Economics

‘พาณิชย์’ ปรับแก้กม.บริษัทมหาชนคาดบังคับใช้ปี 62

“พาณิชย์” ปรับแก้กฎหมายบริษัทมหาชน เน้นใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยบริหารจัดการ หวังอำนวยความสะดวก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่…) พ.ศ…. ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยหัวใจหลักของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย คือ การอำนวยความสะดวก เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทมหาชนจำกัด กรรมการ และผู้ถือหุ้นในบริษัทมหาชนจำกัดในการดำเนินการต่าง ๆ โดยเพิ่มช่องทางผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์
ภาพจาก www.dbd.go.th

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขฯ ฉบับนี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ 1.เพิ่มช่องทางการโฆษณา การส่งเอกสาร การประชุมกรรมการ และการมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนให้สามารถดำเนินการทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ ประกอบด้วย มาตรา 6 การเพิ่มช่องทางโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์นอกจากทางหนังสือพิมพ์ มาตรา 7 เพิ่มช่องทางการส่งเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาตรา 79 เพิ่มช่องทางการประชุมกรรมการให้สามารถประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ เพิ่มมาตรา 102/1 เพิ่มช่องทางการมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-proxy) และ 2. ปรับปรุงวิธีการเรียกประชุมกรรมการ ในกรณีที่บริษัทไม่มีประธานกรรมการหรือประธานกรรมการไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ และไม่มีการกำหนดวันประชุมคณะกรรมการไว้ล่วงหน้า โดยให้กรรมการ 2 คน ที่ร้องขอสามารถเรียกประชุมกรรมการได้ ตามมาตรา 81 และ มาตรา 82 นอกจากนี้ ยังแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายให้ออกประกาศได้ เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ได้แก้ไขปรับปรุง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ส่วนขั้นตอนต่อไปสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะส่งร่างกฎหมายฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและไม่ต้องส่งเข้า ครม. แต่ให้ส่งไปยังคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณานำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา 3 วาระก่อนตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป คาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับประมาณกลางปี 2562

ปัจจุบันบริษัทมหาชนจำกัดดำเนินธุรกิจ 1,218 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17 ของจำนวนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งหมด (นิติบุคคลคงอยู่ 714,478 ราย) ทุนจดทะเบียนรวม 5.15 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.98 ของทุนจดทะเบียนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งหมด (ทุนจดทะเบียนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งหมด 17.77 ล้านล้านบาท)

Avatar photo