CEO INSIGHT

บทเรียนจากความ ‘เยิ้ม’ ของ ‘มิค-บรมวุฒิ หิรัญยัษฐิติ’

30595256 619588151719616 1125014391960371200 o
ขอบคุณภาพจากเพจ ปูไข่เยิ้ม By Mick

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ธุรกิจ” ในขณะที่เป็นแค่ไอเดีย ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงจะประกาศออกสื่อก็คงไม่มีใครยืนยันได้ว่าธุรกิจนั้นจะประสบความสำเร็จ แต่หากเจ้าของไอเดียมีความกล้าที่จะลงมือทำ มีความอดทนต่อปัญหาที่ถาโถมเข้ามา รวมถึงมีการบริหารจัดการที่ดี ปัจจัยเหล่านี้น่าจะพอชี้ได้ว่าธุรกิจนั้น ๆ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เช่นเดียวกับ “ปูไข่เยิ้ม by mick” ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วเกือบหนึ่งปี และเป็นหนึ่งปีที่ มิค-บรมวุฒิ บอกว่าเขาได้รับประสบการณ์มากมายจากกิจการส่วนตัวนี้

โดยมิคเล่าย้อนไปถึงวันเริ่มต้นว่า เขาเริ่มต้นกับเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันแค่สองคน และมีตู้แช่ปู 10 ตู้ ความท้าทายเริ่มเข้ามาหาตั้งแต่การตั้งชื่อ เมื่อเบนซ์-พรชิตา ภรรยาไม่เห็นด้วยกับชื่อ “ปูไข่เยิ้ม” เอาเสียเลย เขาโดนทักว่าถ้าตั้งชื่อนี้ไปแล้วถ้าปูไข่ไม่เยิ้มจริง ก็เท่ากับเสียแบรนด์

“พอเบนซ์ทัก เราก็เลยคิดว่า ดีล่ะ เราจะใช้ชื่อนี้ และเราจะเอาจุดนี้เป็นเกณฑ์รักษาคุณภาพ ถ้าปูไข่ดองของเราไม่เยิ้มจริง เราจะไม่ส่งออกไปขาย จากนั้นเราก็เริ่มเลย” มิคเล่าพร้อมติดตลกว่า นี่ถือเป็นการไม่เชื่อฟังภรรยาครั้งแรกของเขาด้วย

เมื่อปูไข่เยิ้มและตู้แช่ 10 ตู้ ถือกำเนิดขึ้นในโลกธุรกิจ ความท้าทายต่าง ๆ ก็ประดังเข้ามาหลายด้าน เริ่มจากเรื่องของมาตรฐานในการหาวัตถุดิบที่ของสดต้องมาจากแหล่งที่ไว้ใจได้

“มิครับเฉพาะของสด คือต้องมาส่งตอนเช้าเท่านั้น และมิคก็รับเฉพาะแหล่งที่ไว้ใจได้ ถ้ามาจากแหล่งอื่นไม่เอาเพราะไข่ปูมันไม่ถึง แต่ละวันมิคก็ต้องมานั่งคอยดูว่ามีปูเข้ากี่ตัว ไซส์ไหนบ้าง แบ่งดองเท่าไร นึ่งเท่าไร ดองวันนี้ปุ๊บ ขายได้คือมะรืนนี้ เหล่านี้คือตัวการที่ทำให้เวลาในแต่ละวันของเรายุ่งมาก เพราะเราดูแลเหมือนลูกเราอีกคน แล้วก็ทำให้เราได้ศึกษามากขึ้นว่าปูมีกี่พันธุ์ จากเมื่อก่อนเราอาจรู้จักแค่ปูทะเล ปูม้า เราก็มาเรียนรู้จากธุรกิจว่า ปูทะเลฝั่งนี้ โซนนี้ อร่อยกว่าปูทะเลจากโซนนั้น มีเรื่องให้เราเรียนรู้ทุกวัน และปัญหาก็จะเกิดทุกวัน ๆ ด้วย”

