Business

กระทรวงวิทย์ร่วมราชมงคลล้านนาจัดโครงการเสริมสร้าง ‘นวัตกร’  

“ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” เดินหน้าพัฒนาทักษะ “นวัตกร” ให้เด็กและเยาวชนตามนโยบายวิทย์สร้างคน ลงพื้นที่เยี่ยมชมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมโครงการ “โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม” ที่วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก เปิดช่องทางให้เยาวชนที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่สูงขึ้น สร้างแรงบันดาลใจในอนาคตให้เด็กมุ่งเป้าสู่อาชีพนักวิจัยนวัตกรรมและวิศวกร

thumbnail รูปเดี่ยว รมต.วิทย์
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงการลงพื้นที่ เพื่อประชุมและเยี่ยมชมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ภายใต้โครงการ “โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม” (Fabrication Lab หรือ FAB LAB) ที่วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก  เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า การลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมโครงการนวัตกรรม ที่เด็กๆ เยาวชนได้ช่วยกันคิดสร้างสรรค์ในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก

thumbnail ภาพกิจกรรม 5
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เยี่ยมชมผลงานนวัตกรรมของเยาวชน

โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ( FAB LAB) เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาทักษะความเป็น “นวัตกร” (Innovator)  ด้วยการจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ออกแบบและสร้างชิ้นงานเป็นรูปธรรมได้จริง อีกทั้งยังสามารถใช้เครื่องมือทางวิศวกรรม และเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ นำมาใช้ประโยชน์ได้จริงในโครงการ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยพลักดันให้เยาวชนสามารถเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการสร้างสรรค์ธุรกิจรุ่นใหม่ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ THAILAND 4.0 ของรัฐบาลได้ในอนาคต

ภาพกิจกรรม 2
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เยี่ยมชมบูธแสดงผลงานวัตกรรมของเยาวชน

สำหรับสิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรมของนักศึกษาอาชีวศึกษาภาคเหนือ  ที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ แบ่งผลงานออกเป็น 12 รายกลุ่มวิทยาลัย  ได้ดังนี้

  • 1.กลุ่มอุปกรณ์เครื่องมือเกี่ยวกับบ้าน, อุปกรณ์จับยึดช่วยติดตั้งบานประตู หน้าต่าง, อุปกรณ์เข้าขอบยางมุ้งลวด, อุปกรณ์ระบบเกี่ยวกับรถ, อุปกรณ์ยกรถจักรยานยนต์ จากวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก
  • 2.ระบบช่วยเหลือเปิดกระจกอัตโนมัติเมื่อรถตกน้ำ, อุปกรณ์ตัดไฟในบ้านขณะน้ำท่วม, ลูกกลิ้งวัดลายเหล็กดัด, เครื่องมืออุปกรณ์การเกษตร, เครื่องสีข้าวกล้อง จากวิทยาลัยสารพัดช่างพิษณุโลก
  • 3.อุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุไม้เท้าค้ำคีบ, เครื่องแช่อิ่มผลไม้ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก
  • 4.เครื่องผสมปุ๋ย, เครื่องควบคุมอุณหภูมิโรงเพาะเห็ด จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์
  • 5.แปรงทาสี, อุปกรณ์เฉือนเมล็ดข้าวโพด,  เครื่องขอดเกล็ดปลา จากวิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์
  • 6.เครื่องมืองานครัว, เครื่องขูดมะพร้าวเส้น  จากวิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์
  • 7.มีดหั่นเครือกล้วย, เครื่องมือทางการแพทย์, ฝาช่วยถอดเข็มฉีดยา จากวิทยาลัยเทคนิคสองแคว
ภาพกิจกรรม 4
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เยี่ยมชมงานนวัตกรรมของเยาวขน
  • 8.ระบบจัดการฐานข้อมูลศูนย์ข้อมูลบริการงานซ่อม,  เครื่องมือกล Diesign and Construction of the mini CNC Milling Machine, ผลิตภัณฑ์ผ้ากระเป๋าตั้งใจเรียน  จากวิทยาลัยสารพัดช่างสุโขทัย
  • 9.เครื่องหั่นตะไคร้, ผลิตภัณฑ์อาหาร ขนม, ข้าวพันผักรสพริก จากวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย
  • 10.ซอสบาร์บีคิวมะเขือเทศผสมเสาวรส, กาละแมมะขาม จากวิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์
  • 11.เครื่องมือผลิตสินค้าสำเร็จรูป, เครื่องคลึงมะขามคลุก 3 รส จากวิทยาลัยการอาชีพชนแดน
  • 12.ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว, สบู่ดอกเกลือ Yesion2, โลชั่นบำรุงผิวข้าวทับทิมชุมแพ จากวิทยาลัยพณิชยการบึงพระพิษณุโลก

ดร. สุวิทย์  กล่าวว่า นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ของเด็กๆ จากโครงการนี้จะช่วยพัฒนาทักษะการเป็นนวัตกร หรือ Innovator ให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ได้ร่วมมือกับพันธมิตร คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงให้แก่โรงเรียนในเขตจังหวัดภาคเหนือ รวมถึงวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลกที่จัดงานในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการออกแบบและสร้างต้นแบบที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรม เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน หุ่นยนต์และระบบควบคุมอัตโนมัติ หรือยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรม (New S-curve) ในอนาคต

ขณะนี้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ถือเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง ให้แก่วิทยาลัยเทคนิค 5 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก, วิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์, วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย, วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์, และวิทยาลัยเทคนิคน่าน

โดยได้จัดทำแผนงานโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งนับเป็นการสร้างพื้นฐานให้เยาวชนให้มีทักษะด้านวิศวกรรม มีความคิดสร้างสรรค์  สามารถนำความรู้และทักษะมาสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมได้  อันเป็นการสร้างแรงบันดาลใจสู่อาชีพวิศวกร นักวิจัย และนวัตกร ต่อไปในอนาคต

Avatar photo