Finance

‘ทีคิวเอ็ม’จุดพลุโบรคเกอร์ประกันภัย ระดมทุนตลาดหุ้นไทย

ทีคิวเอ็ม (TQM) ผู้นำธุรกิจโบรคเกอร์ประกันภัยของประเทศ เดินหน้าระดมทุนในตลาดหุ้นไทยจ่อขายไอพีโอ 75 ล้านหุ้น เพื่อยกระดับองค์กรจากธุรกิจครอบครัวสู่โบรคเกอร์ประกันภัยมืออาชีพ ระดมทุนเตรียมพร้อมก้าวสู่ยุคสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ มั่นใจครองความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

DSC 5698

บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) (“TQM”) เตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25%ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด ภายหลังการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (IPO) บริษัทฯจะมีจำนวนหุ้นทั้งสิ้นไม่เกิน 300,000,000 หุ้นภายหลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) โดยมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ (พาร์) 1 บาท

TQM มีฐานะเป็นบริษัทโฮลดิ้ง โดยถือหุ้นในบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลัก ได้แก่ บริษัท ทีคิวเอ็ม อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (“TQM Insurance Broker”) ที่ดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าประกันภัยวินาศภัย บริษัท ทีคิวเอ็ม ไลฟ์ อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ จำกัด (“TQM Life Insurance broker”) ที่ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันชีวิต และบริษัทย่อยที่สนับสนุนธุรกิจหลัก ได้แก่ บริษัท แคสแมท จำกัด (“Casmatt”) ที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ยังมีบริษัทร่วมอีก 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทีคิวแอลดี จำกัด (“TQLD”) ที่ให้บริการให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย

ดร.อัญชลิน พรรณนิภา ประธานกรรมการบริษัท เล่าให้ฟังว่า เป้าหมายของการเข้าจดทะเบียนในตลาหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนมาใช้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในระยะยาว ขณะเดียวกันต้องการยกระดับองค์กรจากการบริหารงานในรูปแบบธุรกิจครอบครัวสู่องค์กรที่มีมาตรฐานสากล และมีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

ขณะเดียวกัน กระแส”อินชัวร์เทค” (Insuretech) หรือ เทคโนโลยีภาคการประกันภัย นับว่า เป็นตลาดประกันภัยในยุคดิจิทัลที่จะมีแนวโน้มการเจริญเติบโตสูง ดังนั้นในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรมโบรคเกอร์ประกันภัย จึงต้องเตรียมความพร้อมในด้านแหล่งเงินทุนไว้สำหรับการพัฒนาระบบเทคโนโลยี ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

“เราเป็นโบรคเกอร์ประกันภัยรายแรกที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เหตุผลเข้าตลาดเพราะต้องการระดมทุนเพื่อนำมาพัฒนาระบบเทคโนโลยี ซอฟต์แวร์ที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องพัฒนาตลอดเวลา และต้องใช้เงินลงทุนสูง รวมทั้งเดินหน้าผลักดันให้องค์กรมีระบบการบริหารเป็นไปตามมาตรฐานสากล ปรับเปลี่ยนจากธุรกิจครอบครัวสู่มืออาชีพอย่างแท้จริง”

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมประกันภัย ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะหากพิจารณามูลค่าตลาดรวมในปัจจุบันของตลาดประกันวินาศภัย และประกันชีวิตจากเบี้ยประกันภัยรับรวมกว่า 8 แสนล้านบาท ขณะที่ TQM มีมาร์เก็ตแชร์เพียง 1 หมื่นล้านบาท และเป็นผู้นำตลาดในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีเบี้ยประกันภัยต่อคน เพียง 323 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี หรือไม่ถึงหมื่นบาทต่อคนต่อปี และหากนำมาเปรียบเทียบกับประเทศฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ เกาหลี มีเบี้ยประกันภัยต่อคนประมาณ 3,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ดังนั้นโอกาสในการเติบโตมีมากเนื่องจากการทำประกันภัยในประเทศไทยยังคงต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

