Finance

สรรพากรแจงปมรีดภาษีผู้ค้าออนไลน์

กรมสรรพากร ชี้แจงกฎหมายอีเพย์เม้นต์ เดินตามยุทธศาสตร์ “อิเล็กทรอนิกส์” ย้ำไม่ขัดแย้งนโยบาย “สังคมไร้เงินสด” มุ่งวิเคราะห์ข้อมูลฐานผู้เสียภาษี ปัดบี้เก็บภาษีค้าออนไลน์

หลังจากเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร จำนวน 5 มาตรา วาระ 2-3 โดยหนึ่งในสาระสำคัญคือ กำหนดให้สถาบันการเงินรายงานข้อมูลบุคคลและนิติบุคคลที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีในการทำธุรกรรม “รับโอนเงิน” ทุกบัญชีเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือรับโอนเงินทุกบัญชี 400 ครั้งต่อปี และยอดเงิน 2 ล้านบาทขึ้นต่อปี  ต้องส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบ  พบว่าประเด็นดังกล่าวมีร้องเรียนผ่านสื่อว่า การยกร่างกฎหมายอาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 32  หรือไม่ วันนี้ (7 ธ.ค.) กรมสรรพากรได้ชี้แจ้งกรณีดังกล่าว

ปิ่นสาย สุรัสวดี
ปิ่นสาย สุรัสวดี

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่าประเด็นข้อสังเกตเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ….เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ซึ่ง สนช.เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 นั้น

กรมฯ ขอชี้แจ้งว่า การยกร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาตั้งแต่ชั้นคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และวิปต่างๆ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายได้พิจารณาร่วมกันว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลจนเกินกว่าเหตุ สามารถกระทำการโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการใช้สิทธิเพื่อความจำเป็นสาธารณะ ดังนั้นโดยภาพรวมไม่เป็นการขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญตามที่มีการกล่าวอ้าง

การเสนอกฎหมายมาจากภาพรวมว่ากรมสรรพากรกำลังเดินหน้า “อิเล็กทรอนิกส์” เต็มรูปแบบ จากเดิมเป็นการทำงานเชิงกายภาพใช้กระดาษและแรงงานบุคลากร จึงมีการเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เนื้อหาสาระมี 3 เรื่องหลัก

พ.ร.บ.เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์

1. สาระของกฎหมายจะมี “ธุรกรรม” เป็นการโอนเงินผ่านธนาคารที่เป็นตัวกลาง จากเดิมบริษัท 2 แห่งเป็นคู่ค้ากัน เมื่อมีการจ่ายเงิน 100 บาท จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3 บาท ระบบเดิม A จ่ายเงิน B จำนวน 97 บาท จากนั้น A ต้องมาที่สรรพากร เพื่อนำเงินภาษี ณ ที่จ่าย มาจ่ายให้สรรพากร ขณะเดียวกันปลายปี A ต้องให้พนักงานออกหนังสือรับรองภาษี ณ ที่จ่าย ไปส่งให้กับ B ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่เสียเวลาและค่าใช้จ่าย

แต่ระบบใหม่ ที่กรมสรรพากรออกแบบมา โดยทำงานร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ต่อไป A ต้องโอนเงินให้ B 100 บาท ระบบให้โอนทั้งหมด 100 บาท ผ่านธนาคาร โดยธนาคารจะโอนไป 97 บาท ให้กับคู่ค้า ส่วนอีก 3 บาท จะโอนไปให้กรมสรรพากร ซึ่งกรมสรรพากรจะรู้ข้อมูล ภาษี ณ ที่จ่ายที่ถูกโอนมาให้ว่า ผู้โอนและผู้รับโอนเป็นใคร ถือเป็นการยืนแบบแสดงรายการภาษี

ดังนั้นด้วยประโยชน์ของระบบภาษีใหม่ ต่อไปคู่ค้าทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งกรมสรรพากร จะไม่ต้องออกเอกสารยืนแบบและเอกสารรับรองกระดาษ โดยข้อมูลทุกอย่างจะเข้ามาที่กรมสรรพากร ถือเป็นการลดภาระเรื่องเอสการกระดาษ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งการค้าขายจะต้องออกใบกำกับภาษี ระบบปกติเดิมออกด้วยกระดาษ ทั้งแบบเต็มและแบบย่อ แต่เมื่อกรมสรรพากรจะเป็นอิเล็คทรอนิกส์เต็มรูปแบบ จึงมีโครงการ eTax Invoice โดยต่อไปคู่ค้าทั้ง 2 แห่ง ไม่ต้องส่งใบกำกับภาษีด้วยกระดาษ แต่ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สามารถดำเนินการได้

ในอดีตเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แต่หลังจากกรมฯเดินหน้าอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ จึงแก้ไขสาระสำคัญ อำนาจ และวิธีการมาอยู่ในประมวลรัษฎากร

3. การให้สถาบันการเงิน ธนาคาร และนอนแบงก์ ส่งข้อมูลกรณีที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งมี 2 เงื่อนไขคือ 1. รับโอนเงินทั้งปีเกิน 400 ครั้ง และมูลค่าเกิน 2 ล้านบาท  และ 2. รับโอนเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือเฉลี่ยวันละเกือบ 10 ครั้ง โดยนับเป็นรายบุคคลรวมทุกบัญชี เมื่อเข้าเกณฑ์ดังกล่าว ข้อมูลจะถูกส่งมาที่กรมสรรพากร เพื่อประมวลข้อมูลของกลุ่มต่างๆ

shopping online

“ขอชี้แจงว่า เพื่อความสบายใจของผู้เสียภาษี กรมฯไม่ได้นำข้อมูลดังกล่าวมาตรวจสอบ แต่สิ่งที่จะทำคือ จะเดินหน้าอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ จึงต้องการนำข้อมูลดังกล่าว มาประกอบกับข้อมูลการเสียภาษี ข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆ มาทำวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data analytics ซึ่งไม่ได้นำมาตรวจสอบเพื่อเสียภาษีแต่จะนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้เสียภาษี”

ตัวอย่างเมื่อได้ข้อมูลมาหนึ่งชุด จะใส่ข้อมูลอื่นเข้าไป เพื่อวิเคราะห์กลุ่มผู้เสียภาษี จากนั้นแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น  กลุ่มดี กลุ่มเสี่ยง  สำหรับกลุ่มดี จะเน้นเสริมบริการต่างๆ เช่น การคืนภาษีอย่างรวดเร็ว การกรอกแบบล่วงหน้า  ส่วนกลุ่มเสี่ยงจะเลือกตรวจสอบ เช่น กลุ่มเสี่ยงน้อย จะส่งเจ้าหน้าที่ไปให้ความรู้ ต่างๆ

กรมฯไม่ได้มุ่งเน้นที่จะจัดเก็บภาษีจากผู้ขายสินค้าทางออนไลน์หรือธุรกิจหนึ่งธุรกิจใดเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด นอกจากนี้การกำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งข้อมูลแก่กรมสรรพากรไม่ได้ขัดแย้งกับนโยบายสังคมไร้เงินสดของรัฐบาล เพราะการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบันมีความสะดวกรวดเร็วและช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และหากผู้ประกอบการมีประวัติทางการเงินที่ถูกต้องและโปร่งใส ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และการขอสินเชื่อต่าง ๆ อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการขึ้นไปอีก

ปกติ ประมวลรัษฎากร ระบุว่าผู้ประกอบกิจการไม่ว่ากิจการใดก็ตาม เมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องยื่นแบบเสียภาษีอยู่แล้ว ทั้งภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นไม่ว่าจะออกมาตรการ อีเพย์เม้นต์หรือไม่ ผู้ประกอบการค้าออนไลน์ หรือธุรกิจอื่นๆ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว

ปัจจุบันรายได้เฉลี่ยครัวเรือนไทยต่อเดือนอยู่ที่ 26,000 บาท รายได้ต่อปีอยู่ที่ 4-5 แสนบาท จะเห็นได้ว่าต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 2 ล้านบาท  หรือรายได้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ต่อครัวเรือนอยู่ที่ 50,000 บาทต่อเดือน ต่อปีอยู่ที่ 6 แสนบาท ก็ยังถือว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ส่งข้อมูลเช่นกัน ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและมนุษย์เงินเดือนจะไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว และไม่ได้รับผลกระทบ

Avatar photo