Lifestyle

10 ธันวาคม ‘วันต่อต้านโรคมะเร็ง’ โหม ‘5 ทำ 5 ไม่’ ห่างไกลมะเร็ง

“มะเร็ง” เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยมาตั้งแต่ปี 2542 จากพฤติกรรมการกินอยู่ วิถีชีวิต สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป รวมถึงกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ไม่ปลอดภัย

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ จึงเห็นความสำคัญของโรคมะเร็งว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง แนะยึดหลัก “5 ทำ 5 ไม่” ห่างไกลมะเร็ง

มะเร็ง 6

นพ.สมศักดิ์  อรรฆศิลป์  อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า วันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปีเป็น “วันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติ” นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จมาเปิดสถาบันมะเร็งแห่งชาติ หน่วยงานของรัฐบาลในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ถือเอาวันนี้เป็นวันต่อต้านโรคมะเร็งแห่งชาติมาโดยตลอด นอกเหนือจากที่คนไทยทั้งชาติรู้ว่าวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปีคือวันรัฐธรรมนูญ

โดยมีสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค 7 แห่งทั่วประเทศของกรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานที่ให้บริการดูแลรักษาด้านโรคมะเร็งโดยเฉพาะ

สำหรับสถานการณ์โรคมะเร็ง สถิติพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 และข้อมูลล่าสุดจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า คนไทยมีผู้ป่วยรายใหม่วันละ 336 คน หรือ122,757 คนต่อปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 215 คน หรือ 78,540 คนต่อปี

ส่วนข้อมูลจากองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อการวิจัยโรคมะเร็งรายงานว่า อุบัติการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทย ในเพศหญิงพบว่าเป็นมะเร็ง 151 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และพบในเพศชาย 169.3คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน

ผอ.สถาบันมะเร็ง
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ  กล่าวเพิ่มเติมว่า  โรคมะเร็งที่พบมากในเพศชายไทย คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี ส่วนในเพศหญิงไทยโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด คือ โรคมะเร็งเต้านม แต่ถึงโรคมะเร็งจะเป็นโรคร้าย

แต่สามารถปฏิบัติตนเพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ด้วยการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง  แนะนำให้ประชาชนใช้หลักการ “5 ทำ 5 ไม่” ห่างไกลมะเร็ง

“5 ทำ” ประกอบด้วย

  1. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  2. ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด
  3. กินผักผลไม้
  4. กินอาหารหลากหลาย
  5. ตรวจร่างกายเป็นประจำ

 “5 ไม่” ประกอบด้วย

  1. ไม่สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่
  2. ไม่มั่วเซ็กซ์
  3. ไม่ดื่มสุรา
  4. ไม่ตากแดดจ้า
  5. ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ

 

ออกกำลังกาย

หากปฏิบัติตามหลักการนี้ สามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ 40 %  และมี “7 สัญญาณอันตราย” โรคมะเร็งที่แนะนำให้ประชาชนสำรวจตนเอง ได้แก่

  1. ระบบขับถ่าย ที่เปลี่ยนแปลงไป
  2. แผล ที่ไม่รู้จักหาย
  3. ร่างกาย มีก้อนตุ่ม
  4. กลุ้มใจเรื่องการ กินกลืนอาหาร
  5. ทวารทั้งหลาย มีเลือดไหล
  6. ไฝ หูด ที่เปลี่ยนไป
  7. ไอ และเสียงแหบ จนเรื้อรัง

ที่สำคัญคือ ควรรีบไปพบแพทย์ หากมีอาการเกิน 3 สัปดาห์ และควรมาตรวจสุขภาพเพื่อค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง

ปิยะสกล 3
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

สำหรับ “มะเร็งเต้านม” ซึ่งพบมากในเพศหญิง ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ทำโครงการต้านภัยมะเร็งเต้านม ตั้งแต่ปี 2555

โดยให้หญิงไทยตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพื่อให้รู้ความผิดปกติ ลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม นำร่องหญิงไทยอายุ 30-70 ปี จำนวน 1.9 ล้านคน ใน 21 จังหวัด ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถค้นพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระยะเริ่มต้น และนำเข้าสู่กระบวนการรักษา ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย

และขณะนี้ ได้ขยายการดำเนินงานเพิ่มอีก 55 จังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รณรงค์ให้สตรีทุกคนตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ควบคู่กับการบันทึกผลการตรวจลงใน “สมุดบันทึกการตรวจเต้านมตนเอง” เป็นประจำ

มะเร็งเต้านม 8

กระบวนการดูแลรักษาที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้ คือ ให้ติดตามโดยอาสาสมัครสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (อสมช.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หากพบความผิดปกติ จะตรวจยืนยันด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ที่โรงพยาบาลชุมชน และส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงพยาบาลทั่วไป

พร้อมทั้งบูรณาการกับงานของมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จ พระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) เพื่อให้สตรีที่อยู่ห่างไกลได้รับการดูแล เฝ้าระวังโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น และจะพัฒนาแอพพลิเคชันสำหรับบันทึกการตรวจเต้านม คู่ขนานการใช้สมุดบันทึก รวมทั้งพัฒนาอสม.เป็นอสม.เชี่ยวชาญด้านการเฝ้าระวังมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น เพื่อให้หญิงไทยทุกคนสามารถตรวจและทราบความปกติของเต้านมตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ช่วยลดการตายจากโรคมะเร็งเต้านมได้

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ที่เสียชีวิต มักมาพบแพทย์เมื่อมะเร็งเต้านมได้ลุกลาม และแพร่กระจายแล้ว คือ มีก้อนขนาดใหญ่ และมีแผลที่เต้านม หรือมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลจากหัวนม หากค้นพบเร็วก็จะสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษา นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แล้ว ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติ และตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน สำหรับหญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป

ส่วนผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป นอกเหนือจากการตรวจเต้านมด้วยตนเองแล้ว ควรเพิ่มการตรวจเต้านมกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างน้อยทุก 3 ปี และเพิ่มเป็นทุกปีเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควบคู่กับการตรวจเอกซเรย์เต้านม

Avatar photo