Economics

ครม. เคาะโอน ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ให้ กทม.

ครม. เคาะโอน “รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย” ไปสังกัด กทม. ดีเดย์!! เปิดให้บริการเดินรถช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ 6 ธ.ค. นี้ แต่ รฟม. ขอเก็บอาคารจอดรถไว้ดำเนินการเอง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (26 พ.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการจำหน่าย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต (ไม่รวมอาคารจอดแล้วจร) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ

อาคม ไพรินทร์1

นอกจากนี้เห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ของ รฟม. ให้ กทม. เพื่อให้ทันกับวันเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ซึ่ง กำหนดไว้ในวันที่ 6 ธันวาคมนี้

นายอาคม กล่าวอีกว่า ครม. มีมติเห็นชอบหลักการร่างข้อบังคับของ รฟม. ว่าด้วยอัตราค่าบริการจอดรถยนต์และวิธีการจัดเก็บค่าบริการจอดรถยนต์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ พ.ศ. …. ซึ่งกำหนดเปิดเดินรถเต็มเส้นทางถึงสถานีเคหะฯ ในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 โดยอัตราค่าบริการเริ่มต้นสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า อยู่ที่ 10 บาทต่อ 2 ชั่วโมง สำหรับประชาชนทั่วไปซึ่งมิได้ใช้บริการรถไฟฟ้า เริ่มต้นที่ 20 บาทต่อชั่วโมง สำหรับผู้ใช้บริการจอดรถยนต์รายเดือน เริ่มต้นที่ 1,000 บาทต่อเดือน และอัตราค่าบริการจอดรถจักรยานยนต์ เริ่มต้นที่ 10 บาทต่อ 4 ชั่วโมง

อาคม ไพรินทร์2

รฟม. เก็บอาคารจอดแล้วจรไว้บริหารเอง

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายด้านใต้ มีระบบจอดแล้วจรอยู่ 1 แห่ง และด้านเหนือมีอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง โดย รฟม. ขอสงวนไว้ ไม่โอนให้ กทม. บริหาร เนื่องจากปัจจุบัน รฟม. บริหารระบบจอดแล้วจรขนาดใหญ่อยู่แล้ว เมื่อรวมกับทั้ง 2 ช่วงใหม่ที่จะเปิดแล้ว จะมีอาคารจอดรถรวม 11 อาคาร และมีลานจอดรถอีก 10 แห่ง ดังนั้นหากให้ รฟม.ดำเนินการจะมีมาตรฐานในการดำเนินการและการเก็บค่าจอดรถไม่แตกต่างกัน เพราะหากเก็บไม่เท่ากันก็จะเป็นปัญหาได้

นายไพรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ลานจอดรถที่สมุทรปราการ ก็มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับการเคหะแห่งชาติ เพื่อพัฒนาพื้นที่ด้านบนให้เป็นอาคารที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นห้องชุด เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง สามารถครอบครองที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้เส้นทางรถไฟฟ้าได้

ไพรินทร์ ชูโชติถาวร
ภาพจาก dip.mot.go.th

ค่ารถไฟฟ้าน้ำเงิน-ม่วงส่วนต่อขยายไม่เกิน 70 บาทตลอดสาย

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วม วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารร่วม และการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารร่วม ระหว่างรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน พ.ศ… เพื่อกำหนดอัตราการจัดเก็บค่าโดยสารร่วมระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยจะคิดค่าบริการสูงสุดไม่เกิน 70 บาท ทั้ง 2 เส้นทาง ถึงแม้จะนั่งจากรถไฟฟ้าอีกสายหนึ่งเพื่อไปเชื่อมต่อกับอีกสายหนึ่งก็ตาม ขณะเดียวกันเมื่อเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน จากหัวลำโพง-บางแค หรือบางซื่อ-ท่าพระ ก็จะคิดในอัตราสูงสุดไม่เกิน 70 บาทเช่นเดียวกัน รวมถึงส่วนต่อขยายสายสีม่วงที่จะสร้างในอนาคตด้วย

Avatar photo