Business

ช.การช่างลุยก่อสร้างไฮเทค ‘BIM’ นำร่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม

“ไทยแลนด์ 4.0” เป็นบริบทสำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้าไปเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน และปฏิรูปในทุกอุตสาหกรรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนพลิกโฉมอุตสาหกรรมในหลายวงการ “อุตสาหกรรมก่อสร้าง” ก็เช่นเดียวกัน ในภาพรวมทั่วโลก เป็นอุตสาหกรรมที่ยังมีโอกาสให้เทคโนโลยี-นวัตกรรมเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนได้อีกมาก

“ช.การช่าง” ในฐานะผู้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย เล็งเห็นโอกาสนี้จึงนำเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้างด้วยระบบ BIM (Building Information Modeling) หรือ ระบบการทำงานแบบจำลองสารสนเทศอาคาร ที่ช่วยออกแบบงานโครงสร้างและประสานการทำงานในส่วนต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ มาใช้ในโครงการ ทำให้การดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และลดต้นทุนในการดำเนินงาน โดยประเดิมเทคโนโลยีนี้ กับการก่อสร้าง “โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม” เป็นโครงการแรก

คุณสุภามาส ตรีวิศวเวทย์
สุภามาส ตรีวิศวเวทย์

ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม เป็นแกนหลักของธุรกิจ ทำให้ในการทำงานแต่ละโครงการ มีขั้นตอนที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย เพื่อให้การบริหารและดำเนินการในส่วนต่างๆ เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด บริษัทจึงทั้งสรรหาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาขั้นตอนการทำงานเหล่านี้อยู่เสมอ

โดยก่อนหน้านี้ ช.การช่างประสบความสำเร็จ จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป.ลาว ที่ใช้คอนกรีตทั้งโครงการกว่า 4.3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยนำฝุ่นหินละเอียดจากการโม่หินเพื่อผลิตทราย ซึ่งตามมาตรฐานทั่วไปนั้นต้องล้างทิ้ง มาศึกษาและทดลองปรับส่วนผสมจนสามารถนำฝุ่นหินและทราย โม่มาใช้ทดแทนทรายแม่น้ำ ซึ่งมีปริมาณไม่เพียงพอได้ ทำให้ลดการใช้ทรายแม่น้ำลงได้ถึง 80%

ตัวอย่างจำลองการก่อสร้าง รฟฟ.สายสีส้ม
ตัวอย่างจำลองการก่อสร้าง รฟฟ.สายสีส้ม

นอกจากนี้ยังลดการใช้น้ำ ลดมลภาวะจากการล้างฝุ่นหิน รวมถึงประหยัดพลังงานและเวลาในการเตรียมวัสดุจนได้รับรางวัล TCA Practice Award: Silver Medal จากสมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกันกับการนำเทคโนโลยี BIM หรือ ระบบการทำงานแบบจำลองสารสนเทศอาคาร ซึ่งช.การช่าง ได้เล็งเห็นประโยชน์ของระบบดังกล่าว กับงานก่อสร้างโครงการ ที่จะพลิกโฉมงานก่อสร้าง ให้มีประสิทธิภาพในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแม่นยำในการออกแบบ และการทำแบบจำลองก่อสร้างเสมือนจริง เพื่อประสานงานในส่วนต่างๆ ตั้งแต่ออกแบบจนถึงการก่อสร้าง

ช.การช่าง จึงได้เริ่มศึกษาข้อมูลและเตรียมงานตั้งแต่ต้นปี 2560 เพื่อนำมาใช้เป็นครั้งแรก กับการออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม-ตะวันออก สัญญาที่ 1 (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-รามคำแหง12) และ สัญญาที่ 2 (ช่วงรามคำแหง12–หัวหมาก) จำนวน 3 สถานีจากทั้งหมด 7 สถานี เพื่อให้เจ้าของโครงการ รวมไปถึงผู้โดยสารทุกคนวางใจได้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีความมั่นคงปลอดภัยและจะแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ ระบบ Building Information Modelling หรือ BIM เป็นการออกแบบอาคารหรือโครงสร้างด้วยแบบจำลอง 3 มิติ พร้อมกับมีข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใน เช่น ขนาด สเปคและราคาวัสดุ จำนวนการใช้งานจริง การทำงานจะสร้างแบบจำลองเสมือนจริงในคอมพิวเตอร์ โดยผู้ที่ออกแบบทุกฝ่าย ทั้งงานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบ สามารถทำงานบนโมเดลเดียวกันได้ ทำให้ประสานงานระหว่างทีมออกแบบ และบริหารต้นทุนโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณวัชระ แสงหัตถวัฒนา
วัชระ แสงหัตถวัฒนา

