Economics

 ป่วนหนัก! ยื้อชงครม. ‘ตั้งผู้ว่ากฟผ.คนใหม่’ 

ระบบส่ง

 

 ตั้ง “วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย” ผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ “วุ่น” พลังงานยื้อเสนอเข้าครม. เหตุมีเรื่องร้องเรียนไปยังรัฐบาล กรณีประมูลสายส่ง ขณะคนเก่าหมดวาระสิ้นเดือนนี้ คาดบอร์ดกฟผ.เสนอผู้รักษาการแทนจันทร์หน้า       

หลังจากคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ที่มีนายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นประธาน  มีมติเห็นชอบเสนอชื่อ นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย  รองผู้ว่าการพัฒนาระบบส่ง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกฟผ. คนที่ 14 ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 แทน นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 เมษายนนี้

ทั้งนี้ตามเงื่อนไขแล้วกฟผ. ต้องนำเสนอกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเพื่อนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ

“จนถึงขณะนี้กระทรวงพลังงาน ยังไม่สามารถนำชื่อผู้ว่ากฟผ.คนใหม่เสนอครม.ได้ เนื่องจากติดปัญหาการร้องเรียนของเอกชนรายหนึ่ง ที่เข้าร่วมประมูลระบบสายส่ง  กฟผ.มีการร้องเรียนไปยังรัฐบาลเพื่อขอให้มีการตรวจสอบการประมูล ปกติการร้องเรียนของผู้ที่ไม่รับคัดเลือกมีทั้งที่ร้องไปยังบอร์ดกฟผ. และกฟผ.แต่เรื่องนี้ร้องไปที่รัฐบาล” แหล่งข่าวจากกฟผ. กล่าวและว่าเรื่องนี้กฟผ.ได้ส่งข้อมูลประกอบหลักฐานชี้แจงไปแล้ว ไม่มีการทุจิตแต่อย่างใด การพิจารณาก็ดำเนินการไปตามหลักการของกฟผ.

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ยังไม่มีการนำชื่อผู้ว่ากฟผ.คนใหม่เข้าครม.แต่กาปรระชุมครม.วันที่ 24 เมษายนนี้ ยังไม่มั่นใจว่าจะมีการเสนอชื่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในรัฐบาล แต่ในส่วนของกฟผ.แล้ว ผู้ว่ากฟผ.คนปัจจุบันจะหมดวาระในวันที่ 30 เมษายนนี้

ดังนั้นหากยังไม่มีการเสนอชื่อผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ได้ บอร์ดกฟผ.ก็จะต้องเป็นผู้พิจารณาว่าจะมีการแต่งตั้งให้รองผู้ว่ากฟผ.คนไหนขึ้นมารักษาการไปก่อนระหว่างนี้ บอร์ดกฟผ.จะมีการประชุมในวันที่ 23 เมษายนนี้ คาดว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้

“ระหว่างที่ยังไม่มีผู้ว่ากฟผ.ใหม่ อาจมีปัญหาต่อการปฎิบัติงานของกฟผ.แน่นอน เพราะงานที่เป็นนโยบายใหญ่ๆ ผู้ที่รักษาการไม่น่าจะมีอำนาจเต็มทำอะไรได้ และไม่แน่ใจว่าครม.จะอนุมัติตั้งผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ได้เมื่อไหร่ จริงๆปัญหาการร้องเรียนของกฟผ.กับผู้ที่ประมูลงานไม่ได้ มีมาตลอด ทุกครั้งก็ชี้แจงกันไป แต่รอบนี้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลอาจจะเกรงว่า ต้องดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนก็เป็นได้ ”

แหล่งข่าว กล่าวว่าปกติแล้วการประมูลสายส่งของกฟผ.จะมีอยู่ 2 แบบ 1.แบบซองเดียว และ 2.แบบ 2 ซอง คือวองราคาและซองเทคนิค ส่วนแบบซองเดียวเมื่อมีผู้เสนอราคาก็จะรู้ทันทีว่าแต่ละรายเสนอราคาเท่าไหร่ บางทีผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดมักคาดหวังว่าจะได้รับคัดเลือก

เมื่อพิจารณาถึงด้านเทคนิคอุปกรณ์มีตัวที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อคำนวณราคาบวกรายการก็ไม่ได้ต่ำตามที่เสนอมา อาจจะแพงกว่ารายอื่นก็ได้ เลยทำให้เป็นประเด็นปัญหา แต่หากแบบ 2 ซอง เราก็จะพิจารณาซองเทคนิคก่อน หากใครไม่ผ่านเราก็จะคืนซองเลย จะไม่พิจารณาซองเงิน เพราะถือไม่ผ่านซองเทคนิค ปกติแบบ 2 ซองไม่ค่อยมีปัญหา ที่เจอปัญหามากๆส่วนใหญ่เป็นแบบซองเดียว

สำหรับนายวิบูลย์ เกิดวันที่ 4 ธันวาคม 2503 อายุ 57 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมไฟฟ้า) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท บริหารธุรกิจ (การจัดการ) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมระบบส่งปี 2560 ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการพัฒนาระบบส่ง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight