน BTS ยังไม่หมดหวัง นั่งตัวสำรอง

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง วงเงินลงทุน 224,544.36 ล้านบาท วันนี้ (14 ธ.ค.) ว่า

กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ที่มีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (CP) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นผู้ยื่นข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการเงิน ดีที่สุดในการประมูลครั้งนี้

ซีพี ไฮสปีดเทรน
วรวุฒิ มาลา

โดยกลุ่ม CP ยื่นขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลน้อยที่สุด จากวงเงินเต็ม 1.19 แสนล้านบาท และต่ำกว่ากิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ที่มี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เป็นแกนนำ

แต่ข้อเสนอของกลุ่ม CP ยังมีบางจุดที่ไม่ชัดเจน วันนี้ (14 ธ.ค.) คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงเรียกกลุ่ม CP มาชี้แจงความสอดคล้องของเอกสาร 8 ด้านในซองข้อเสนอด้านการเงินเพิ่มเติม

แต่กลุ่ม CP มีพันธมิตรเป็น China Railway Construction Corporation Limited (CRCC) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย ทางกลุ่ม CP จึงขอเวลาหารือและสอบถามข้อมูลจากพันธมิตรต่างชาติก่อน โดย CP จะส่งข้อมูลเพิ่มเติมและนัดชี้แจงในสัปดาห์หน้าไม่เกินวันที่ 21 ธันวาคม 2561 แต่ถ้าหากข้อมูลพร้อม ก็อาจจะนัดประชุมเร็วกว่านั้น

ด้านกลุ่ม BTS เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสูงกว่า 1.19 แสนล้านบาท แต่ยังไม่พบปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูล คณะกรรมการฯ จึงยังไม่ได้เรียกกลุ่ม BTS เข้าหารือ

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า ถ้าหากผู้เข้าประมูลทั้ง 2 ราย สามารถแสดงความเชื่อมโยงและความชัดเจนของข้อมูลทั้งหมด ก็จะผ่านข้อเสนอซองที่ 3 ทั้งคู่

สำหรับ BTS ซึ่งเสนอราคามากกว่าเพดานการอุดหนุน 1.19 แสนล้านบาท ก็สามารถผ่านการพิจารณาซองที่ 3 ได้ เพราะถ้าหากให้ผู้เสนอขอรับวงเงินอุดหนุนเกิน 1.19 แสนล้านบาทสอบตกในซองที่ 3 และรัฐบาลเจรจากับเอกชนที่ขอรับเงินอุดหนุนต่ำกว่า 1.19 แสนล้านบาทไม่สำเร็จ ก็เท่ากับจะต้องล้มประมูลและร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) ใหม่ทั้งหมด

ทั้งนี้ เมื่อทราบผลข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการเงินแล้ว คณะกรรมการฯ จะเรียกผู้ที่เสนอขอวงเงินอุดหนุนต่ำกว่ามาเปิดข้อเสนอพิเศษซองที่ 4 และเจรจาการลงทุนกับรัฐบาลก่อน ใช้เวลาเจรจาประมาณ 2 สัปดาห์ โดยข้อเสนอซองที่ 4 เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ ไม่มีผลต่อผลการประมูล

โดยหากเจรจากับผู้เสนอราคาต่ำกว่าสำเร็จ เอกชนรายนั้นก็จะเป็นผู้ชนะ แต่ถ้าหากเจรจากับผู้เสนอราคาต่ำสุดไม่สำเร็จ ก็จะเรียกเอกชนอีกรายมาเปิดข้อเสนอซองที่ 4 และเจรจาเป็นรายถัดไป โดยเชื่อว่าการพิจารณาข้อเสนอในการประมูลทั้งหมด ยังเป็นไปตามกรอบเวลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรการคัดเลือกฯ ในวันนี้ (14 ธ.ค.) เริ่มตั้งแต่เวลา 11.00 น. และเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 19.50 น. หรือรวมแล้วประมา 9 ชั่วโมง

Avatar photo