นายวัชระ แสงหัตถวัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิศวกรรม บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลักดันการใช้เทคโนโลยี BIM ในช.การช่าง กล่าวว่า ช่วง 4-5 ปีทีผ่านมา เทคโนโลยี BIM ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อใช้ออกแบบและจำลองอาคารสูง

ส่วนอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานในเมืองไทย เพิ่งเริ่มมีการตื่นตัวใช้ BIM อย่างกว้างขวางในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยสภาวิศวกร สภาสถาปนิก และวิศวกรรมสถานแห่งชาติ ได้เข้ามาให้การสนับสนุนด้วยการออก BIM Guide ฉบับแรก เพื่อเป็นคู่มือการใช้งานซอฟต์แวร์ดังกล่าว เมื่อปลายปี 2560 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่วงการก่อสร้างไทย จะได้นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแพร่หลายในอนาคต

การออกแบบโมเดล 3 มิติ มีความเที่ยงตรง และเห็นภาพโครงสร้างจริง รวมถึงปัญหาที่อาจจะเกิดในการก่อสร้างได้ชัดเจน มากกว่าทำงานด้วยแบบ 2 มิติแบบเดิมๆ ซึ่งต้องทำเป็นรูปด้าน รูปตัดประกอบกันหลายแผ่นจึงจะเห็นภาพ ในแบบ 2 มิติก็จะเป็นเพียงการเขียนชิ้นงานที่เป็นเส้น ไม่สัมพันธ์กัน ส่วนข้อมูลที่แสดงก็จะเป็นเพียงสี ความหนาเส้น เส้นประ หากต้องการแก้จุดใดจุดหนึ่ง จะต้องแก้แบบแผ่นอื่นๆ ที่ต่อเนื่องกันตามไปด้วย ทำให้การประสานงานจะมองเห็นเพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานที่กำลังเขียนอยู่เท่านั้น

ต่างจากการเขียนแบบด้วยโมเดล 3 มิติ ที่สามารถแก้จุดเดียวแล้วแบบแผ่นอื่นๆ จะปรับแก้ตามอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถตรวจจับโครงสร้างที่ชนกัน (Clash Check) ระหว่างทีมเขียนแบบได้อีกด้วย ซึ่งทำให้ลดเวลาในการตรวจแบบลงมาก การประสานงานด้วยโมเดล 3 มิตินี้ มีความแม่นยำสูง ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบก่อนลงมือก่อสร้างจริง ทำให้ทุกฝ่ายออกแบบได้สอดคล้องกัน และลดการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งหน้างาน

ตัวอย่างจำลองก่อสร้างสำนักงานชั่วคราว
ตัวอย่างจำลองก่อสร้างสำนักงานชั่วคราว

ทั้งนี้ ภาพ 3 มิติ ยังทำให้ผู้ที่ไม่ชำนาญด้านการอ่านแบบ เช่น ผู้ปฏิบัติงานหน้างาน เจ้าของงาน สามารถมองเห็นภาพโครงการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

นายวัชระ กล่าวว่า นอกจากการนำเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานแล้วนั้น ช.การช่างก็มุ่งที่จะพัฒนาบุคลากร ให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน โดยได้คัดเลือกวิศวกร สถาปนิก และช่างเขียนแบบที่มีความสามารถไปฝึกอบรมการใช้โปรแกรมกับสถาบันตัวแทน Autodesk เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และโครงการอื่นๆ ในอนาคต

ทั้งยังได้ปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมโครงข่ายการทำงานในฝ่ายวิศวกรรม เพื่อให้รองรับการทำงานด้วย BIM บนโครงการคอมพิวเตอร์ของบริษัท โดยในอนาคต ช.การช่าง ยังตั้งเป้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยี BIM ให้สามารถวิเคราะห์การใช้พลังงาน และการบำรุงรักษาโครงสร้างส่วนต่างๆ (Facility Management) ของโครงการด้วย

“การพัฒนาเทคโนโลยีขององค์กรนั้น ส่วนท้าทายที่สุดไม่ได้อยู่ที่ตัวเทคโนโลยี เพราะผมเชื่อว่าเทคโนโลยีถูกสร้างมาเพื่อการใช้งานที่สะดวกและง่ายดาย แต่กลับอยู่ที่ คน ซึ่งทัศนคติการเปิดใจและยอมรับที่จะเรียนรู้แนวทางการทำงานใหม่ๆ จากเทคโนโลยีถือเป็นเรื่องสำคัญ” นายวัชระกล่าว

Avatar photo