CSR

‘อิชิตัน’ หนุนชาวอาข่าเสริมคุณค่าชาออร์แกนิค

บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรในจังหวัดเชียงรายต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งมอบชาเขียวคุณภาพดีของชุมชน ให้เดินทางสู่มือผู้บริโภค และเป็นอีกแรงผลักดันให้จังหวัดเชียงรายก้าวไปสู่การเป็น “นครแห่งชา” ระดับโลก ด้วยโครงการ  “ชาคืนต้น” ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกชา ในพื้นที่ดอยพญาไพร อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งปลูกชาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตใบชารายหลักของอิชิตัน เพราะเห็นคุณค่าและความสำคัญของ ทรัพยากรทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมอันมีค่าของเกษตรกรผู้ปลูกชาชาวอาข่า

สำหรับโครงการชาคืนต้นปีนี้ อิชิตันมุ่งเน้นให้ความรู้ด้านเกษตรออร์แกนิค โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่หาได้ในท้องที่ มาผ่านกระบวนการเกษตรผสมผสาน ช่วยดูแลรักษาต้นชาให้เติบโตอย่างปลอดสารพิษ พร้อมสร้างองค์ความรู้ให้ชุมชน รู้จักการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ “อาข่าคิด”

Khun Tan Passakornnatee 1
นายตัน ภาสกรนที

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ใบชาคือหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจของอิชิตัน  เราปฏิบัติต่อชุมชนชาวเขาเผ่าอาข่าบนดอยพญาไพร ในฐานะหนึ่งในสมาชิกครอบครัวของอิชิตันเสมอมา เราจัดทำแผนระยะยาวในการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น และกำลังสร้างแรงบันดาลใจในการต่อยอดผลผลิต เพื่อให้เขาสามารถสร้างรายได้จากทรัพยากรที่มีอยู่ สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใส่ไอเดีย ดีไซน์ แต่คงไว้ซึ่งความเป็นชนเผ่า ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เพื่อให้ชุมชนเรียนรู้แนวทางการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการทำเกษตรกรรมอย่างมั่นคงและยั่งยืน

โครงการชาคืนต้น ยังได้เชิญบุคลากรที่มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมชา อาทิ  ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล หัวหน้าสถาบันชา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ดร.เกริก มีมุ่งกิจ และอาจารย์พินิจ ภูมิแดง ปราชญ์เกษตรผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรอินทรีย์ รวมถึงลี อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์ อาข่า อาม่า ชาวอาข่ารุ่นใหม่ผู้เปลี่ยนผลผลิตในพื้นที่ให้กลายเป็นแบรนด์ดังระดับโลก เข้าร่วมโครงการ

ICHITAN CHA AKHA CSR 2018 4
กิจกรรมโครงการชาคืนต้น

ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล หัวหน้าสถาบันชา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า พื้นที่ดอยพญาไพรมีทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ภูมิประเทศที่ตั้งอยู่บนดอยสูงทำให้อากาศ และสภาพดินเหมาะสม  ชาอาข่าจึงสามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าได้ด้วยการพัฒนาให้เป็นแหล่งปลูกชาออร์แกนิค ปัจจุบันปริมาณความต้องการชาอินทรีย์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้ผลิตชารายใหญ่ของโลก อาทิ จีน และ อินเดีย ยังไม่สามารถผลิตชาอินทรีย์ได้ตามปริมาณความต้องการ

ดังนั้นการส่งเสริมการปลูกชาอย่างที่อิชิตันทำอยู่นี้ จึงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง  สิ่งสำคัญต่อไปคือการจับมือร่วมกันของกลุ่มของเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้จัดจำหน่ายให้เข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ในอุตสาหกรรมชาในประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาล ที่จะผลักดันให้จังหวัดเชียงรายเป็นนครแห่งชาและกาแฟระดับโลกภายในเวลา 5 ปี เพื่อดึงดูดทั้งผู้ดื่มชาและนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ของชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ICHITAN CHA AKHA CSR 2018
แพคเกจอิชิตัน ชุดอาข่าคิด

ดร.เกริก มีมุ่งกิจ ปราชญ์เกษตร หนึ่งในวิทยากร ที่มาให้ความรู้ด้านเกษตรผสมผสานเพื่อการปลอดสารพิษ กล่าวว่า ชาวอาข่าถือเป็นชนเผ่าที่น่าอิจฉา เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อยู่รอบตัว และอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ลักษณะทางภูมิศาสตร์เหมาะ การนำความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์เข้ามาประยุกต์ นอกจากช่วยประหยัดต้นทุนให้กับการปลูกชาในพื้นที่ได้ ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคในปัจจุบัน กระบวนการที่ใช้ก็ล้วนนำมาจากทรัพยากรที่หาได้ในท้องถิ่น นำมาดัดแปลงเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ หรือการนำกิ่งไม้ที่ตกตามป่า มาเผาให้เกิดน้ำส้มควันไม้ เพื่อใช้ไล่แมลงศัตรูพืช จนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีใดๆ

นายธงชัย ลาชี เกษตรกรผู้ปลูกชาชาวอาข่า กล่าวว่า ชุมชนได้รับความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรรมชาจากอิชิตันอย่างต่อเนื่อง เราได้รับความรู้ทั้งการเพิ่มปริมาณการผลิต การเพิ่มมูลค่า โดยยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชนเผ่า รวมไปถึงการรักษาคุณภาพวัตถุดิบให้ได้มาตรฐานสากล ที่จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจและตอบสนองความต้องการของตลาด เราทุกคนหวังว่า “ชาอาข่า” จะทำให้ผู้บริโภคได้ซึมซับวิถีชีวิต เรื่องราวจิตวิญญาณที่ผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน  จนทำให้ชาอาข่ามอบประสบการณ์ที่พิเศษกว่าการดื่มชาเขียวทั่วไป ให้คนไทยทุกคนร่วมภูมิใจกับพวกเรา

Avatar photo