COLUMNISTS

เทียบความคุ้มค่าใช้น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้า

Avatar photo
2460

เห็นข่าวผู้บริหาร กฟผ.เยี่ยมโรงไฟฟ้าบางปะกง พร้อมประกาศใช้โรงไฟฟ้าบางปะกงผลิตไฟฟ้า 50% จากน้ำมันปาล์ม โดยจะรับซื้อน้ำมันปาล์มที่ท่าเรือแหลมฉบังกิโลกรัมละ 18 บาท และเริ่มผลิตไฟฟ้า 15 มกราคม – 16 กรกฎาคม 2562 รวมระยะเวลา 6 เดือน เพื่อดูดซับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) จำนวน 1.6 แสนตันแล้ว

โรงไฟฟ้าบางปะกง
โรงไฟฟ้าบางปะกง

แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยเรื่องของการไม่ใช้โรงไฟฟ้ากระบี่ แต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องดี ขอขอบพระคุณที่คิดช่วยเหลือเกษตรกร แม้จะเป็นความช่วยเหลือที่มาอย่างล่าช้า และยังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ราคาปาล์มขยับขึ้นอย่างที่คาดการณ์ เพราะวันนี้เกือบสองสัปดาห์ที่รัฐบาลประกาศนโยบายราคาน้ำมันปาล์มยังทรงตัวที่ 14 บาท ราคาผลปาล์มหน้าลานยังยืนอยู่ที่ 2.5 บาทเหมือนก่อนประกาศ

ถ้ายังจำกันได้ ผู้เขียนได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำด้วยการนำน้ำมันปาล์มไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่มาแล้วหลายครั้ง รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ก็ทำหนังสือเสนออย่างเป็นทางการไปยังรัฐบาลด้วย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ

แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์สอดรับกับความต้องการของชมรมคนปลูกปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ที่เห็นเหมือนกันว่า การนำน้ำมันปาล์มไปผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากจะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์จากการปรับปรุงเครื่องไม่ต่ำกว่า 2 เดือนกว่าจะเดินเครื่องได้แล้ว ยังมีต้นทุนเพิ่มจากค่าขนส่งราว 160 ล้านบาทไปโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย

ทางกฟผ.โหมประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนถึงเหตุผลที่ไม่ใช้โรงไฟฟ้ากระบี่แต่ไปใช้โรงไฟฟ้าบางปะกงแทน โดยอ้างปัจจัย 3 ประการ ซึ่งผู้เขียนมีคำถามฝากถึง กฟผ.ทั้ง 3 ข้อ คือ

1. อ้างถึงเรื่องความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ว่า โรงไฟฟ้าบางปะกง ตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพ และภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งธุรกิจ อุตสาหกรรม และเขตที่อยู่อาศัยที่หนาแน่น ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก จะทำให้เกิดความมั่นคงและลดความสูญเสียในระบบไฟฟ้า

ถามว่า ที่ผ่านมากฟผ.อ้างมาโดยตลอดว่าพื้นที่ภาคใต้มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางไฟฟ้า ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วเหตุใดไม่ใช้น้ำมันปาล์มผลิตที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องไฟฟ้า เพราะมีส่วนช่วยให้เกิดความมั่นคงทางไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ได้เช่นเดียวกัน ทำไมจึงไม่เลือกทำที่โรงไฟฟ้ากระบี่

กระบี่
โรงไฟฟ้ากระบี่

2. กฟผ.บอกว่าโรงไฟฟ้าบางปะกงมีกำลังการผลิต 576 เมกะวัตต์ ใหญ่กว่าโรงไฟฟ้ากระบี่ สามารถระบายน้ำมันปาล์มดิบได้ถึงเดือนละ 3 หมื่นตัน ซึ่งจะทำให้ใช้น้ำมันปาล์มดิบได้ตามเป้าหมาย 1.6 แสนตัน ในเวลา 6 เดือน ขณะที่โรงไฟฟ้ากระบี่ใช้ได้เพียงเดือนละ 1.3 หมื่นตัน ต้องใช้เวลา 13 เดือน

ถามว่า กฟผ.คิดบนฐานการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มผสมกับน้ำมันเตา โดยไม่ได้คิดถึงการผลิตไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันปาล์ม 100 % ซึ่งหากทำที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ในหนึ่งวันหากเดินเครื่องยนต์ 24 ชั่วโมง จะสามารถใช้น้ำมันปาล์ม 1,800 ตันต่อวัน เท่ากับใช้น้ำมันปาล์ม 5.5 หมื่นตันต่อเดือน

หากเราเดินเครื่องยนต์ 12 ชั่วโมงก็ใช้น้ำมันปาล์ม 2.25 หมื่นตันต่อเดือน เฉลี่ยแล้วภายใน 3 เดือนจะดูดซับน้ำมันปาล์มที่ล้นสต็อกอยู่ไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนตัน ขณะที่โรงไฟฟ้าบางปะกงต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนจึงจะดูดซับน้ำมันปาล์มได้ 1.6 แสนตัน ทำที่โรงไฟฟ้ากระบี่จึงเร็วกว่าการไปผลิตที่โรงไฟฟ้าบางปะกงถึงหนึ่งเท่าตัว ทำไมจึงไม่เลือกทำที่โรงไฟฟ้ากระบี่

