Finance

ไตรมาสแรกกำไรหุ้นแบงก์ดีเกินคาด

 

A2 012 1

กลุ่มสถาบันการเงินทยอยประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1 ปี 2561 ออกมาต่อเนื่อง ซึ่งโบรกเกอร์ประเมินว่า ภาพรวมกำไรในงวดดังกล่าวออกมามีทิศทางที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่เกิดจากกำไรที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ตั้งสำรองน้อยกว่าที่คาด รวมถึงมีกำไรพิเศษช่วยทำให้ดูดีกว่าคาดการณ์ไว้ ดังนั้น เชื่อว่าจะมีผลดีต่อภาพรวมตลาดหุ้นไทยในระยะต่อไป

ทั้งนี้ บล.โกลเบล็ก ได้แจกแจงเหตุผลของแต่ละแบงก์ว่ามีกำไรเพิ่มขึ้นหรือลดลง และมาจากสาเหตุอะไรบ้างไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

เริ่มจากบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK แจ้งกำไรไตรมาส 1 ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 771 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.5% จากงวดเดียวกันปีก่อน เนื่องจากรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโตสูงถึง 113% รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเติบโตเพียง 2% เนื่องจากสินเชื่อหดตัว 3.7%จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยมีค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น 113% จากงวดเดียวกันปีก่อน แม้ NPL เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 3%จากงวดเดียวกันปีก่อน เนื่องจากตั้งสำรองเพิ่มตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY แจ้งกำไรไตรมาสแรกปีนี้เท่ากับ 6,215 ล้านบาท ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย Consensus 14% โดยกำไรเติบโต 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 9% จากงวดไตรมาส 4 ปี 2560 จากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 9% จากงวดเดียวกันปีก่อน และ 3% จากไตรมาส 4 ปี 2560 ตามการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับ 1.5% จากปีก่อน แม้มีการชำระคืนสินเชื่อธุรกิจแต่มีปัจจัยขับเคลื่อนจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบรรษัทญี่ปุ่น สินเชื่อ SME และสินเชื่อที่อยู่อาศัย รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเติบโต 16%จากปีก่อน คุณภาพสินทรัพย์ปรับดีขึ้นโดยมี %NPL ลดเหลือ 1.96% จาก 2.05% ณ สิ้นปี 60

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) TMB แจงไตรมาส 1 ปี 2561 กำไรสุทธิโต 9% หลังตั้งสำรอง 2.3 พันล้านบาทรายได้ค่าธรรมเนียมพุ่ง 35%

ธนาคารกรุงเทพ แจงกำไรไตรมาส 1 ปี 2561 เพิ่มขึ้น 8.4% จากงวดปีก่อน จากรายได้ดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียมเพิ่ม แม้เงินให้สินเชื่อลดลง 1.3% จากสิ้นปีก่อน

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) SCB รายงานกำไรไตรมาส 1 ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 1.13 หมื่นล้านบาท ลดลง 4.6% จากไตรมาส 1 ปี 2560 ตามค่าใช้จ่ายการตลาดเพิ่ม-ทุ่มลงทุนด้านดิจิทัล

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) KBANK รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2561 เติบโต 5.84% จากงวดปีก่อน ตามรายได้ดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียมเพิ่ม, NPL ทรงตัวที่ 3.3

ขณะที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) KTB รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2561 มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารเท่ากับ 6,787 ล้านบาท ลดลง 20.51% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8,538 ล้านบาท

ทั้งนี้ บล.ทรีนิตี้ ระบุว่า ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ทยอยประกาศออกมานั้น ถือว่าดีกว่าที่ฝ่ายคาดการณ์ไว้เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็น Sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มในระยะสั้น คงน้ำหนักการลงทุนสำหรับกลุ่ม “เท่ากับตลาด” โดยเลือก BBL, TISCO และ TCAP เป็น Top pick ของกลุ่มเช่นเดิม

สอดคล้องกับ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินว่า กลุ่มสถาบันการเงิน ทยอยรายงานผลประกอบการ เริ่มต้นดีกว่าคาด ซึ่งน่าจะช่วยลดความกังวลต่อประเด็นที่กดดันกลุ่มฯก่อนหน้านี้อย่างการเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ เป็นต้น นักลงทุนอาจพิจารณาเก็งกำไรหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินตัวอื่นที่ยังปรับตัวขึ้นไม่แรง

ขณะที่บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า กลุ่มธนาคารทยอยรายงาน ผลประกอบการ ภาพรวมดีกว่าที่ฝ่ายวิจัยคาดการณ์ ซึ่งกลุ่มธนาคารทยอยรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2561 นำโดย TISCO, TMB, BAY และธนาคารใหญ่อย่าง SCB, BBL พบว่าส่วนมากรายงานดีกว่าที่เราคาดและใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด ส่วนหนึ่งเกิดจากที่ประเมินกำไรไตรมาสนี้ค่อนข้างต่ำ ( โดยเราประเมินกำไรกลุ่มธนาคารต่ำกว่าที่ตลาดคาดประมาณ 5% คิดเป็น ลดลง7%จากงวดเดียวกันปีก่อน , เพิ่มขึ้น17%จากไตรมาส4ปี 2560) ภาพรวมเกิดจากกำไรที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (Non- NII) , กำไรพิเศษ และตั้งสำรองที่น้อยกว่าคาด

โดยการรายงานผลประกอบการกลุ่มธนาคารที่ออกมาค่อนข้างดี อาจเป็นแรงส่งให้ SET ปรับขึ้นทดสอบแนวต้านทางจิตวิทยาบริเวิณ 1,800 จุด อย่างไรก็ตาม ในเชิงโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มอย่าง Loan growth (%) , NPL ยังไม่เห็นการฟื้นตัว ในขณะที่โครงสร้างรายได้ยังคงต้องเสี่ยงกับความกดดันจากฝั่งกระทรวงการคลังที่ระบุต้องการให้ลดดอกเบี้ย MRR , MOR (%) ดังนั้นในระยะสั้นเรามองเป็นเพียงการเกิด Technical rebound ผสมกับแรง Cover short ในกลุ่มนี้เท่านั้น

บล.บัวหลวง ประเมินว่า งบการเงินของกลุ่มธนาคารออกมาล่าสุด BBL TMB SCB BAY กำไรเป็นไปตามคาด ส่วน TCAP และKBANK กำไรดีกว่าคาด โดย NPL ต่อสินเชื่อ ของ BBL SCB BAY เริ่มเห็นสัญญาของการปรับลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2560 แต่ TMB TCAP เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้การตั้งสำรองส่วนใหญ่ไม่มีเพิ่มขึ้น ยกเว้นการตั้งสำรองของ BBL ที่เพิ่มขึ้นเกินคาดกว่า 50% เป็นเพราะการนำกำไรพิเศษ (คาดมาจากการขายหุ้น) มาตั้งสำรองเพื่อความมั่งคงเราคาดว่า แนวโน้ม NPL ที่ลดลงรอบนี้ เป็นตัวแปรสะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น

และดูจากตัวเลขการตั้งสำรองเมื่อเทียบกับ NPL (Loan loss reserve) ที่อยู่ในระดับสูงมีความมั่นคงเพียงพอรองรับความเสี่ยงมาตรฐานบัญชีใหม่ เรายังคงเชื่อว่าแนวโน้มกำไรกลุ่มธนาคารในไตรมาส 2 ปีนี้และที่เหลือของปีจะมีความเสี่ยงจำกัดในการปรับลดคาดการณ์กำไรลง และเชื่อว่ากำไรแบงก์จะหนุนบรรยากาศในการลงทุนหุ้นไทยรอบนี้ให้ปรับขึ้นต่อได้

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight