Lifestyle

‘โขนไทย-กัมพูชา’ ต่างกันตรงไหน

ก่อดราม่ากันมาตั้งแต่กลางปีถึงเรื่องศิลปะการแสดง “โขน” ว่าเป็นของใครกันแน่ ระหว่างไทย กับกัมพูชา ที่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ ต่างก็ยื่นเรื่องต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) เพื่อขอขึ้นทะเบียนศิลปะการแสดงประเภทนี้ ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (ไอซีเอช)

40854039 10215390912838707 3889280555123998720 o

ล่าสุด คณะกรรมาธิการพิจารณามรดกโลก ในที่ประชุมองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งจัดขึ้นที่ พอร์ตลูอิส ประเทศมอริเชียส ได้ตัดสินให้ “ละครโขน” ของกัมพูชา และ “โขน” ของไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ทั้งคู่ แต่แตกต่างกันไปคนละสาขา โดยของไทยเป็นสาขาเอกลักษณ์ของชาติ ส่วนของกัมพูชาเป็น สาขาเสี่ยงต่อการสูญหายและสมควรอนุรักษ์ไว้

แล้ว “โขน” ของไทย กับกัมพูชาแตกต่างกันตรงไหน และใครกันแน่ที่เป็นต้นตำรับ

ผศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง สาขานาฏศิลป์ ปี 2548 เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า การจะชี้ชัดว่าวัฒนธรรม “โขน” ทั้งหมดเป็นของใครเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะเป็นวัฒนธรรมที่ไทย และกัมพูชามีร่วมกัน

แต่การแสดง “โขน” ในรูปแบบที่คนไทยเห็นในปัจจุบัน ถือเป็นการแสดงของไทย เพราะถูกพัฒนามาจนกระทั่งมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ในปัจจุบันที่จะเล่นในเรื่อง “รามเกียรติ์” บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1

โขนไทยมีหลักฐานบันทึกไว้ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ อัครราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสที่เข้ามาในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วบันทึกสิ่งที่พบเห็นไว้ โดยมีการบันทึกว่าลาลูแบร์พบการแสดงโดยสวมหน้ากากในช่วงที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา ขณะนั้นยังไม่ได้เล่นเป็นเรื่องราว แต่เล่นเพียงตอนที่รบกันเท่านั้น

ผศ.ดร.ศุภชัย บอกด้วยว่า ตั้งแต่สมัยก่อนที่อยู่รวมกันเป็นสังคมสุวรรณภูมิ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการรับวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น ความเชื่อ ศาสนา มาจากอินเดีย โดยผ่านเข้ามาทางขอม แต่ก็ไม่ได้รับมาทั้งหมด แม้กระทั่งโขนเองก็มีการพัฒนาจนกระทั่งสมัยปัจจุบันที่มีการแสดงในโรงละครและมีฉากต่าง ๆ ประกอบ

สำหรับทางกัมพูชาก็มีศิลปะรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า “ลโขล” หรือ “ละคร โขน” ซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ผู้แสดงเป็นเพศหญิงทั้งหมด ต่างจากโขนของไทยที่จะใช้เพศชายในการแสดง รวมถึงลักษณะท่ารำก็มีความแตกต่างกัน

ดังนั้น การที่จะสรุปว่าวัฒนธรรมโขนทั้งหมดเป็นของใครเป็นสิ่งที่ตอบได้ยาก เนื่องจากทั้งไทยและกัมพูชาก็มีการ “เลื่อนไหลทางวัฒนธรรม” ซึ่งกันและกันมาโดยตลอด คือการรับวัฒนธรรมเข้ามา ขณะเดียวกันก็แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมออกไปด้วย แต่ก็มีการพัฒนารูปแบบของโขนแต่ละประเทศในแบบฉบับของตนเองจนเป็นอัตลักษณ์

11771 LRG

ขณะที่เฟซบุ๊ก เพจ ASEAN “มอง” ไทย ให้ความแตกต่างระหว่างโขนไทย กับ ละคร โขน ของกัมพูชาไว้ว่า โขนไทย หรือ “Khon” จดทะเบียนกับ ไอซีเอช ยูเนสโก ปีนี้ ในนามว่า “Khon masked dance drama in Thailand” คือการแสดงโขนโดยครอบคลุมทั้งหมด อยู่ในสภาวะปกติ (RL) หรือ Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity.

ส่วน ละคร โขน กัมพูชา หรือ Lkhon Khol Wat Svay Andet (ละครโขนวัดสวายอันเด็ต) จดทะเบียนกับไอซีเอช ยูเนสโกปีเดียวกับไทย แต่กัมพูชาจดทะเบียนเสร็จก่อน 1 วัน เนื่องจากละครโขน กัมพูชาอยู่ในหมวด 10.a ซึ่งมีเพียง 7 ประเทศ เป็นหมวดของวัฒนธรรมที่ใกล้ตายหรือใกล้สูญหาย ต้องเร่งรักษา และป้องกัน อยู่ในสภาวะอันตราย (USL) หรือ Intangible Cultural Heritage in Need of Urgent Safeguarding ซึ่งข้อมูลที่รายงานไว้นั้น กัมพูชาเหลือครูละครโขนเพียง 5-10 คนเท่านั้น ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้สูงอายุ

ขณะข้อมูลอีกทางหนึ่ง ระบุว่า คณะโขนวัดสวายอันเด็ต เรียนโขนมาจากขนบโขนไทยโบราณ ในราชสำนักกัมพูชา ที่นักองค์ด้วงขอมาจากราชสำนักกรุงเทพ เป็นโขนชายล้วน หรือที่เรียกกันว่าคณะเชลยศักดิ์ ซึ่งต่อมาของไทยขาดผู้สืบทอดไป

