Economics

‘นกแอร์’ จ่อเพิ่มทุน-ปัดเจรจาขายหุ้นให้พันธมิตรรายใหม่

“นกแอร์” ส่อแววเพิ่มทุน ชี้บอร์ดเร่งถกแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ พร้อมจ่อลงนามเอ็มโอยูขอรับผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิต่อจากการบินไทย

นายประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด หรือ NOK ยอมรับว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) นกแอร์ ได้พูดคุยเรื่องการเพิ่มทุนรอบใหม่ เนื่องจากนกแอร์มีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดเครื่องหมาย C (Caution) บนหุ้นนกแอร์

ประเวช2

โดยหากบริษัทใดถูกขึ้นเครื่องหมาย C ติดต่อกัน 3 ไตรมาส ก็มีแนวโน้มต้องเพิ่มทุนอย่างแน่นอน ซึ่งถือเป็นข้อความ (message) ที่ไม่ต้องพูด ก็รู้กันอยู่แล้ว แต่การเพิ่มทุนก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดและผู้ถือหุ้นก่อน จึงดำเนินการได้ โดยตอนนี้บอร์ดนกแอร์ยังไม่ได้ตัดสินใจแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม นายประเวชปฏิเสธกระแสข่าวการเจรจาขายหุ้นให้พันธมิตรรายใหม่ เพราะนกแอร์จะดำเนินการหาพันธมิตรใหม่ก็ต่อเมื่อบริษัทแข็งแรงและอยู่ในสถานะที่พร้อมเติบโต

“ทางเดียวที่จะโตได้ ก็คือหา Strategic Partner แต่ไม่ใช่ตอนนี้ รอให้ผ่านพ้นจุดขาดทุนไปก่อน ไปช่วงสร้างความมั่นคง แล้วถึงตอนนั้นค่อยมานั่งคุยกัน” นายประเวช กล่าว

‘นกแอร์’ ตั้งเป้าหยุดขาดทุนให้ได้ 3 ไตรมาส

นายประเวช กล่าวต่อว่า นกแอร์จะต้องหาแนวทางเพิ่มรายได้และลดต้นทุน เพื่อหยุดขาดทุนให้ได้ในปี 2562 โดยตั้งเป้าหมายให้บริษัทหยุดขาดทุนต่อเนื่อง 3 ไตรมาสก่อนเพื่อสร้างความมั่นคง จากนั้นวางแผนสร้างความเติบโตต่อไป

ทั้งนี้ นกแอร์จะเพิ่มรายได้ด้วยการขยายฐานบินใหม่ๆ เนื่องจากสนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นฐานหลักของนกแอร์ในปัจจุบัน มีความหนาแน่นมากและเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ยาก

อย่างไรก็ตาม นกแอร์อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขอรับ-ส่งผู้โดยสารต่อจากสายการบินไทย เนื่องจากสายการบินไทยมีผู้โดยสารยุโรป ที่มาลงในสนามบินสุวรรณภูมิและต้องการต่อเครื่องไปต่างจังหวัดจำนวนมากโดยเฉพาะ จ.อุดรธานี โดยขณะนี้นกแอร์ได้ส่งร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ไปให้การบินไทยพิจารณาแล้วและยังต้องหารือกันต่อไป

นกแอร์2
ภาพจาก Nok Air

นอกจากนี้ นกแอร์สามารถเปิดให้บริการเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (Chater Flight) ในสนามบินอู่ตะเภาอีกครั้ง ถ้าตลาดนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัว เพราะมีตารางบินอยู่แล้ว นอกจากนี้ก็ได้เพิ่มเส้นทางภูเก็ต-เฉินตูไปก่อนหน้านี้

ขณะเดียวกันนกแอร์จะเพิ่มความร่วมมือด้านโค้ดแชร์กับสายการนกสกู๊ต ที่เป็นบริษัทลูก ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านมากขึ้น โดยจะเห็นความชัดเจนเรื่องโค้ดแชร์ของเส้นทางในประเทศภายในปีนี้และเส้นทางระหว่างภายในปีหน้า

นายประเวช กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันนกแอร์ตั้งเป้าจะลดต้นทุนให้ได้ 10% ด้วยการลดประเภทเครื่องบินจาก 3 ประเภท เหลือ 2 ประเภท เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุง โดยเตรียมปลดระวางเครื่องบิน ATR ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดเล็กจำนวน 2 ลำภายในครึ่งแรกของปี 2562

นอกจากนี้จะเปิดเส้นทางระหว่างประเทศ ระยะเวลาบิน 6 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องบินเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9 ชั่วโมงต่อวัน

เบื้องต้นมีแผนจะเปิดเส้นทางไปวิศาขาปัตตนัมและกูวาฮาติ ประเทศอินเดียในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 รวมถึงจะเปิดเส้นทางบินไปดานัง, ดาลัด และฮานอย ประเทศเวียดนามระหว่างเดือนธันวาคม 2561-มกราคม 2562

นอกจากนี้อยู่ระหว่างเจรจาเปิดเส้นทางเซ็นไดและฮิโรชิม่าในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2562 โดยการขายตั๋วในเส้นทางต่างประเทศส่วนใหญ่ของนกแอร์ จะดำเนินการผ่านตัวแทน ซึ่งข้อดีคือจะมีผู้โดยสารแน่นอน แต่มาร์จิ้นจะต่ำกว่าปกติ

ขณะเดียวกันนกแอร์จะพยายามลดต้นทุนค่าบริการภาคพื้น รวมถึงรวมมือกับสายการบินไทยบริหารความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันและประกันภัย รวมถึงร่วมมือกับธนาคารบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

นกแอร์4
ภาพจากนกแอร์

ตลาดจีนกระทบหนัก

สำหรับตลาดจีนนั้น ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุเรือล่มในประเทศไทยและสงครามการค้า ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารลดลง จนจุดบินในประเทศจีนของนกแอร์ลดลงจาก 10 จุด เหลือ 4 จุดในช่วงที่ผ่านมา

แต่ก็หวังว่าสถานการณ์ในไตรมาสที่ 4 จะดีขึ้น เพราะประเทศไทยมีนโยบายฟรี Visa on Arrival ขณะเดียวกันอุตสาหกรรรมการบินก็ได้รับอานิสงค์จากราคาน้ำมันที่ลดลงเหลือ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา นกแอร์มีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 86% และจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยแต่ละปีประมาณ 9 ล้านคน ซึ่งผู้โดยสารชาวจีนมีสัดส่วนคิดเป็น 10% ของผู้โดยสารทั้งหมด

โดยการแข่งขันที่รุนแรงและต้นทุนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้นกแอร์ขาดทุนต่อเนื่องมา 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 จนกระทั่งวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศขึ้นเครื่องหมาย C เพื่อแสดงว่านกแอร์เป็นบริษัทที่มีความเสี่ยงด้านฐานะการเงิน งบการเงิน หรือลักษณะธุรกิจ

Avatar photo