Digital Economy

ผลพวง Digital Disruption งาน 30% เตรียมหายจากประเทศไทยใน 3 ปี

ผลวิจัยของไมโครซอฟท์และไอดีซีเผยว่ากว่า 95% ของตำแหน่งงานในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงเชิงเทคโนโลยีในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยจะมีตำแหน่งงานราว 30% ที่จะถูกกระจายออกสู่แรงงานนอกประเทศ, แทนที่ด้วยเทคโนโลยี หรือหมดความจำเป็นลงไป

Microsoft Future Now 1 1
นายเพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข, ดร.พญ.พิจิกา วัชราภิชาต และะนายธนวัฒน์

แต่ข่าวต่อมาซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นข่าวดีหรือไม่ก็คือ การมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้มีตำแหน่งงานใหม่ๆ ปรากฎขึ้นในปริมาณที่ใกล้เคียงกันเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ในตลาดแรงงาน โดยมีเพียง 35% ที่จะยังคงรักษาตำแหน่งงานในรูปแบบเดิมเอาไว้

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ชี้ว่า ข้อมูลทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีไม่ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียโอกาสในตลาดแรงงาน แต่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความต้องการด้านแรงงาน และการเสริมสร้างทักษะในด้านใหม่ๆ ทดแทน

ยกตัวอย่างภาพของงานในโลกใหม่เช่น VRSIM ของเพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข กรรมการผู้จัดการบริษัทบลูโอเชียน เทคโนโลยี ที่นำ VR และ machine learning มาผสมผสานเข้าด้วยกันและใช้ในการฝึกสอนผู้ควบคุมเครื่องจักรเพื่อการเกษตร ตัวอย่างเช่นรถตัดอ้อย ซึ่งนอกจากระบบดังกล่าวจะสามารถก้าวผ่านข้อจำกัดของวิธีฝึกสอนแบบเดิมๆ ไปได้แล้ว ยังช่วยเสริมประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวอ้อยผ่านทาง machine learning ได้อีกด้วย

3
เพิ่มพงศ์ เอี้ยวบันดาลสุข กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท บลูโอเชี่ยน เทคโนโลยี จำกัด

“โดยปกติแล้ว การฝึกสอนพนักงานขับรถตัดอ้อยเป็นกระบวนการที่กินเวลานาน และยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับผลิตผลอีกด้วย และหากนับจากช่วงเริ่มแรกในการสังเกตการณ์พนักงานผู้เชี่ยวชาญ ไปจนถึงการขับรถเก็บเกี่ยวด้วยตนเอง ก็อาจกินเวลารวมทั้งหมดนานถึงสามปี” นายเพิ่มพงศ์กล่าว

“VRSIM นำเทคโนโลยี VR มาเปิดโอกาสให้นักขับมือใหม่ได้ฝึกฝนและเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง โดยที่ไม่ต้องรอฤดูเก็บเกี่ยวหรือเสี่ยงไปกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และด้วยพลังจาก machine learning เรายังสามารถนำประสบการณ์และความเข้าใจของนักขับรถตัดอ้อยมืออาชีพมาวิเคราะห์ เพื่อแนะนำเส้นทางการขับรถเพื่อเก็บเกี่ยวอ้อยให้ได้รวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่เก็บเกี่ยวมากที่สุด”

VRSIM 2

หรือในมุมของ ดร.พญ.พิจิกา วัชราภิชาต นักวิจัยชาวไทยผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จากทีม Microsoft Research ประจำศูนย์วิจัยที่เมืองเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ มองว่า “AI และ machine learning เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาโรคต่างๆ ได้ในอนาคต และทำให้วงการการแพทย์ในภาพรวมกำลังมุ่งหน้าไปสู่ยุคของเวชศาสตร์เชิงป้องกัน ด้วยการคาดการณ์และยับยั้งโรคร้ายอย่างรวดเร็ว แทนที่จะเยียวยารักษาอาการในภายหลัง นอกจากนี้ ศักยภาพของ AI ในการประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลอย่างชาญฉลาดยังจะช่วยเสริมความแม่นยำในการให้การรักษาถึงระดับบุคคล สนับสนุนให้การทำงานของบุคลากรแพทย์ในทุกขั้นตอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปูทางไปสู่การค้นพบใหม่ๆ อีกมากมาย เช่นการวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ที่มีความซับซ้อนสูงสุดให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้”

o
ดร. พญ. พิจิกา วัชราภิชาต นักวิจัยจาก Microsoft Research Cambridge

ฟังเช่นนี้แล้ว อาจถึงเวลาที่เราต้องแบ่งเวลามาเพิ่มทักษะเสียที ซึ่งในประเทศไทยมีช่องทางต่าง ๆ ให้ได้ฝึกฝนกันมากมาย เช่น โครงการ Coding Thailand ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือภาคธุรกิจ เช่น ไมโครซอฟท์ที่มีเป้าหมายยกระดับทักษะของแรงงานกว่า 20 ล้านคนให้ได้ภายในปี 2563 

Avatar photo