Economics

จี้เปิดมอเตอร์เวย์ ‘พัทยา-มาบตาพุด’ ให้ทันสงกรานต์ 63

กรมทางหลวงเจรจาผู้รับเหมา เร่งเปิด “มอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด” ให้ทันสงกรานต์ปี 63 ด้านการก่อสร้างที่พักริมทางยังติดล็อก ต้องออกกฎกระทรวงก่อนถึงเปิดประมูลได้

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 31.159 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 20,200 ล้านบาท ได้แบ่งงานโยธาเป็น 13 สัญญา ปัจจุบันงานโยธามีความคืบหน้ากว่า 90% และงานติดตั้งระบบมีความคืบหน้าราว 10%

โดยกรมทางหลวงอยู่ระหว่างหารือกับกิจการร่วมค้าทริปเปิ้ล เอส.เอฟ.  ให้เร่งรัดการติดตั้งงานระบบให้แล้วเสร็จเร็วขึ้น จากเดือนสิงหาคม 2563 ตามสัญญา เป็นช่วงสงกรานต์หรือเดือนเมษายน 2563 ขณะเดียวกันตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดให้บริการด่านอู่ตะเภาก่อนเป็นด่านแรก เพราะเป็นด่านที่มีความสำคัญและส่งผลต่อการระบายรถยนต์อย่างมาก

“มอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด มี 3 ด่าน คือ ด่านห้วยใหญ่ ด่านเขาชีโอน และด่านอู่ตะเภา โดยกรมทางหลวงตั้งเป้าจะเปิดด่านอู่ตะเภาให้ได้ก่อน ประมาณช่วงต้นปี 2563 เพราะด่านนี้มีความสำคัญ สามารถเชื่อมต่อไปยังสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือมาบตาพุด ช่วยสนับสนุนนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล” แหล่งข่าวกล่าว

มอเตอร์เวย์ พัทยา มาบตาพุด 4

ทั้งนี้ มอเตอร์เวย์ ช่วงพัทยา-มาบตาพุด จะทดลองให้ประชาชนใช้บริการฟรีก่อนประมาณ 3-6 เดือน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างความคุ้นเคยให้ประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายปกติของกรมทางหลวง จากนั้นกรมทางหลวงจึงจะประกาศอัตราค่าผ่านทางต่อไป

สำหรับการก่อสร้างจุดพักรถและที่พักริมทางตามแนวมอเตอร์เวย์ ช่วงพัทยา-มาบตาพุดและมอเตอร์เวย์สายอื่นๆ นั้น ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า เพราะกรมทางหลวงและปสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องแก้ไขข้อความและร่างกฎกระทรวงเพื่อรองรับก่อน จากนั้นจึงสามารถเปิดประมูลแบบรัฐเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ต่อไป

มอเตอร์เวย์ พัทยา มาบตาพุด

ทั้งนี้ กรมทางหลวงตั้งเป้าหมายจะเปิดประมูลจุดพักรถและที่พักริมทาง มอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุดให้ได้ภายในปี 2562 เพื่อให้เปิดบริการพร้อมกับด่านอู่ตะเภาในต้นปี 2563  เพราะผู้ชนะการประมูลจะต้องใช้เวลาก่อสร้างจุดพักรถอีกประมาณ 1 ปี จึงจะเปิดให้บริการได้

รายงานว่าจากกรมทางหลวงเปิดเผยว่า โครงการมอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด เป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออก จึงนับเป็นเส้นทางสายหลักที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งในภาคธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว ด้วยแนวเส้นทางที่สามารถรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าในภาคตะวันออกไปยังทั่วทุกภูมิภาค เชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการขนส่งทางรถไฟ และการขนส่งทางอากาศที่สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินอู่ตะเภา

Avatar photo