an
ดร.อัญชลิน พรรณนิภา

ขณะเดียวกัน แม้ว่าการแข่งขันในธุรกิจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลแต่อย่างใด แต่มองว่า เมื่อมีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น และสุดท้ายอุตสาหกรรมจะเติบโตแบบสมบูรณ์แบบ โดยจำนวนผู้บริโภคจะมีมากขึ้น การซื้อประกันก็จะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคจะเป็นผู้เลือกบริษัทที่ให้บริการดีที่สุด ซึ่ง TQM มั่นใจว่าบริษัมมีความครบเครื่องในทุกรูปแบบ ตั้งแต่ช่องทางการให้บริการ และผลิตภัณฑ์หลากหลาย รวมถึงรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งมีทีมงานโดยเฉพาะที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาในตลาดอย่างน้อยปีละ 1-2 ผลิตภัณฑ์ และซื้อบริการได้เฉพาะที่ บมจ.ทีคิวเอ็มเท่านั้น

ดร.อัญชลิน มีความเห็นที่มีการมองกันว่าจะเกิดภาวะ Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล จะกดดันอุตสาหกรรมประกันภัยนั้น ในส่วนของ TQM จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะในช่วง 2-3 ปีก่อนได้วางแผนเพื่อรับมือกับกระแสดังกล่าวไว้แล้ว และตอนนี้เริ่มมีการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว โดยนำเอาระบบออนไลน์มาใช้เพิ่มเติมจากระบบการสื่อสารทางตรงระหว่างตัวแทนกับลูกค้า ทั้งการใช้ ระบบการส่งข้อความสื่อสารในรูปแบบ SMS ไลน์ เฟซบุ๊ค และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์เพิ่มเติม

“เราไม่ได้ถูกกดดันจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเรามีการเตรียมความพร้อมและปรับตัวไปพร้อมๆกัน ซึ่งในฐานะผู้บริหารได้ประเมินสถานการณ์ไว้ก่อน และเชื่อตามหลักของนักวิทยาศาสตร์อย่าง “ชาลส์ ดาร์วิน” มีทฤษฏีว่า ผู้ที่แข็งแรงที่สุดไม่ใช่ผู้ที่จะอยู่รอดได้ แต่ผู้ที่อยู่รอดได้คือ ผู้ที่ต้องรู้จักปรับตัว ดังนั้น TQM ดำเนินธุรกิจมากว่า 60 ปี รู้จักปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกเปลี่ยนแปลง เรายังครองความเป็นผู้นำอยู่ได้เพราะรู้จักปรับตัวให้ทันกับความต้องการผู้บริโภค ซึ่งอาจต้องใช้เวลากับการเปลี่ยนระบบการทำงานหน้าบ้านหลังบ้านให้สมบูรณ์แบบ แต่ถ้าพัฒนาสำเร็จก็จะมีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดดในไม่ช้านี้”

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจระยะยาว 3-5 ปี มองว่าการที่ TQM อยู่มาได้อย่างมั่นคงและการบริหารงานในธุรกิจนี้ผ่านมา 3 เจเนอเรชั่นแล้ว บริษัทมีฐานะการเงินที่เข้มแข็ง ไม่มีภาระหนี้สิน ซึ่งการเข้าตลาดหลักทรัพย์จะผลักดันให้องค์กรเติบโตได้เป็นอย่างดี และ TQM เป็นโบรคเกอร์ประกันภัยรายแรกที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ซึ่งการเป็นบริษัทจดทะเบียนจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า คู่ค้า หรือพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการมีแหล่งทุนที่มีช่องทางระดมทุนหลากหลาย จะทำให้บริษัทสร้างการเติบโตของรายได้ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ล่าสุดงวด 9 เดือนปี 2561 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,818.2 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 10%

ดร.อัญชลิน กล่าวทิ้งทายว่า บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 50% ของกำไรสุทธิ รวมทั้งอยู่ในธุรกิจประกันภัย และประกันชีวิต ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง แม้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศผันผวนก็ยังรักษาการเติบโตของธุรกิจไว้ได้เป็นอย่างดี

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight