Digital Economy

กูเกิล-เทมาเส็กคาดเศรษฐกิจดิจิทัลไทยโตทะลุ 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ปี 68

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลไทยจากรายงานการวิจัยในหัวข้อ “e-Conomy SEA 2018: Southeast Asia’s Internet Economy Reaches an Inflection Point” โดยความร่วมมือระหว่างกูเกิล (Google) และเทมาเส็ก (Temasek) พบว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยจะเติบโตขึ้นเป็น 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2568 ทำให้ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย

01

การเปิดเผยนี้มีขึ้นโดยนายเบน คิง หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิล ประเทศไทย ที่ออกมาให้รายละเอียดถึงผลการสำรวจมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ทางกูเกิลร่วมมือกับทางเทมาเส็ก เพื่อสำรวจระบบนิเวศน์ดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน 4 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ, สื่อออนไลน์, บริการร่วมเดินทาง และการท่องเที่ยวออนไลน์

โดยเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 27% ซึ่งปัจจุบันยอดมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Value: GMV) ในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยคิดเป็นเพียง 2.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ซึ่งต่ำกว่าจีนและสหรัฐอเมริกา (6.5% ในปี 2559) แสดงให้เห็นถึงโอกาสอีกมหาศาล ในการเติบโต

P17 pix1 feature 2

ตลาดท่องเที่ยวของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคและมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดอยู่ที่ 18%

สำหรับในปี 2561 ถือเป็นปีทองของตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทย อีคอมเมิร์ซเป็นตลาดที่มีการเติบโตเร็วที่สุด แต่หากเทียบในระดับภูมิภาค การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยและเวียดนามมีอัตราการเติบโตมากที่สุด โดยมีมูลค่าตลาดเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2561

ไม่เพียงเท่านั้น รายงานดังกล่าวยังพบว่าสื่อออนไลน์ (โฆษณา เกม บริการติดตามเพลงและวิดีโอ) ในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.4 พันล้านดอลลาร์ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate: CAGR) อยู่ที่ 44% และคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568

03

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านรายได้ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และขนาดของประชากรก็ตาม โดยมีตัวเร่งการเติบโตที่เหมือนกันนั่นก็คือการเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

ปัจจุบัน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 350 ล้านคน ในขณะที่จำนวนผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นหลักมีขนาดใหญ่กว่าประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งพวกเขาไม่เพียงแต่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์อีกด้วย

โดยพบว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เวลาค้นหาข้อมูล รับชมวิดีโอ และซื้อสินค้าบนอินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์มือถือมากกว่าชาวอเมริกัน ยุโรป หรือญี่ปุ่น และพวกเขาก็กำลังหันมาใช้บริการทางออนไลน์มากขึ้น จำนวนผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ซื้อสินค้าที่จับต้องได้ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากที่มีน้อยกว่า 50 ล้านคนในปี พ.ศ. 2558 เป็น 120 ล้านคนในปี พ.ศ. 2561 และในช่วงเวลาเดียวกันผู้ใช้บริการร่วมเดินทาง (Ride-Hailing) ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4 เท่า จาก 8 ล้านคน เป็น 35 ล้านคน

5663dc86 5fda 11e8 a4de
ภาพจากเอเอฟพี

ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้เป็นแค่เพียงผู้บริโภคที่คอยตั้งรับในเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น แต่พวกเขากำลังสร้างบริษัทชั้นนำในระบบนิเวศดิจิทัลด้วย ธุรกิจท้องถิ่นเป็นผู้ครองตลาดอีคอมเมิร์ซซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล การซื้อสินค้าทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Lazada, Shopee และ Tokopedia คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของการซื้อสินค้าออนไลน์ในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งมีมูลค่าถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีการใช้บริการร่วมเดินทาง (Ride-Hailing) มากถึง 8 ล้านเที่ยวต่อวัน โดยส่วนใหญ่ใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน GO-JEK และ Grab การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเติบโตของผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้ด้วยปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ทั้งหมด 9 ราย ซึ่งมากกว่าในประเทศอื่นๆ ยกเว้น จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

04
ภาพจากเอเอฟพี

ความมั่นใจของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นช่วยส่งเสริมการประกอบธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2558 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นตลาดชายขอบ (Frontier Market) สำหรับการจัดหาเงินทุนให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยมีการระดมทุนผ่านธุรกิจเงินร่วมลงทุนได้ราวๆ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น จนมาถึงตอนนี้ เฉพาะครึ่งปีแรกของปีนี้ธุรกิจสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถระดมทุนได้มากถึง 9.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนุบสนุนเงินทุนส่วนใหญ่เป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น แต่โดยรวมแล้วระบบนิเวศสตาร์ทอัพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก โดยประมาณ 1 ใน 3 ของเงินทุนที่ระดมได้จำนวน 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ได้กระจายไปยังบริษัทเทคโนโลยีรายเล็กมากกว่า 2,000 บริษัท

ด้วยข้อยกเว้นของอินโดนีเซียเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้จึงไม่ใหญ่พอที่จะกลายเป็นผู้นำระดับโลกในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงเทียบเท่ากับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แม้แต่บริษัทระดับยูนิคอร์นสัญชาติอินโดนีเซียอย่าง GO-JEK ก็กำลังขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน

รัฐบาลไทยเองก็ควรสนับสนุนการขยายตัวของบริษัทเทคโนโลยีไทยในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากระบบนิเวศดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องอาจกลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจและการสร้างงาน อย่างไรก็ตามหลายๆ บริษัทยังคงเผชิญกับอุปสรรคหลายประการในการพยายามขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค

โดยอุปสรรคหลักๆ คือการขาดความสามารถในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำงานร่วมกันระหว่างระบบ (interoperability) และมาตรฐานที่สอดคล้องกัน บริษัทเทคโนโลยีต้องฝ่าด่านเขาวงกตของระเบียบข้อบังคับแห่งชาติกว่า 10 รายการที่แตกต่างกันในประเด็นต่างๆ เช่น การจัดเก็บข้อมูลและการค้าข้ามพรมแดน นอกจากนี้การกระจายตัวของโซลูชันการชำระเงินระดับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ที่ยังคงเป็นการใช้เงินสดทำให้เกิดแรงเสียดทานและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมต่างๆ สำหรับภาคเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมด ระบบการชำระเงินแบบดิจิทัลที่เป็นระบบเปิดและสามารถทำงานร่วมกันได้และการไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลภายในภูมิภาคจะช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจในประเทศไทยสามารถทำธุรกรรมข้ามพรมแดนได้อย่างราบรื่น และจะทำให้เกิดการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของกลุ่มคนชั้นกลางซึ่งส่วนใหญ่ไม่เคยมีบัตรเครดิตมาก่อน

0024f876 23ec 11e7 a553
ภาพสตรีทฟู้ด (เอเอฟพี)

อุปสรรคอีกประการหนึ่งมาจากความหลากหลายของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนในภูมิภาคนี้อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและมีความหลากหลายในเรื่องของการใช้ภาษา การจ้างงานบุคลากรในท้องถิ่นที่มีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นและทักษะที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ

รายงานการวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี พ.ศ. 2561 ชี้ว่ากำลังคนที่มีทักษะด้านดิจิทัลในภูมิภาคต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นปีละ 10% เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจในท้องถิ่น นอกจากนี้รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนในการฝึกอบรมประชาชนให้มีทักษะที่เหมาะสมสำหรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ มีบุคคลากรที่เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ท้องถิ่น นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ และนักวิเคราะห์ข้อมูล Google มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาบุคคลที่มีความสามารถในทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะจัดการฝึกอบรมด้านทักษะดิจิทัลให้กับพนักงานเอสเอ็มอี 3 ล้านคนใน 10 ประเทศอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2563

ปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.7% ของจีดีพีของประเทศ ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เช่น จีนและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากมายที่จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว เราพร้อมให้ความร่วมมือในการฝึกอบรมคนไทยและให้การสนับสนุนธุรกิจไทยในการขยายตลาดในระดับภูมิภาค

 

Avatar photo