Media

‘อาร์เอส’ขอโตก้าวกระโดด ปีหน้าลุยร่วมทุนดันรายได้ 5 พันล้านสูงสุดรอบ 37 ปี

หลังจากแตกไลน์ธุรกิจสื่อ ก้าวสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ ผลิตและจำหน่ายสินค้าสุขภาพและความงาม (เฮลท์แอนด์บิวตี้) ในปี 2558  โดยใช้แพลตฟอร์มสื่อทีวีดิจิทัล “ช่อง 8” ต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ ด้วยเห็นโอกาสสร้างรายได้ จากอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 70% และกำไรสุทธิ 30% ทำให้วันนี้โครงสร้างรายได้ “อาร์เอส” เปลี่ยนจากธุรกิจสื่อสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์เต็มตัว!!

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปีนี้สัดส่วนรายได้อาร์เอส มาจากธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง (Multi-platform Commerce หรือ MPC ที่ประกอบไปด้วย  SHOP 1781  ทั้งหน้าจอช่อง 8 และสื่อออนไลน์  ธุรกิจขายตรง และการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางค้าปลีก  มีสัดส่วนรายได้ 55% ของบริษัทสูงกว่าธุรกิจสื่อที่ดำเนินการมากว่า 30 ปี

อาร์เอส
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาการทำธุรกิจต่างๆ ต้องเรียกว่า “ไม่ง่าย”  แต่กลุ่มอาร์เอส มีการปรับตัวและพยายามปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้องค์กร  หลังจากใช้เวลา 3 ปี ปรับโครงสร้าง และทรานส์ฟอร์มธุรกิจจากสื่อสู่กิจการเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันถือว่าทำได้ประสบความสำเร็จ โดยมีการเรียนรู้ ปรับปรุง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ปี 2562 รายได้ของอาร์เอส จะมาจากจาก 3 กลุ่มหลัก คือ  MPC ธุรกิจพาณิชย์และค้าปลีก  สัดส่วน  60%  สื่อ  30%  เพลงและอีเวนท์ 10%  ปีหน้าถือเป็นปีสำคัญ เป็นปีที่เข้าสู่การทำธุรกิจยุคใหม่ของ “อาร์เอส” ที่ก้าวสู่บริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพาณิชย์และค้าปลีกเต็มรูปแบบ  โดยมีธุรกิจสื่อและบันเทิงเป็นแพลตฟอร์มของตัวเอง และเป็นธุรกิจรอง สนับสนุนธุรกิจเชิงพาณิชย์อย่างมีประสิทธิภาพ

“เรายังใช้กลยุทธ์เชิงรุกด้วยความรอบคอบ  เพราะหลายคนมองว่าธุรกิจข้างหน้าอาจยังไม่สดใส  จากผลกระทบเรื่องสงครามการค้า นักท่องเที่ยวจีน แต่เป็นสิ่งที่ อาร์เอส ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นธุรกิจทำตลาดในประเทศ 100% อารเอส ทำธุรกิจบน อีโคซิสเต็มส์ ของบริษัทเอง”

เดินหน้า M&A-JV ธุรกิจเชิงพาณิชย์

กลยุทธ์ในปี 2562 คือ สร้างการเติบโตในแต่ละกลุ่มธุรกิจที่ยังขยายตัวได้อีกหลายปีต่อเนื่อง โดยเฉพาะ MPC ที่เห็นโอกาสอีกมาก และถือเป็นอีกปีสำคัญของอาร์เอสในรอบ 37 ปีของการทำธุรกิจที่เติบโตแบบออร์แกนิกบนธุรกิจของตัวเองตลอด แต่จากปี 2562 เป็นต้นไปกลยุทธ์การเติบโตที่วางเป้าหมายไว้ จะมาจากการเปิดกว้างหาพันธมิตร เพื่อต่อจิ๊กซอว์ ขยายฐานสนับสนุนโครงสร้างธุรกิจของอาร์เอสให้แข็งแรง  โดยมองโอกาสการทำ M&A และ joint venture (JV) ที่ถือเป็นก้าวสำคัญของอาร์เอส

ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ คือ MPC ,สื่อ และเพลง เปิดกว้างที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเชิงพาณิชย์ ที่ปัจจุบันบริษัทจ้างผลิต OEM แบรนด์สินค้าของตัวเอง  แต่ปีหน้าจะเห็นการร่วมทุนเพื่อเดินหน้าขยายธุรกิจ ด้วยการตั้งโรงงานผลิตของตัวเอง ขณะนี้กำลังเจรจากับพันธมิตรหลายดีล ปีหน้าจะเห็นดีล M&A และ JV แน่นอน

อาร์เอส

วางเป้ารายได้ 5พันล้าน

ในปี 2562 อาร์เอส ได้วางเป้าหมายก้าวสู่ยุคใหม่ของการดำเนินธุรกิจใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ ชูแนวคิด Horizontal Integration สร้างการเติบโตแนวราบ เพื่อเปิดโอกาสตัวเองทำธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าสนใจ ยิ่งกว่านั้นได้กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานแบบ Diversification กระจายธุรกิจสร้างความหลากหลายและแตกต่างจากธุรกิจเดิม มีการนำความแข็งแกร่งของบิซิเนส โมเดล ธุรกิจ MPC มาซีเนอจี้กับธุรกิจสื่อ และธุรกิจเพลง มุ่งเจาะกลุ่มคนดูและแฟนเพลงเปลี่ยนเป็นฐานลูกค้า (Database)