41109619 10215390898758355 2087477745079549952 o

เมื่อสิ้นนักองค์ด้วงแล้วคณะผู้ชายหมดความนิยมลง ในราชสำนักเขมรจึงเลิกเล่นโขนผู้ชายเหมือนกับสยาม พวกมหาดเล็กเก่าเอาของในวังมาเล่นกันต่อนอกวัง จึงเหลือเวอร์ชั่นชายที่วัดสวายอันเด็ต

ต่อมาละคร โขนเขมรเจอพิษภัยสงคราม ครูละครดีๆ หายไปเกือบหมด คณะโขนวัดสวายอันเด็ตรอดมาได้เพียงคณะเดียว แต่เพราะเป็นคณะเชลยศักดิ์ เครื่องแต่งกายหัวโขนต่างๆเป็นของพื้นบ้าน ปัจจุบันจึงเพี้ยนไปหมด

ดังนั้นการจดทะเบียนของกัมพูชาล่าสุดได้ระบุว่า ละครโขน ใช้แสดงเพื่อขอฝนหรือเล่นเพื่อการเฉลิมฉลอง ฯลฯ

40936000 10215390906798556 4230168432915513344 o

ละคร โขนกัมพูชา ปัจจุบันแยกได้ 2 ชนิด

  1. ละครโขนวัดสวายอันเด็ต ที่พึ่งจดทะเบียนไปล่าสุดพร้อมไทย
  2. ละครโขนราชสำนักกัมพูชา ในส่วนนี้ไม่ได้จดทะเบียนในนามโขนแต่อย่างใด แต่ในปี 2551 มีการจดทะเบียนรวมว่า Royal ballet of Cambodia 2008 คือการแสดงทุกอย่างของราชสำนักกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นระบำอัปสรา รำถวาย รำดอกไม้ รำนก รวมถึงระบำที่เจ้าหญิงบุพผาเทวีได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น ฯลฯ โดยในนั้นมีละครโขนอยู่ด้วย
    การจดทะเบียนอ้างอิงแต่เพียงการร่ายรำ การจับ การวางท่า ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นการแสดงอะไร ในเอกสารมีภาพแกะสลักบนปราสาทหิน เช่น พระนารายณ์ร่ายรำ, พระวิษณุร่ายรำ, พระอิศวรร่ายรำ ไปจนถึงนางอัปสรานครวัดร่ายรำ หรือแม้แต่เทพฮินดูแสดงปาฏิหาริโดยการร่ายรำ ดังนั้นในหัวข้อ Royal ballet of Cambodia 2008 คือการขึ้นทะเบียนศิลปะการร่ายรำของราชสำนักกัมพูชา

ทางด้านเฟซบุ๊ก Kornkit Disthan กล่าวถึงละครโขนวัดสวายอันเด็ตว่า คณะโขนวัดสวายอันเด็ตไม่ใช่ของไทย มีวิวัฒนาการของตัวเองที่ห่างจากไทยมาพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายที่ออกพื้นๆ ตอนนี้ยังหาคนสืบทอดได้ยาก ทางกัมพูชาขอให้ยูเนสโกประสานงาน “เพื่อนบ้าน” ให้ไปช่วยอนุรักษ์ ซึ่งเข้าใจว่าก็คือ ไทยนั่นเอง (ก็เรียกไทยไปเลยง่ายกว่า) ปัญหาคือ โขนไทยวิจิตรพิสดารกว่า เกรงว่าจะครอบของพื้นๆ เวอร์ชั่นเขมรจนเสียของเดิมไป  ที่เรียกว่าวัฒนธรรมร่วม ร่วมแค่บทรามเกียรติ์เท่านั้น รายละเอียดปลีกย่อยของใครของมัน

45140257 2084680801594678 1041986948937285632 o

ส่วน สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ เคยมีความเห็นเกี่ยวกับที่มาของโขนไว้ว่า “โขนเป็นการละเล่นเรื่องรามายณะ ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาพรามหมณ์ แรกมีเก่าสุด (เท่าที่พบหลักฐานขณะนี้) ในราชสำนักขอมกัมพูชา ที่โตนเลสาบ (ทะเลสาบ) เมืองเสียมเรียบ”

“ต่อจากนั้น ราชสำนักขอมกัมพูชาส่งแบบแผนการละเล่นรามายณะ ให้ราชสำนักขอมอโยธยา-ละโว้ (ยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา) ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ราชสำนักไทยกรุงศรีอยุธยาสืบจากราชสำนักขอมอโยธยา-ละโว้ ก็สืบทอดการละเล่นรามายณะแบบขอมไว้ด้วย แต่ปรับเปลี่ยนเรียกรามยณะด้วยคำใหม่ว่ารามเกียรติ์”

แต่กว่าโขนจะมาเป็นโขนในทุกวันนี้ สุจิตต์ อธิบายว่า การละเล่นชนิดนี้ค่อยๆพัฒนาขึ้นมาจากวัฒนธรรมภายนอกและภายในของบรรดาราช สำนักจารีตโบราณในภูมิภาคอุษาคเนย์ กล่าวคือ ตัวเนื้อเรื่องได้มาจากวัฒนธรรมภายนอกคืออินเดียโดยเฉพาะอินเดียใต้ และเครื่องแต่งกายก็ได้มาจากอินเดียและเปอร์เซีย เช่น มงกุฎ ชฎา และผ้าต่างๆ

ที่มา: เฟซบุ๊ก เพจ  ASEAN “มอง” ไทย,  มเหนทรบรรพต, Kornkit Disthan, เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม, อมรินทร์ทีวี, UNESCO

Avatar photo