Media

โครงข่ายทีวีดิจิทัลชง กสทช.จ่ายค่าเช่าแทน 10 ปี

ชมรมโครงข่ายทีวีดิจิทัล เตรียมเสนอ กสทช. นำเงินประมูลคลื่นฯ 700 MHz  อุดหนุน 4 หน่วยงานรัฐผู้ให้บริการ Mux ยาว 10 ปีจนจบอายุใบอนุญาต เปิดให้ทีวีดิจิทัลใช้ฟรี  ชี้ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน15-20%

หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ประกาศนโยบายปี 2562 ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เทคโนโลยี 5G พร้อมแก้ปัญหาโครงสร้างธุรกิจทีวีดิจิทัลระยะยาว ด้วยการนำคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ของกิจการทีวีดิจิทัล นำมาประมูลเพื่อใช้งานในกิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยี 5G  โดยจะทำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่น 700 MHz  มาจ่ายชดเชยทีวีดิจิทัล ที่ต้องย้ายคลื่นไปย่านความถี่ใหม่

โดย กสทช. ได้แต่งตั้ง อนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz (อนุกรรมการฯ) มาดำเนินการตามที่กฎหมาย มาตรา 27 (12/1) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) โดย “เรียกคืนคลื่นความถี่” จากผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล  ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่

thumbnail S 20365363

จากการหารือครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ของอนุกรรมการฯ ร่วมกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โครงข่ายส่งสัญญาณระบบดิจิทัล (MUX)  และผู้ประกอบการโทรคมนาคม “กลุ่มทีวีดิจิทัล” ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่ 700 MHz จนสิ้นสุดใบอนุญาตปี 2572 ได้ยื่นข้อเสนอให้มีการจ่ายค่าตอบแทนโดยการนำเงินส่วนหนึ่งจากการประมูลส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนฯ) จำนวนเท่ากับที่ กสทช. ได้เคยนำเงินจากการประมูลคลื่นความถี่โทรทัศน์ดิจิทัลส่งเป็นรายได้ของรัฐ  จากนั้นให้กองทุนฯ นำเงินมาสนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายฯ และค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่เหลืออีก 2 งวด มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท

ทีวีดิจิทัล กสทช. Mux
ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ชคท.)

โครงข่ายฯ ขอ กสทช.จ่ายค่าเช่าแทน 10 ปี

นายเขมทัตต์ พลเดช  กรรมการ ชมรมผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ชคท.)  หรือ Digital Television Network Provider Society (DNPS)  กล่าวว่าชมรมฯ มีสมาชิกเป็นหน่วยงานรัฐ  4 องค์กร คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5), กรมประชาสัมพันธ์, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และ อสมท

ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลระยะยาว ผู้ประกอบการโครงข่ายฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม  อีกทั้งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงคลื่นความถี่ในย่าน 700 MHz  ได้เสนอให้มีการชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนทางเทคนิคตามแผนคลื่นความถี่ใหม่ที่ของ กสทช. รวมถึงการชดใช้ค่าเสียโอกาสให้แก่บางรายที่ได้รับผลกระทบในการให้บริการ  เนื่องจากบริการโครงข่ายฯมีมากกว่าช่องทีวีดิจิทัล (โอเวอร์ ซัพพลาย)  ซึ่งมีการยุติบริการไปแล้ว 2 ช่องตั้งแต่ปีแรก ขณะที่ทีวีดิจิทัล ประเภทชุมชน และสาธารณะช่องใหม่ ยังไม่มีการให้ใบอนุญาตเพิ่มเติม

นับตั้งแต่ปี 2557 ที่เริ่มออกอากาศทีวีดิจิทัล  ผู้ประกอบการโครงข่ายฯ ทั้ง 4 รายได้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน  อุปกรณ์ส่งสัญญาณระบบดิจิทัลไปแล้วรายละ 1,000 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท

ในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลครั้งนี้   ชมรมฯ จะเสนอแนวทางให้อนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ และ กสทช. พิจารณาการชดเชยด้วยการกำหนดเป็นเงื่อนไขในการประมูลคลื่น 700 MHz  เพื่อให้นำเงินประมูลคลื่นฯดังกล่าว มาจ่ายค่าเช่าโครงข่ายฯ โดย กสทช. เป็นผู้ดูแลการจ่ายค่าเช่าโดยตรงกับผู้ให้บริการโครงข่ายฯ ตลอดอายุใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่เหลืออีก 10 ปี หรือถึงปี 2572  เพื่อให้ทีวีดิจิทัล ใช้บริการโครงข่ายฯ ฟรี ซึ่งจะใช้ช่วยลดต้นทุนลงได้ 15-20% ของค่าใช้จ่ายทีวีดิจิทัล

“โครงข่ายฯ เปรียบเป็น ถนน ที่ให้ รถยนต์ (ทีวีดิจิทัล) มาใช้ฟรี   โดย กสทช. หน่วยงานกำกับดูแลจะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด คาดว่าช่วง 10 ปี ที่เหลือต้องใช้งบประมาณค่าเช่าโครงข่ายฯราว 5,000-7,000 ล้านบาท เชื่อว่าด้วยมาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการทั้งช่องและโครงข่ายฯ อยู่รอดได้”

Avatar photo