Economics

ลุ้น!! ซีพีฮุบ ‘ไฮสปีดเทรน’ แสนล้าน

อีกเพียงอึดใจก็จะรู้แล้วว่า ระหว่าง  “บีทีเอส VS ซีพี” ใครจะเป็นผู้คว้าชัยในศึกชิง  “รถไฟความเร็วสูง” (High-Speed Train) ครั้งแรกของประเทศไทย โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้นัดผู้ท้าชิงทั้ง 2 ฝ่าย มาร่วมเปิดข้อเสนอซองที่ 3 ด้านราคา ในวันนี้ (11 ธ.ค.) เวลา 14.00 น. ณ อาคารบัญชาการ การรถไฟฯ

S 72826919

กติกา คือ เอกชนที่ขอรับเงินอุดหนุนในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา จากรัฐบาลน้อยที่สุด จากวงเงินเต็ม 1.19 แสนล้านบาท จะเป็นผู้ชนะการประมูล ถ้าหากไม่มีเอกสารผิดพลาดหรือเกิดเรื่องพลิกโผ ก็เรียกได้ว่ามีโอกาส 100% ที่คว้าเมกะโปรเจคนี้ไปนอนกอดนาน 50 ปี

การเปิดซองราคาในวันพรุ่งนี้ จึงเป็นเครื่องตัดสินว่า โมเดลธุรกิจของใครเจ๋งที่สุด รายไหนจะมีต้นทุนน้อยกว่า สร้างรายได้มากกว่า และที่สำคัญคือ ใครจะใจถึง ยอมหั่นราคามากกว่ากัน

แต่การแข่งขันโมเดลทางธุรกิจครั้งนี้ ไม่ได้โฟกัสที่การก่อสร้างและบริหารรถไฟความเร็วสูงเท่านั้น เพราะสัมปทานฉบับนี้ยังรวมถึงการพัฒนาที่ดินมักกะสันขนาด 150 ไร่และพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานีศรีราชา 25 ไร่ อีกทั้งสิทธิ์ในการบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จะสร้างรายได้และกำไร มาชดเชยการลงทุนรถไฟความเร็วสูงที่แพงลิบลิ่วซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะคุ้มทุน

ซีพีผนึกพันธมิตรตัวท็อป

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) แม้จะไม่มีประสบการณ์ด้านระบบขนส่งมวลชนโดยตรงมาก่อน แต่ซีพีก็สามารถกวาดพันธมิตรแถวหน้าของประเทศไทยและแถวหน้าของโลกมาเรียกความเชื่อมั่นในการประมูลครั้งนี้ได้อย่างเกรียวกราว

ซีพีเข้าประมูลในนาม “กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร” และถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 70% ด้านผู้ถือหุ้นหลักอันดับ 2 ในสัดส่วนรวมกัน 15% คือบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ผู้รับเหมาอันดับ 2 ของประเทศ และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้บริหารการเดินรถไฟฟ้า

ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชัน คอร์เปอเรชัน ลิมิเต็ด (ซีอาร์ซีซี) จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้ถือหุ้นหลักอันดับ 3 ในสัดส่วน 10% ซึ่งซีอาร์ซีซี  มีความเชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบรางและระบบอาณัติสัญญาณ สุดท้ายบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ผู้รับเหมาอันดับ 1 ของประเทศไทย เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 4 ด้วยสัดส่วน 5%

S 72826911

นอกจากนี้  ยังจับมือเป็นพันธมิตรกับ Ferrovie dello Stato Italiane (FS) จากประเทศอิตาลี ที่มีประสบการณ์ในการเดินรถไฟความเร็วสูงและบำรุงรักษาระบบรางในระดับโลกอีกด้วย โดยในปี 2560 FS ทำรายได้ 425,000 ล้านบาท สามารถทำกำไรได้อีกด้วย ซึ่งซีพีหวังจะใช้จุดแข็งจากพันธมิตรช่วยพลิกการลงทุนรถไฟความเร็วสูงให้คืนทุนและมีกำไรเร็วกว่าคาดการณ์

ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของซีพีก็ไม่น้อยหน้าใคร เพราะบริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP LAND ได้ดำเนินธุรกิจด้านนี้มามากกว่า 30 ปีและเคยพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาเกือบทุกรูปแบบ ซึ่งข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ชี้ว่า ในปี 2560 CP LAND โชว์ผลงานดีเยี่ยม มีรายได้รวม 3,054 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 1,067 ล้านบาท

รวมไปถึงการใช้โอกาสนี้เพิ่มมูลค่าของธุรกิจค้าปลีกที่อยู่ในมือได้ไม่ยาก และยังในอนาคตก็ยังสามารถเชื่อมโยงโครงการไฟความเร็วสูงกับเครือข่ายรถไฟฟ้าของ BEM ไม่ว่าจะเป็นสายสีน้ำเงินหรือสายสีม่วง เพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเดินรถ

ส่วน บีทีเอส จับมือพันธมิตรรายเดิม ที่เคยกอดคอกันคว้าชัยงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและชมพู ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ม.)

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสจับมือเป็นพันธมิตรไทยอีก 2 ราย โดยเข้าร่วมประมูลในนาม  “กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์” และถือหุ้นในสัดส่วน 60% ส่วนบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ผู้รับเหมาอันดับ 3 ของประเทศ ถือหุ้นในสัดส่วน 20% และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า ถือหุ้นในสัดส่วน 20%

นอกจากนี้  บีทีเอสยังมีธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในนามบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ U ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะโรงแรมและคอนโดมิเนียม โดยในปี 2560 U มีรายได้รวม 4,455 ล้านบาทและผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 1,049 ล้านบาท

S 72826916

แน่นอนว่า บีทีเอสยังสามารถใช้ประโยชน์จากเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทมีความถนัด โดยบีทีเอสอาจใช้โอกาสนี้เชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงและแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กับรถไฟฟ้าที่ได้รับสัมปทานทั้ง 3 สาย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีชมพู หรือสายสีเหลือง

การขยายเครือข่ายการเดินทาง ยังหมายถึงโอกาสในขยายธุรกิจกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ อย่างบัตรแรบบิท และธุรกิจโฆษณาที่อยู่ในมือด้วย

สำหรับการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ซึ่งหัวในใจการลงทุนครั้งนี้ บีทีเอสยังอุบไต๋เงียบ ไม่ยอมเปิดเผยพันธมิตรรายอื่นๆที่สนใจเข้าร่วมอีก แต่  “คีรี กาญจนพาสน์” บิ๊กบอสแห่งบีทีเอส ยังยืนยันเสียงแข็งว่า  “ตั้งใจและมั่นใจ” กับการประมูลครั้งนี้ พร้อมจะเคลียร์คิวไปร่วมเปิดซองราคาด้วยตัวเอง

วันนี้รู้ผล!

ถ้าหากเทียบชื่อชั้นในประเทศไทยแล้ว ก็เรียกว่าพันธมิตรของทั้ง 2 กลุ่มต่างสมน้ำสมเนื้อ แม้บางฝ่ายจะเชียร์ว่า CP มีภาษีดีกว่าในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และบางฝ่ายมองว่า BTS เหนือกว่า เพราะประสบการณ์ด้านบริหารโครงการระบบราง จึงต้องมาลุ้นการเปิดซองประมูลในวันนี้ว่า กองเชียร์ฝ่ายไหนจะเข้า Win?

เมื่อเปิดซองราคาแล้ว การรถไฟฯ จะต้องเป็นตัวแทนรัฐบาล เจรจากับเอกชนที่ยื่นขอรับเงินอุดหนุนน้อยที่สุด โดยมีกำหนดจะยื่นผลประมูลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลไม่เกินกลางเดือนมกราคมและลงนามสัญญาภายในวันที่ 31 มกราคม 2562

ผู้รับสัมปทานจะต้องลงทุนรถไฟความเร็วสูง พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ วงเงินรวม 2.2 แสนล้านบาท โดยตามเงื่อนไขการประมูลแล้ว (TOR) คาดว่าคนไทยจะได้ใช้รถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพฯ และจังหวัดระยอง ประมาณปี 2566 หรือไม่เกิน 5 ปี นับจากลงนามสัญญา

Avatar photo