The Bangkok Insight

กิจการไฟฟ้าไทยจะไปทางไหน (จบ)

Avatar photo
1977

ผลกระทบของ Disruptive Technology ด้านพลังงาน

 แผงโซลาร์เซลล์

เทคโนโลยีด้านพลังงาน ที่เรียกว่า “Disruptive Technology” ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ ได้แก่ แผงโซลาร์เซลล์ และยานยนต์ไฟฟ้า

การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ของไทยเริ่มตั้งแต่ ปี 2550 โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการเชิงราคาจูงใจให้เอกชนมาลงทุน เรียกว่า ระบบอัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) ซึ่งเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สูงกว่าการผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

Adder เป็นอัตราส่วนเพิ่มจากค่าไฟฟ้าปกติ เป็นระยะเวลา 10 ปี กรณีของโซล่าร์เซลล์บนพื้นดินให้อัตรา 8.0 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี หลังจากการประกาศอัตราดังกล่าวในระยะแรกไม่มีการลงทุนมากนัก เพราะว่าต้นทุนแผงโซล่าร์เซลล์ยังแพงอยู่

แต่หลังจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปปลายปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้แผงโซลาร์เซลล์ในตลาดเหลือจำนวนมาก เนื่องจากหลายประเทศชะลอการลงทุนออกไป ทำให้ราคาแผงโซลาร์เซลล์ถูกลงอย่างรวดเร็ว มีผู้สนใจลงทุนโครงการโซลาร์เซลล์เป็นจำนวนมาก จนทำให้รัฐบาลต้องชะลอโครงการโซลาร์เซลล์ พร้อมกับลดอัตรา Adder จาก 8.0 บาท/หน่วย เหลือ 6.50 บาท/หน่วย ในช่วงกลางปี 2553

solar system 2939560 640

หลังจากนั้นในช่วงปี 2556 รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการส่งเสริมโซลาร์รูฟท๊อป โดยออกมาตรการราคา Feed-in Tariff (FIT) ซึ่งเป็นอัตราคงที่ 6.96 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 25 ปี ตั้งเป้าหมายรับซื้อจำนวน 200 เมกะวัตต์

การรับซื้อในช่วงแรกประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น การขออนุมัติตั้งโรงงาน (รง.4) การดัดแปลงอาคาร (อ.1) ซึ่งมีความยุ่งยาก มีการติดตั้งน้อย จนต้องขยายเวลารับซื้อในปี 2558-2559 แต่ปริมาณติดตั้งก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย คือ ติดตั้งได้เพียง 131 เมกะวัตต์ จากเป้าหมาย 200 เมกะวัตต์

ในปี 2559 รัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมหน่วยงานราชการ และสหกรณ์การเกษตร ติดตั้งโซลาร์ฟาร์มขายให้กับรัฐ โดยในระยะแรกกำหนดอัตรา FiT คงที่ 5.66 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 25 ปี โดยรัฐบาลรับซื้อมาได้ 64 โครงการ จำนวนการผลิตติดตั้ง 272 เมกะวัตต์  จากนั้นในปี 2560 ได้ประกาศรับซื้ออีกครั้ง โดยลดอัตรา FiT เหลือ 4.12 บาท/หน่วย สามารถรับซื้อเพิ่มมาได้อีก 35 โครงการ กำลังผลิตติดตั้ง 160 เมกะวัตต์

โดยสรุปการส่งเสริมโซล่าร์เซลล์ทั้งหมด ประกอบด้วยโซลาร์ฟาร์มจำนวน 2,965 เมกะวัตต์ โซลาร์รูฟท๊อปจำนวน 131 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาต้นทุนของแผงโซลาร์เซลล์ถูกลงอย่างมาก ทำให้มีความคุ้มทุนกับบ้านที่อยู่อาศัยและโรงงาน ที่จะติดตั้งไว้ใช้เอง ต้นทุนที่ผลิตเองต่ำกว่า 3 บาท/หน่วย ขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าในช่วงพีค (Peak) สูงถึง 4.2 บาท/หน่วย

รูปแบบการติดตั้งส่วนใหญ่เป็นหลังคา และมี่ที่ติดตั้งบนพื้นดินบ้าง เจ้าของติดตั้งเอง ใช้เอง หรือตั้งบริษัทขึ้นมาติดตั้ง และขายให้แก่เจ้าของหลังคา หรือให้เจ้าของหลังคาเป็นผู้เช่าระยะยาว ตัวอย่างหลังคาที่ติดตั้ง ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์สโตร์ มหาวิทยาลัย และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น

ณ ปัจจุบันมีการติดตั้งทั้งหมด 557 โครงการ จำนวน 149 เมกะวัตต์ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นในต้นปี 2561 ได้มีโครงการนำร่องใช้เทคโนโลยี่ Block Chain ในการซื้อขายไฟฟ้าซึ่งเป็นการซื้อขายไฟฟ้าแบบ peer to peer

car 3117778 640

ยานยนต์ไฟฟ้า ( Electric Vehicles : EV )

ในปี 2559 กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

ระยะที่ 1 (ปี 2559-2560) เป็นการเตรียมความพร้อม โดยมีมาตรการทดลองใช้รถ EV การจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ของหน่วนงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน  โดยได้จัดทำโครงการนำร่อง สนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวน 150 สถานี ใช้เงินลงทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

ระยะที่ 2 (ปี 2561-2563) เป็นระยะการศึกษาวิจัย พัฒนา มีมาตรการสนับสนุน จูงใจผู้ใช้ และผู้ประกอบการ รวมทั้งออกกฎระเบียบ ภาษี และใบอนุญาต รวมถึงอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับยานยนต์

