COLUMNISTS

โรงเรียนมหาชน ทุนมาจริยธรรมจาง ?  

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
171

กระแสค้าน บมจ.เอสไอเอสบี ดำเนินธุรกิจโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ ของนักลงทุนสิงคโปร์ ที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เข้าซื้อขายหุ้นใน ตลาดหลักทรัพย์ฯตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน  ที่ผ่านมา เป็นที่สนใจของสังคมในวงกว้าง

ยิ่งมีเสียงค้านจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ที่ยกจริยธรรมมาเป็นเหตุผลค้าน การระดมทุนเข้าตลาดหุ้นของ เอสไอเอสบี ได้ยกระดับภาพของสถานการณ์ กลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่าง ทุน กับ จริยธรรม   

หมอธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า หากพูดตามกฎหมายถูกต้อง แต่ถ้าพูดตามหลักจริยธรรม ต้องดูว่าตรงตามเจตนารมณ์ของการศึกษาประเทศหรือไม่  

คุณหมอยังกล่าวถึงประเด็นเรื่องภาษีด้วยว่า ธุรกิจการศึกษาได้รับการยกเว้นภาษีเมื่อโรงเรียนระดมทุนเข้าตลาดหุ้นให้ได้กำไรมากๆ ก็ไม่ต้องเสียภาษีมากขึ้นหรือไม่   

ส่วน จุติ ไกรฤกษ์  เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ให้ฝ่ายกฎหมายไปยื่นค้านเอสไอเอสบีเข้าตลาดหุ้นต่อศาลปกครอง  ตั้งคำถามว่า เมื่อโรงเรียนเข้าตลาดหุ้นจะมุ่งกำไรสูงสุดที่จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาหรือไม่

ด้าน รพี สุจริตกุล เลขาธิการ กลต. บอกกับสื่อตามแบบแผนว่า กลต.ไม่ได้มีเกณฑ์ห้ามไว้ และหน้าที่ของกลต. คือ ดูว่าเปิดเผยข้อมูลถูกต้องหรือไม่ ก่อนโบ้ยให้หน่วยงานที่กำกับการศึกษาโดยตรงควรดูแลเรื่องนี้ และในแถลงการณ์ล่าสุดของ กลต.ยังบอกด้วยว่า ก่อนอนุมัติ ให้เอสไอเอสบีเข้าตลาดหุ้น ได้สอบถามไปยังหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องแล้วได้คำตอบว่าไม่มีเกณฑ์ห้ามไว้  อีกทั้งได้รับคำยืนยันจาก ฝ่ายบริหารของเอสไอเอสบีว่า โรงเรียนมุ่งพัฒนาการศึกษาของไทย โดยไม่หวังกำไรสูงสุด

sssss

ส่วน นายยิว ฮอคโคว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอสไอเอสบี  ได้ขี้แจงในวันที่ SISB  เข้าเทรดในตลาดหุ้นวันแรกว่า บริษัททำถูกต้องตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และกลต. และยืนยันว่า (เขา)ตั้งใจพัฒนาการศึกษาไทยโดยไม่ได้ทำอะไรผิด บริษัทมีจริยธรรม โปร่งใส ทำการศึกษานำธุรกิจ ไม่ใช่ธุรกิจนำการศึกษา

ที่มาที่ไปของ เอสไอเอสบี เจ้าของกิจการโรงเรียนนานาชาติสิงคโปร์ ที่เปลี่ยนเป็นโรงเรียนมหาชนแห่งแรกของไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2544 โดยนายยิวเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คนหนึ่ง  ก่อนขยายสาขาเพิ่มเป็น แห่ง และมีเครือข่ายที่เชียงใหม่อีก แห่ง ธุรกิจโตต่อเนื่องตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมโรงเรียนนานาชาติ  แต่ภาระหนี้ก็เพิ่มตามการขยายตัวของธุรกิจ  ผู้บริหารจึงวางแผนเข้าตลาดเพื่อหาทุนมาลดสัดส่วนหนี้ต่อทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  แต่เงินทุนที่ได้มามาพร้อมกับเสียงค้านดังที่ลำดับเรื่องไว้ข้างต้น     

เรื่องเล่าเกี่ยวกับโรงเรียนเข้าตลาดหุ้นมีมานานแล้ว โรงเรียนเซนต์จอห์น  หรือ เดอกองเบลอ ดุสิตธานี  โรงเรียนสอนทำขนม และ อาหารสไตล์ฝรั่งเศส ในเครือดุสิธานี  เจ้าของเคยขยับเรื่องนี้มาแล้ว  แต่ไม่มีรายใดได้รับการอนุมัติจากกลต. กระทั่งเอสไอเอสบีทำสำเร็จเป็นรายแรก จนได้รับการโจษจันไปทั่วซึ่งคงสร้างความตื่นตัวให้ธุรกิจการศึกษาเอกชนที่มีการขยายเครือข่ายโรงเรียนออกไปหลายแห่งไม่น้อย 

 สถาบันการศึกษาเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นไม่ใช่เรื่องใหม่  รศ.ดร. จิรศักดิ์ ปิยะจันทร์ ประธานกรรมการ บมจ. เวิล์ด คอร์ปอเรชั่น เจ้าของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น  เวสเทิร์น  เนชั่น เป็นต้น   ยืนยันกับผู้เขียน ผู้บริหารรายนี้ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยในเครือบริษัทใหญ่ๆ สองสามแห่งให้ผู้เขียนฟังที่อยู่ในข่ายระดมทุนจากตลาดหุ้นมานานแล้ว      

 ไม่ว่าที่ผ่านมาโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาจะมีประสบการณ์กับการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นอย่างไร แต่กรณีโรงเรียนมหาชนเอสไอเอสบี เข้าซื้อขายหุ้นในตลาดได้ขยายประเด็นความเหมาะสมถึงประเภทธุรกิจที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นให้กว้างออกไป 

 แน่นอน มีผู้เห็นด้วยกับหมอธีระเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการไม่น้อย ที่ตั้งคำถามเชิงจริยธรรมว่า การแปลงเป็นโรงเรียนมหาชน เอสไอเอสบี นั้นขัดกับเจตนารมณ์ การศึกษาของประเทศหรือไม่

กลุ่มคนที่เห็นด้วยกับมุมมองของ หมอธีระเกียรติ เหตุผลหนึ่งเพราะไม่ประสงค์เห็นภาพการประชุมผู้ปกครองประจำปีมารับรู้รับทราบแนวทางการเรียนการสอนประจำปีของลูก พร้อมรับเอกสารเชิญชวนให้จองซื้อหุ้นเป็นแน่ เนื่องจากโรงเรียนในสายตาของคนทั่วไป  ควรมีท่วงทำนองดำเนินการแบบมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร แม้รับรู้ว่าโรงเรียนมีค่าใช้จ่าย และมักใช้คำว่าค่าธรรมเนียมการศึกษาแทนรายได้ก็ตาม

กระแสค้านโรงเรียนเข้าตลาดหุ้นจากหลายๆภาคส่วนเหมือน ส่งคำถามไปยัง กลต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลายๆว่า  ควรจะมีการระบุกิจการที่ไม่สามารถเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นให้ชัดเจน  เผื่อเกิดกรณีอย่างโรงเรียนซึ่งถือว่า “เป็นธุรกิจที่เป็นประโยชน์ ต่อเศรษฐกิจและ สังคมของประเทศ” ตรงเกณฑ์เข้าตลาดหุ้นตามกฎหมาย หากถูกยกประเด็นว่าการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นแสดงว่ามุ่งหวังกำไรสูงสุดซึ่งขัดต่อจริยธรรม ในการทำธุรกิจโรงเรียนมาค้านการเข้าระดมทุนจากตลาดหุ้น   กลต.จะได้มีคำตอบให้สังคมมากกว่า ไม่ขัดต่อกฎหมาย

แต่ในอีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า ปัจจุบันโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเอกชน ก็ดำเนินการในรูปแบบธุรกิจเต็มตัว เช่นเดียวกับกิจการทั่วๆ ไป หรือ มหาวิทยาลัยของรัฐที่ออกนอกระบบ พัฒนาหลักสูตรพิเศษออกมา ตอบสนองความต้องการของตลาด เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเองมากกว่ามุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ  

ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยล้วนต้องการรายได้ ไปหล่อเลี้ยงองค์กร และพัฒนาสถาบัน และถ้าพูดตามความเป็นจริงแล้ว จริยธรรมคงไม่จางลงเพราะโรงเรียนเปลี่ยนวิธีการหาเงินทุน จากกู้เงินแบงก์มาระดมทุนในตลาดหุ้น แน่นอน..