3. กฟผ.ให้ตัวเลขเรื่องต้นทุนการผลิตไว้ว่า โรงไฟฟ้าบางปะกงใช้น้ำมันปาล์มดิบผสมกับก๊าซธรรมชาติ ขณะที่โรงไฟฟ้ากระบี่ใช้น้ำมันปาล์มดิบผสมกับน้ำมันเตา ซึ่งต้นทุนน้ำมันเตาแพงกว่า ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโรงไฟฟ้าบางปะกงโดยรวมต่ำกว่า โรงไฟฟ้ากระบี่หน่วยละ 2.10 บาท คิดเป็นเงิน 1,210 ล้านบาท

ถามว่า กฟผ.ทราบหรือไม่ว่าปัจจุบันต้นทุนน้ำมันเตาถูกกว่าน้ำมันปาล์มดิบแล้ว โดยน้ำมันเตาอยู่ที่ประมาณ 21 บาท ในขณะที่น้ำมันปาล์มอยู่ที่ 18 บาท ถ้าใช้น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้า 100 % ก็เอาราคา 18บาทไปหารกับค่าพลังงาน 3.6 จะได้ราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ 5 บาทต่อหน่วย แตกต่างจากการใช้น้ำมันปาล์มดิบไปผสมกับน้ำมันเตาที่ต้นทุนจะอยู่ที่ 6.03 บาทต่อหน่วย

ส่วนที่อ้างว่าราคาต้นทุนเมื่อเอาน้ำมันปาล์มไปผสมกับก๊าซธรรมชาติจะมีราคา 3.93 บาทต่อหน่วย ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าผลิตที่โรงไฟฟ้ากระบี่ บนฐานความคิดผสมกับน้ำมันเตา 2.10 บาทต่อหน่วยนั้น ก็ต้องคิดใหม่บนฐานของการใช้น้ำมันปาล์ม 100% ซึ่งส่วนต่างของราคาต้นทุนจะแคบลงเหลือแค่ 1.07บาทต่อหน่วยเท่านั้น

เมื่อนำส่วนต่างดังกล่าวมาคำนวณกับค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองที่ต้องสูญเสียโดยไม่จำเป็นจากการขนส่ง และค่าเสียโอกาสจากผลทางจิตวิทยา ที่จะทำให้ราคาปาล์มขยับขึ้นทันที หากรัฐบาลประกาศใช้ปาล์มผลิตไฟฟ้า 100 % ที่โรงไฟฟ้ากระบี่แล้ว จะพบว่าส่วนต่างของราคาต้นทุนที่เกิดขึ้น เทียบไม่ได้กับผลประโยชน์ที่จะได้รับกลับมา ทำไมจึงไม่ทำที่โรงไฟฟ้ากระบี่

Palm Images Feb4 e1484942023291

ที่สำคัญคือ ปัจุบันโรงงานรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากเกษตรกรในราคา 14 บาท ในขณะที่โรงงานนำไปขายให้ กฟผ.ได้ในราคา 18 บาทเป็นการกดราคาเกษตรกรโดยโรงงานได้กำไรทันที 4 บาท ปริมาณ 1.6 แสนตัน จะทำให้โรงงานกำไรทันที 640 ล้านบาท ในขณะที่เกษตรกรยังต้องขายน้ำมันปาล์มในราคาต่ำอยู่ดี ประโยชน์ที่ได้จึงไม่ตกอยู่กับเกษตรกรแต่กลายเป็นกำไรของโรงงานแทน

ที่เขียนมาทั้งหมดเพื่อชี้ให้เห็นว่า เจตนาของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มด้วยการเพิ่มอุปสงค์ หรือความต้องการซื้อนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ควรละเลยข้อเสนอที่จะทำให้การช่วยเหลือนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกร

หากรัฐบาลทำการซื้อทันที และ ใช้ที่โรงงานไฟฟ้ากระบี่ ผลประโยชน์จะตกกับเกษตรกรเพิ่มคือ ประหยัดค่าขนส่งไป 160 ล้านบาท และส่วนต่างกำไรของโรงงาน 640 ล้านบาท คือ 800 ล้านบาท จะกลับมาเป็นของเกษตรกรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

นั่นแปลว่า รัฐบาลควรเร่งปรับปรุงเครื่องผลิตไฟฟ้าที่กระบี่ให้สามารถรองรับน้ำมันปาล์มได้ 100% เพื่อแก้ไขวิกฤติชาวสวนปาล์มได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที นอกเหนือจากการเร่งรัดให้การใช้ไบโอดีเซลบี 20 และบี100

นึ่คืออีกหนึ่งทางเลือกที่ฝากไว้เพื่อเป็นข้อเสนอที่จะทำให้การช่วยเหลือนั้นเกิดประโยชน์สูงสุดกับเกษตรกรปาล์มน้ำมัน กลุ่มประชาชนล้านกว่าครอบครัวที่กำลังจะกลายเป็นคนจน