Economics

‘ASEAN Power Grid’ ชูศักยภาพไทย เสริมพลังอาเซียน

ความต้องการใช้ไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่จะทำอย่างไรให้การผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นของแต่ละประเทศมีค่าใช้จ่ายไม่เพิ่มสูงจนเกินไป ระบบเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) เกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามนี้

อาเซียน กริด 1

การประชุมผู้บริหารสูงสุดกิจการไฟฟ้าของอาเซียน ( Heads of  ASEAN Power Utilities/Authorities – HAPUA ) หรือ HAPUA Council ครั้งที่ 26 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จึงได้คลอดแผนแม่บทระบบเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน เพื่อรวมพลังจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไฟฟ้าจากประเทศที่มีความต้องการน้อย จัดส่งให้กับประเทศที่ต้องการไฟฟ้ามากอย่างสะดวกราบรื่น ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศที่ขายไฟฟ้า ขณะเดียวกันประเทศที่ต้องการไฟฟ้ามากก็มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ระบบนี้จึงสามารถตอบโจทย์การพัฒนาได้ทั้งภูมิภาค

ระบบเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน มีแนวทางดำเนินงานรองรับ 16 โครงการ เพื่อเชื่อมโยงสายส่งระหว่างชาติสมาชิก ซี่งมีกำหนดซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันผ่านระบบในปี 2557 เป็นต้นไป

และถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักด้านพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียน ที่มุ่งเชื่อมโยงโครงข่ายระบบพลังงาน และสาธารณูปโภคในอาเซียน ได้แก่ ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และน้ำ ผ่านระบบเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน ระบบท่อส่งก๊าซ และท่อส่งน้ำ (Trans-ASEAN Gas Pipeline) รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การอนุรักษ์พลังงาน และการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ที่ใช้แล้วหมุนเวียนมาใช้ใหม่ได้อีก

ล่าสุดการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน (ASEAN Ministers on Energy Meetings – AMEM) ครั้งที่ 36 ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สมาชิกอาเซียนได้มีมติเห็นชอบขยายกรอบความร่วมมือพหุภาคีด้านไฟฟ้าในโครงการซื้อขายไฟฟ้า สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM on Power Integration Project) ส่งพลังงานไฟฟ้าจากลาว ไปยังมาเลเซีย ผ่านระบบส่งของไทย (3 ประเทศ) จากเดิม 100 เมกะวัตต์ เป็น 200-300 เมกะวัตต์

อาเซียน กริด 2 คอป

หลังจากโครงการซื้อขายไฟฟ้าเชื่อมโยง 3 ประเทศ สปป.ลาว-ไทย-มาเลเซีย (LTM) ได้เริ่มนำร่องไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 มีการซื้อขายไฟฟ้าไปแล้ว 4 ล้านหน่วย โดยมาเลเซียเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ในขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะคิดค่าผ่านสายส่ง (Wheeling Charge) ในราคาที่ไม่สูงมาก แต่ไม่ขาดทุน และเป็นระบบซื้อบางช่วงเวลาที่มีความต้องการ แต่ยังไม่ถึงปริมาณสูงสุดที่ตกลงกันไว้ 100 เมกกะวัตต์ จนกว่าจะถึงปี 2563 เป็นต้นไป โครงการนี้จะเริ่มส่งพลังงานไฟฟ้าจากลาว ไปยังสิงคโปร์ โดยผ่านระบบส่งของไทย และมาเลเซีย รวมความร่วมมือ 4 ประเทศ

อาเซียน กริด 3

ถือเป็นก้าวใหญ่ที่สำคัญของการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน และเป็นต้นแบบสู่การพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้าอาเซียนเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานร่วมกันของทั้งภูมิภาคอาเซียนในระยะยาว

ไทยถือว่ามีศักยภาพเป็นศูนย์กลางพลังงานของอาเซียนได้อย่างดี จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ระบบสายส่งที่มีความมั่นคง และบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวย

แต่โครงการนี้เพิ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจังได้ไม่นาน สำหรับไทยเอง แม้จะได้เปรียบในหลายๆเรื่อง แต่การผลักดันโครงการก็ใช้เวลามาก จนทำให้หลายประเทศ เช่น ลาว ชิงประกาศตัวเป็นแบตเตอรี่อาเซียนนำหน้าไทยไปแล้ว

เพื่อให้ระบบเชื่อมโยงไฟฟ้าอาเซียน มาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศจากความได้เปรียบที่มีอยู่ รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญ และสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าที่มีราคาเหมาะสม สามารถแข่งขันได้ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลังงานของอาเซียนอย่างเต็มภาคภูมิสมศักยภาพ

Avatar photo