ปูไข่เยิ้มbyMick
มิค-บรมวุฒิ หิรัญยัษฐิติ ขณะเล่าเรื่องธุรกิจ “ปูไข่เยิ้ม” ในการเปิดตัว BizSmart ของธนาคารยูโอบี

“ที่ทำขนาดนี้เพราะคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญ มิคถือว่าเราเป็นเป้านิ่ง ใครทานปูมิคแล้วท้องเสียเขาไปด่าเราได้ถึงกองถ่ายเลยนะ ดังนั้นคุณภาพเราต้องดูแลเป็นอันดับหนึ่ง แล้วก็ต้องมาจัดการกับปูที่มีปัญหาด้วย ตัวนี้ไข่น้อยเอาไปทำอะไรดี ตัวนั้นตกเขียง แบ่งเอาไว้อีกกอง ซึ่งการรักษาคุณภาพเหล่านี้ก็ทำให้บางวันเรามีของเสียเยอะมาก เยอะจนลูกน้องบอกว่ากินปูไม่ไหวแล้ว ต้องเอาไปแจกเพื่อนบ้านในซอยก็มี”

ความท้าทายที่สองคือ การที่ปูไข่เยิ้มมีระบบเดลิเวอร์รี่ของตัวเอง มิคเล่าว่า นโยบายของเขาคือพนักงานที่รับของออกไปแล้วจะต้องวิ่งตรงไปส่งให้ลูกค้าเลย ห้ามแวะระหว่างทาง แต่เขาก็พบว่า มันเป็นระบบที่กำลังถูกท้าทายด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า นั่นคือบริการแมสเซจติดตามสถานะการส่ง

“เราเชื่อว่าพนักงานส่งของเราดีมากนะ ของคนอื่นอาจจะแวะหลายที่กว่าจะส่งของให้ลูกค้า แต่ของเรา มิคบอกเลยว่าเขาห้ามแวะที่ไหน ต้องไปส่งของให้ลูกค้าก่อน ส่วนขากลับคุณจะแวะ เราไม่ว่า แต่สิ่งที่เราพบก็คือ ลูกค้าส่วนใหญ่ที่สั่งของออนไลน์จะคุ้นเคยกับการมีแมสเซจส่งเข้ามาบอกว่า สินค้าที่สั่งออกไปแล้ว หรือตอนนี้ของอยู่ที่ไหน จะถึงในเวลากี่โมง ผู้ประกอบการที่ไม่มีตรงจุดนี้ก็จะแข่งขันได้ยากขึ้น”

“เรื่องของบัญชีก็สำคัญ ทุกวันนี้ มิคต้องนั่งคอยดูสถิติว่า เอ๊ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเรารับปูจากเจ้านี้ แล้วปูเสียกี่ตัวนะ แล้วนึกภาพเวลาเราคุยไลน์ออกไหมครับ คุยกันวันหนึ่งๆ เป็นพันข้อความ จะย้อนกลับไปดูของอาทิตย์ที่แล้วนั้นยากมาก หรือไม่ก็ต้องรอจนกว่าพนักงานบัญชีจะสรุปมาเป็นสถิติให้เราว่า เดือนนี้ปูเสียเท่านี้ สถิติรายได้กี่เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นข้อมูลที่เราต้องรอ อย่างข้อมูลของเดือนมกราคมเราเพิ่งได้เมื่อเดือนมีนาคม เพราะทุกอย่างพนักงานจดด้วยกระดาษ จดเสร็จแล้วก็ส่งให้พนักงานบัญชี ซึ่งเขาก็มีงานล้นมือ กว่าเขาจะส่งมาให้เราก็ต้องรอเป็นเดือน ดังนั้นทุกอย่างเราจะรู้เมื่อหนึ่งเดือนให้หลัง ซึ่งบางทีมันไม่ทันไง เพราะพอเราเริ่มทำ ก็มีคนเริ่มทำเยอะขึ้น เราเลยอยากรู้แบบเรียลไทม์ มันจะตัดสินใจได้ง่ายกว่าเยอะ เราจะได้เอาเวลาไปคิดหาวิธีขยายธุรกิจดีกว่าเอามานั่งแก้ปัญหาประจำวัน”

ความท้าทายต่อมาคือบุคลากร ที่มิคเล่าว่า “ตอนนี้เรามีพนักงานเกือบ 50 คน มีตู้แช่ 60 ตู้ พนักงานตอนนี้เป็นญาติของคนที่เคยทำงานด้วยกันมาในบ้านตั้งแต่สมัยคุณย่า รู้จักใครก็ดึง ๆ กันเข้ามา รูปแบบเป็นกึ่ง ๆ ธุรกิจครอบครัว ทำให้เขาเองค่อนข้างเกรงใจเรา ของเสียของไม่ดีเขาจะรีบแจ้งเพราะกลัวเราเสียหาย ในทางกลับกัน ความที่เขารักเรามาก เราก็ต้องเน้นย้ำด้วยว่า ปูตกเขียง ฯลฯ ต้องคัดออก เพราะไม่งั้นพนักงานจะกลัวว่า เดี๋ยวคุณมิคขาดทุน”

บริการลูกค้า เครื่องมือมัดใจ

สิ่งที่เขาพยายามจะเข้มงวดให้มากขึ้นก็คือการบริการลูกค้า อยากให้คนรับประทานอร่อย และจะโกรธมากถ้าพนักงานไม่มีใจในการให้บริการ

“ที่โกรธมากเป็นกรณีที่พนักงานเราเปิดอ่านข้อความแต่ไม่ตอบ แล้วลูกค้าโอนเงินแล้ว แต่ไม่ได้ของ อันนี้ไม่ได้ อีกข้อคือเราจะพยายาม Keep Track ลูกค้าตลอด จะบันทึกเอาไว้ว่าลูกค้ารายนี้ชอบเผ็ดน้อย ลูกค้ารายนี้เน้นเรื่องเวลา แต่ปัญหาก็คือ เมื่อรับพนักงานใหม่เข้ามา เขาไม่รู้ไง เราก็ต้องคอยบอก”

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปบ้างดูท่าว่าจะเป็นทางแก้ที่ดีสำหรับธุรกิจ ซึ่งมิคบอกว่า เขาเองก็เตรียมสร้างเว็บไซต์เพื่อให้ระบบการจัดการต่าง ๆ เรียบร้อยมากขึ้น รวมถึงอาจมองหาแอปพลิเคชันสำเร็จรูปสำหรับธุรกิจเข้ามาใช้งานร่วมด้วย แต่นอกจากเทคโนโลยีแล้ว การให้บริการมากกว่าที่เขามองว่าเป็นหัวใจหลัก

“หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ มิคมองว่าการดูแลลูกค้ามากกว่า เพราะตั้งแต่มิคเปิดมา ก็มีเปิดตามมาอีกหลายสิบเจ้า การดูแลลูกค้าให้ดีจึงเป็นสิ่งที่จะยึดใจลูกค้าได้ แล้วเราต้องเป็นปูพรีเมียม จะมาตอบลูกค้าว่า สวัสดีจ้า วันนี้จะสั่งอะไรดีจ๊ะ อย่างนี้ไม่เอา เราก็ต้องเทรนพนักงานของเราว่าเราควรจะพูดอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกว่าเป็นบริการแบบพรีเมียมนะ”

มิคยังได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจจากประสบการณ์เกือบ 1 ปีของปูไข่เยิ้มว่า “ปัญหาเข้ามาเรื่อย ๆ ทุกวัน ดังนั้น สำหรับบางคนที่คิดว่าต้องปิดทุกช่องโหว่ก่อนเปิดธุรกิจ อย่า เพราะคุณจะไม่มีวันได้เปิด มันไม่มีคำว่าปิดช่องโหว่ได้ เริ่มเลย แล้วค่อยไปแก้ปัญหาทีละนิด แต่อย่าเปิดใหญ่เกินไปจนไม่สามารถดูแลได้ก็พอครับ”

Avatar photo