ปัจจุบันธุรกิจเชิงพาณิชย์บนช่องทางทีวีดิจิทัล  ช่อง 8  ซึ่งมีเรตติ้งอันดับ 6 ของอุตสาหกรรม โดยมีฐานผู้ชม 13 ล้านคนต่อวัน หรือเฉลี่ย 3.7 แสนคนต่อวัน  กลุ่มผู้ชมดังกล่าวกลายมาเป็นฐานลูกค้าธุรกิจเชิงพาณิชย์กว่า 1.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 2.8-3.5 หมื่นราย  คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน  โดยมีกลุ่มลูกค้าแอคทีฟ 60-70%  ยอดซื้อต่อบิลอยู่ที่ 2,000 บาทต่อครั้ง

นอกจากนี้ได้ขยายฐานพนักงานเทเลเซลส์ จาก 3 ปีก่อนที่มีเพียง 30 คน ปัจจุบันมีจำนวน 500 คน และพนักงานขายตรง “ไลฟ์สตาร์ บิส” ที่เปิดรับช่วงต้นปีนี้ ที่มีจำนวน 1,000 คน จะเพิ่มเป็น 1,500 คนในปีหน้า

เชื่อว่าปีหน้าจะเป็นอีกหนึ่งปีทองของอาร์เอส ที่จะสร้างรายได้รวมทั้งกลุ่มเติบโตก้าวกระโดดแตะ 5,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 37 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท

อาร์เอส

สำหรับกลยุทธ์ในปีหน้าของธุรกิจ MPC  จะจัดบิ๊กแคมเปญส่งเสริมการขายกระตุ้นยอดซื้อตลอดทั้งปีแล้ว รวมทั้งเปิดตัวสินค้าใหม่กว่า 100 รายการ จากการจับมือกับแล็บชั้นนำระดับโลกผลิตสินค้านวัตกรรม ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมไปถึงการจับมือกับคู่ค้าเดิมจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันธุรกิจ MPC มีสินค้ากว่า 100 รายการ แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม  80% ได้แก่ กลุ่มดูแลผิวภายใต้แบรนด์มาจีค (Magique), กลุ่มดูแลผมภายใต้แบรนด์รีไวฟ์ (Revive) และกลุ่มอาหารเสริมภายใต้แบรนด์ (S.O.M) ตามด้วยกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านและไลฟ์สไตล์ (Home&Lifestyle) 15% และกลุ่มเครื่องประดับ (Accessories) และอื่นๆ 5%

แพลตฟอร์มจัดจำหน่ายสินค้าได้แก่ ทีวีดิจิทัล ช่อง 8, ทีวีดาวเทียม ช่อง 2,สบายดีทีวี หมายเลข 141, ช่องเพลินทีวี และวิทยุคูลฟาเรนไฮต์ ตามด้วยแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์อย่าง www.shop1781.com, LINE@shop1781 ช้อปทันที , LINE@COOLanything  และช่องทางร้านค้าปลีกทั่วประเทศ อย่างวัตสัน, ท็อป มาร์เก็ต, ไวตามินคลับ และเฮลท์ อัพ

อาร์เอส ช่อง 8

“ช่อง 8”รายได้ 1.5 พันล้าน

ด้านธุรกิจมีเดีย ทีวีดิจิทัล “ช่อง 8” ถือเป็นเรือธงในกลุ่มนี้ ปีหน้าคาดว่าจะมีรายได้จากโฆษณา 1,500 ล้านบาท  โดยใช้กลยุทธ์นำเสนอคอนเทนท์ใหม่ระดับพรีเมียมทั้งในและต่างประเทศลงจอตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นละครไทย ซีรีส์อินเดีย ข่าว วาไรตี้ มวย  เจาะกลุ่มแมส 35 ปีขึ้นไป ทำให้มั่นใจว่าจะครองเรตติ้งเกาะกลุ่มผู้นำทีวีเมืองไทยต่อเนื่อง เพื่อรักษาฐานผู้ชมทั่วประเทศ

จากแนวทางการปรัปบโครงสร้างอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วยการนำคลื่นความถี่ 700 MHz  ไปประมูล 5จี  และนำเงินมาชดเชยให้กับทีวีดิจิทัล ซึ่งใช้คลื่นความถี่ 700 MHz  ถือว่าส่งผลดีต่อภาพรวม และช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนค่าเช่าโครงข่าย (Mux) และโครงข่ายมัสต์แคร์รีส่งสัญญาณระบบดาวเทียม

“การช่วยเหลือของ กสทช. ถือว่าช่วยแบ่งเบารายได้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะทำให้ทุกรายอยู่รอดได้  เพราะการแข่งขันยังอยู่ที่คอนเทนท์ที่จะดึงดูดผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณา”

ด้านด้านธุรกิจเพลงและอีเวนท์ ปี 2562 คาดว่าจะมีรายได้  250 ล้านบาท  ส่วนธุรกิจวิทยุ “คูลฟาเรนไฮต์” ยังเติบโตสวนกระแสภาพรวมธุรกิจสื่อวิทยุ เพราะมีแผนเพิ่มมูลค่าให้ผู้ซื้อเวลาโฆษณา ด้วยการขยายฐานผู้ฟังช่องทางออนไลน์เจาะกลุ่ม GEN C

Avatar photo