ระยะที่ 3 (หลังปี 2564) เป็นการขยายผลการทดลองไปสู่การปฏิบัติอย่างแพร่หลาย ตั้งเป้าหมายให้มีรถยนต์ EV จำนวน 1.2 ล้านคัน ในปี 2579 มีสถานีอัดประจุไฟฟ้า 690 สถานี มีระบบ EV Smart Charging มีระบบเทคโนโลยีที่เรียกว่า Vehicle to Grid (V2G) และระบบ Grid to vehicle (G2V) มาใช้ในการบริหารระบบไฟฟ้าของประเทศ

ผลกระทบของ Disruptive Technology ต่อโครงสร้าง ESB

ประเทศไทยใช้ระบบโครงสร้างไฟฟ้าที่เรียกว่า Enhanced single Buyer (ESB) มาตั้งแต่ปี 2549 มีการจัดตั้งกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้าชั่วคราวในปี 2548 และต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในปี 2550

ขณะเดียวกันก็ได้มีนโยบายส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนมาร่วมลงทุน ทั้งระบบผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) รวมถึงผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อรับซื้อพลังงานทดแทน

พร้อมทั้งการเกิดขึ้นของ “ผู้ผลิตไฟฟ้าเองใช้เอง” ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ (Independent Power Supply ; IPS) อย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบต่อโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ESB อย่างมาก

บทบาทของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  ตามรูปแบบ ESB ในปี 2547 กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ได้ลดลงอย่างรวมเร็ว จากปี 2547 ที่มีกำลังผลิตร้อยละ 58.3 เหลือร้อยละ 31.9 ในปี 2561 ในขณะที่บทบาทของเอกชนรวมกับ IPS และนำเข้าได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41.7 เป็นร้อยละ 68.1 ในช่วงเวลาเดียวกัน

จากมาตรการราคาทั้ง Adder และ FiT ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีพลังงานทดแทนที่ได้รับการส่งเสริมจำนวน 9,935 เมกะวัตต์ แยกเป็นขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 7,814 เมกะวัตต์ และมีข้อผูกพัน 2,121 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้มีโซล่าร์เซลล์ 3,245 เมกะวัตต์

ทำให้เกิดปารกฏการณ์  “Duck curve”  คือ ลักษณะการผลิตไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าในตอนกลางวันลดลงเป็น “รูปหลังเป็ด”  เพราะถูกโซล่าร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าทดแทน แต่ในตอนเย็นการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์จะลดลงอย่างรวดเร็ว

กฟผ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศ ต้องเตรียมโรงไฟฟ้าสำรองไว้ในช่วงดังกล่าวจำนวนมาก ลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นในช่วงพีคของระบบไฟฟ้า ในปี 2559 ซึ่งเกิดพีคของระบบตอนกลางคืนแทนที่จะเป็นตอนกลางวันเหมือนปีที่ผ่านมา เป็นต้น

นอกจากนี้ลักษณะของพลังงานทดแทนอื่นๆ เช่น ลม  มีลักษณะการผลิตที่ไม่มีเสถียรภาพ (Instability) ทำให้ กฟผ. ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศมีความยุ่งยากในการบริหารจัดการมากขึ้น

wind turbine 2218457 640

การพยากรณ์ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะมีความสำคัญ เพื่อรองรับความผันผวนของไฟฟ้าที่จะเข้ามาในระบบ ภาระของการไฟฟ้าจะมีมากขึ้นทั้งในด้านการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าที่มีความหลากหลาย ด้านต้นทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบไฟฟ้า และด้านการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าทั้งในระบบและนอกระบบไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของระบบโดยรวมสูงขึ้น

การสำรองไฟฟ้าจะมีความสำคัญ เพื่อรองรับความผันผวนจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ปริมาณสำรองขั้นต่ำ ( Minimum Reserve Margin) ที่กำหนดไว้ร้อยละ 15 ในปัจจุบัน จะต้องมีการศึกษาทบทวนว่าเพียงพอหรือไม่

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นจากระบบการซื้อขายไฟฟ้า Block Chain Technology จะกระทบโครงสร้างอัตราไฟฟ้าในปัจจุบันที่ไม่สนับสนุนกับการซื้อขายแบบ peer to peer trading การจัดหาไฟฟ้าไม่จำเป็นที่จะต้องออกประกาศรับซื้อเป็นครั้งๆ อีกต่อไป

รัฐเองต้องออกมาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อรองรับการปฏิบัติการของระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง รวมทั้งรองรับระบบกักเก็บพลังงาน และมาตรฐานความปลอดภัยทางไซเบอร์ กำหนดหลักเกณฑ์กติกาในการแข่งขันของตลาดไฟฟ้า รวมถึงอัตราค่าบริการอื่นๆ เช่น Wheeling Charge และ อัตราไฟฟ้าสำรอง เป็นต้น

นอกจากนี้ภาครัฐจะต้องจัดทำ “ระเบียบกติกา” ให้เกิดสภาพแวดล้อมจากการแข่งขันที่เป็นธรรม รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง ในตลาดไฟฟ้าทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ “การไฟฟ้าทั้งสามการ” ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถาพแวดล้อมใหม่ด้วย และในท้ายสุดโครงสร้างไฟฟ้า ESB  ที่ใช้มานานมากกว่า 14 ปีก็จะต้องปรับเปลี่ยนไปโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้