Properties

มองต่างมุม ‘บ้านล้านหลัง’ กับดักผู้มีรายได้น้อย

หลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายโครงการบ้านล้านหลังเพื่อผู้มีรายได้น้อยออกมา ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายแง่มุม บางรายก็แสดงความเห็นด้วย เพราะมองว่าะจะช่วยผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสซื้อที่อยู่อาศัยได้ แต่บางรายก็มองต่างออกไปว่า เป็นโครงการที่ไม่มีความจำเป็น

อีกทั้ง ด้วยเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อยาวนานถึง 40 ปี ยิ่งเป็นการเพิ่มภาระประชาชน สร้างรายได้ให้กับธนาคารมากกว่าจะช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง

กคช.
รูปแบบที่อยู่อาศัยของกคช.

ดังเช่นมุมมองที่แตกต่างของ AREA บจก.เอเจนซี่ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟรส์ ซึ่งประเมินโอกาสและความเสี่ยง โครงการ “บ้านล้านหลัง” ที่รัฐบาลประกาศส่งเสริม ที่หมายถึง ทรัพย์สินที่มีราคาซื้อ-ขายไม่เกิน 1 ล้านบาท ที่เข้าร่วมโครงการ โดยแบ่งเป็นทรัพย์ในกรุงเทพฯ 14,000 หน่วย และทรัพย์ในภูมิภาค 16,000 หน่วย

ประกอบด้วย ทรัพย์มือหนึ่งจากผู้ประกอบการและการเคหะแห่งชาติ จำนวนกว่า 27,000 หน่วย ทรัพย์มือสองของ ธอส. สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ(SFIs) บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด(BAM) และ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด(SAM) รวมกว่า 3,000 หน่วย ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดที่ชัดเจนที่ ghbank.co.th และ เฟซบุ๊ก ธนาคารอาคารสงเคราะห์

ยิ่งกว่านั้นยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไฟเขียวธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดทำโครงการบ้านล้านหลัง มุ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนวัยทำงาน หรือ กำลังเริ่มสร้างครอบครัว ภายใต้วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท ด้วยการอัดเงินก้อนใหญ่ 5 หมื่นล้านบาท ปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนกู้ซื้อที่อยู่อาศัย วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ผ่อนด้วยดอกเบี้ยต่ำนานถึง 40 ปี

พร้อมพยุงผู้ประกอบการ ด้วยสินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอีก 1 หมื่นล้านบาท นำไปจัดทำที่อยู่ตามกำหนดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหน่วย

โสภณ พรโชคชัย
ดร.โสภณ พรโชคชัย

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหารศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย(www.area.co.th) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านที่อยู่อาศัย การประเมินค่าทรัพย์สินและการพัฒนาเมือง ให้ความเห็นว่า “บ้านล้านหลัง” เป็นแนวคิดที่ผิด ไม่ควรดำเนินการ

ทั้งนี้ เพราะ ณ กลางปี 2561 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีบ้านรอขายซึ่งเป็นทั้งบ้านแนวราบและห้องชุดที่อยู่ในมือของผู้ประกอบการถึง 180,635 หน่วย รวมมูลค่าสูงถึง 7.68 แสนล้านบาท เฉลี่ยหน่วยละ 4.199 ล้านบาท บ้านเหล่านี้ไม่ใช่ขายไม่ออก เพียงแต่ ณ วันสำรวจ ยังไม่พบกับผู้ซื้อเท่านั้น

หากบ้านเหล่านี้มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 3 คนต่อหน่วย ก็เท่ากับสามารถรองรับประชาชนได้ถึง 541,905 คน หรือ 0.8% ของประชากรไทยเลยทีเดียว

ทั้งนี้คาดว่า จำนวนบ้านรอขายทั่วประเทศ โดยเมื่อรวมกับต่างจังหวัดด้วย น่าจะมีจำนวนประมาณ 343,207 หน่วย รวมมูลค่าประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยหน่วยละ 3.059 ล้านบาท รองรับประชากรเฉลี่ยครัวเรือนละ 3.2 คน ได้ประมาณ 1,098,262 คน หรือ 1.6% ของจำนวนประชากรไทย

จำนวนอสังหาฯเหลือขาย 180,635 หน่วยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังมีห้องชุดราคาไม่เกิน 0.5 ล้านบาท 555 หน่วยรอขายอยู่ ส่วนราคา 0.51-1.0 ล้านบาท มี 4,393 หน่วย โดยส่วนมากเป็นห้องชุดถึง 3,649 หน่วย ยิ่งกว่านั้นยังมีบ้านราคา 1.01-1.5 ล้านบาทจำนวน 10,166 หน่วย ทั้งนี้เป็นห้องชุด 7,248 หน่วย เป็นทาวน์เฮาส์ 2,793 หน่วย นอกนั้นเป็นอื่นๆ

บ้านจัดสรร121

โดยรวมแล้ว สำหรับบ้านราคาบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาทนั้น มี 15,114 หน่วย โดยแยกเป็นบ้านแฝด 66 หน่วย เป็นทาวน์เฮาส์ 3,505 หน่วย เป็นตึกแถว 16 หน่วย ส่วนใหญ่เป็นห้องชุด 11,452 หน่วย และยังมีที่ดินจัดสรรอีก 75 แปลง จากจำนวนเท่านี้ ซึ่งคาดว่าแต่ละหน่วยของที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทนี้ มีผู้อยู่อาศัยเฉลี่ย 3.5 คน จึงสามารถรองรับประชาชนได้ถึง 52,899 คน โดยไม่ต้องไปเปิดโครงการใหม่เลย

บ้านล้านหลัง4
ธอส.เปิดเว็บไซต์โครงการบ้านล้านหลัง

ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ควรสร้างบ้านประชารัฐ เพราะในตลาดปัจจุบันภาคเอกชน ก็สามารถสร้างบ้านให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือรายได้ปานกลางค่อนข้างน้อยได้อยู่แล้ว รัฐบาลควรนำงบประมาณไปพัฒนาประเทศในทางอื่นมากกว่า

การทำโครงการ “บ้านล้านหลัง” จึงเพียงช่วยผู้ประกอบการเป็นหลัก ไม่ใช่ช่วยผู้ซื้อบ้าน การให้ผ่อนระยะยาว 40 ปี ก็เพื่อช่วยสถาบันการเงินให้ได้ “ดูดเลือด” ได้นานขึ้น โครงการบ้านล้านหลังจึงกลายเป็นเสมือน “กับดัก” เป็นการสูญเสียโอกาส (Opportunity costs) ในการไปลงทุนทางอื่นของประชาชน มากกว่าจะเป็นผลดีต่อประชาชน

 

Avatar photo