Economics

‘กอบศักดิ์’ ปัดไทยแชมป์เหลื่อมล้ำโลก

“กอบศักดิ์” ปัดไทยแชมป์เหลื่อมล้ำโลก ระบุ CS ใช้ข้อมูลเก่า ยันเป็นปัญหาของทั้งโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย ย้ำ 4 ปีรัฐบาลตอบโจทย์ประชาชนในทุกมิติ ยกระดับชีวิตฐานราก  แนะควรตั้งองค์กรแก้ปัญหานี้โดยเฉพาะ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงกรณีที่ CS Global Wealth Report 2018 ออกมาเมื่อเดือนต.ค. ระบุว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลกว่า  ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งด้านรายได้ และความมั่งคั่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศเจออยู่ในขณะนี้

กอบศักดิ์ 1

สำหรับรัฐบาลไทยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องด้วยนโยบายต่างๆ เช่น ดูแลพี่น้องประชาชนที่มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างเป็นระบบ การจัดสวัสดิการประเภทใหม่ๆ เช่น สวัสดิการเด็กเล็กระหว่าง 0-3 ขวบ 600 บาทต่อเดือน การเพิ่มเงินเลี้ยงชีพให้ผู้สูงอายุ การจัดตั้งกองทุนลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา การช่วยเกษตรกรผ่านโครงการช่วยเหลือต่างๆ การจัดการกับเจ้าหนี้นอกระบบ รวมถึงการออกกฎหมายภาษีสำคัญเช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน กฎหมายขายฝากเป็นครั้งแรก และการพยายามขยายฐานภาษี เพื่อกระจายรายได้จากคนที่มีรายได้สูงไปให้ผู้มีรายได้น้อย

ทั้งนี้ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะฟื้นตัวดีขึ้น ราคาข้าวสูงสุดในรอบหลายๆ ปี แต่ปัญหาราคาสินค้าเกษตรโลกที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อการกระจายรายได้ และเกษตรกรบางกลุ่มของไทยอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้พี่น้องประชาชนที่ฐานรากบางส่วนยังลำบาก โดยเฉพาะผู้ปลูกยางพารา จากราคายางโลก และราคาน้ำมันโลกที่ลดลง และผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันลดลง ซึ่งมาตรการล่าสุดของรัฐบาลก็น่าจะช่วยบรรเทาไปได้บางส่วน

นายกอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน จะต้องทำอย่างเป็นระบบ โดยต้องช่วยสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งที่แท้จริงจากฐานราก และให้โอกาสที่เท่าเทียมแก่ทุกคน โดยเฉพาะด้านการศึกษา การหางาน และการเข้าถึงแหล่งเงิน ลดการใช้อำนาจของรายใหญ่เอาเปรียบรายย่อย

หากรัฐบาลมีหน่วยงานกลางที่ต่อสู้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำโดยตรง เหมือนกรณีที่มีการตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเข้ามาแก้ปัญหาเกี่ยวกับน้ำทุกในระบบ เชื่อว่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบูรณาการหน่วยงานต่างๆของรัฐและช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ และความมั่งคั่งในระยะยาว

“ส่วนข้อมูลความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของเครดิตสวิสที่ทุกคนพูดถึงนั้น ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง  อย่าเชื่อทั้งหมด เพราะอ้างอิงจากข้อมูลความเหลื่อมล้ำเก่า เมื่อปี 2549 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการศึกษาของนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญาและคณะ  ในปี 2551 ซึ่งเรื่องนี้ได้สอบถามผู้เขียนแล้วพบว่า ใช้ข้อมูลความมั่งคั่ง เพียงแต่ในส่วนของบัญชีเงินฝากเท่านั้น  ในส่วนของหุ้น ที่ดิน และสินทรัพย์อื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นตัวเงินนั้น ไม่ได้รวมอยู่ด้วย และทางเครดิตสวิสได้ประมาณการเพิ่มเติมต่อมาอีก 12 ปี ซึ่งมีโอกาสผิดพลาดได้มาก” นายกอบศักดิ์ กล่าว

Avatar photo