Finance

เปิดรายชื่อหุ้นบิ๊กแคปพีอีต่ำ 10 เท่า

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ดัชนีแกว่งตัวผันผวนและอยู่ในทิศทางขาลงมากกว่า ซึ่งมีโอกาสดัชนีจะกลับไปยืนที่ระดับต่ำกว่า 1,600 จุดอีกครั้ง ปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของตลาดหุ้นไทยปรับลดลงมาอยู่ที่ 16.5 ล้านล้านบาท จากต้นเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 17.02 ล้านล้านบาท หรือ ลดลง 0.51 แสนล้านบาท

ปัจจัยที่มีอิทธิพลกดดันให้ดัชนีปรับตัวลง น่าจะเกิดจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนสถาบันซึ่งเป็นแรงซื้อหลักในช่วงที่ผ่านมา เริ่มชะลอตัวลงแล้ว รวมทั้งทิศทางของราคาน้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อหุ้นขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักต่อการคำนวณของดัชนี นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั้งในและต่างประเทศที่จะก้าวเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นอย่างชัดเจน

setup2

ทั้งนี้ การสำรวจข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ถึง ปัจจุบัน หุ้นขนาดใหญ่ที่มีมาร์เก็ตแคป 100 อันดับแรก ของตลาดหุ้นไทย ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจนทำให้ระดับราคาเทียบกับกำไรสุทธิต่อหุ้น (PE) ลดลงต่ำกว่า 10 เท่า ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 16 บริษัท และจะเห็นว่า ยังต่ำกว่าค่าพีอีของตลาดหุ้นไทยโดยรวม ซึ่งปัจจุบันปรับลงมาอยู่ที่ 15.33 เท่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (ยิลด์) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่า หุ้นใหญ่มีราคาต่ำมาก จนมีความน่าสนใจในการเข้าลงทุน เพื่อการถือหุ้นระยะกลางถึงระยะยาว

สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพีอีต่ำกว่า 10 เท่า ประกอบด้วย หุ้น VNT พีอีอยู่ที่ 9.34 เท่า ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล(ยิลด์) อยู่ที่ 4.04% หุ้น QH พีอีอยู่ที่ 8.03 เท่า ยิลด์ปันผล 1.23% หุ้น JAS พีอี 6.91 เท่า ยิลด์ปันผล 9.59% หุ้น PSH พีอี 7.22 เท่า ยิลด์ปันผล 10.99% หุ้น ESSO พีอี 5.32 เท่า ยิลด์ปันผล 8.26% หุ้น BCP พีอี 8.29 เท่า ยิลด์ปันผล 6.62% หุ้น SPRC พีอี 5.82 เท่า ยิลด์ปันผล 1.20% หุ้น BLA พีอี 9.31 เท่า ยิลด์ปันผล 1.73%

หุ้น TCAP พีอี 7.70 เท่า ยิลด์ปันผล 4.29% หุ้น TISCO พีอี 9.31 เท่า ยิลด์ปันผล 6.31% หุ้น TMB พีอี 8.22 เท่า ยิลด์ปันผล  2.63% หุ้นIRPC พีอี 8.25 เท่า ยิลด์ปันผล 5.1% หุ้น EGCO พีอี 5.21 เท่า ยิลด์ปันผล 3% หุ้น TOP พีอี 6.92 เท่า ยิลด์ปันผล 7.07% หุ้น IVL พีอี 8.81 เท่ายิลด์ปันผล 1.76% และหุ้น PTTGC พีอี 8.04 เท่า ยิลด์ปันผล 5.50%

หุ้นใหญ่มีพีอีต่ำกว่า 10เท่าv1 01

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำว่า กลยุทธ์การลงทุนในตอนนี้ ยังคงเน้นลงทุนหุ้นรายตัวที่มีพื้นฐานดีเมื่อราคาหุ้นปรับลงตามดัชนีและเลือกหุ้นที่มีประเด็นที่น่าสนใจ และเน้นธุรกิจในประเทศ (Domestic Play) รวมทั้งหุ้นปันผลสูง นักลงทุนระยะสั้นควรเล่นรอบสั้นๆ ไม่หวังกำไรมาก ควรตั้งเป้าผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรม และทยอยขายทำกำไรเมื่อได้ตามเป้าหมาย แต่ดัชนีตามพื้นฐานระยะยาว 1 ปี ให้ไว้ที่ 1,860 จุด ที่พีอี 17 เท่า และกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปี 2561 เติบโตเฉลี่ย 10% ดังนั้น ดัชนีปรับลง แนะนำให้ทยอยสะสม เพื่อการลงทุนระยะยาวเมื่ออ่อนตัวตามปัจจัยต่างประเทศที่ยังกดดัน

บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยยังจำกัด ตราบที่ขาดแรงหนุนจากนักลงทุนสถาบันไทยและต่างประเทศ แต่เชื่อว่าตลาดหุ้นไทยใกล้จุดต่ำสุด โอกาสฟื้นตัวน่าจะชัดเจนขึ้นหลังการประกาศสงครามการค้ารอบสุดท้ายสิ้นสุด และผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐชะลอตัว เป็นสัญญาณว่าเงินทุนที่ไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยไปยังสินทรัพย์เสี่ยงน่าจะเริ่มชะลอตัว จึงคาดว่าน่าจะเริ่มเห็น fund flow ไหลกลับมาในปี 2562

ทั้งนี้ การประมาณการกำไรสุทธิตลาดฯ ปี 2562 อยู่ที่ 1.11 ล้านล้านบาท คิดเป็น กำไรต่อหุ้น หรือ EPS ที่ 112.2 บาท  เติบโตในอัตราลดลงเหลือเพียง 3.4% จากปีนี้ และต่ำกว่าภูมิภาค สาเหตุหลักมาจากการการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันปี 2562 ลง 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล รวมทั้งการปรับลดกำไรฯของกลุ่มปิโตรเคมี, วัสดุก่อสร้าง และ ไอซีที

หุ้นใหญ่มีพีอีต่ำกว่า 10เท่าv2 0111

แม้การเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้นของไทยไม่สูงนักเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน แต่การที่มีค่าพีอีลงมาระดับ 14 เท่า ถือว่าความเสี่ยงขาลงค่อนข้างจำกัด ทำให้การประเมินดัชนีเป้าหมายตลาดในปี 2562 อิงพีอีเรโชที่ 16 เท่า (เพิ่มจากเดิม  15 เท่า เพราะเชื่อว่าแรงขายต่างชาติจะสิ้นสุดปีนี้) ทำให้ได้ดัชนีเป้าหมายของดัชนีหุ้นไทยที่ 1,795 จุด มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น (upside) จากปัจจุบันราว 11%

กลยุทธ์การลงทุน จึงยังเน้นหุ้นที่อิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Play) ควบคู่กับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ

บล.เออีซี คาดว่า ดัชนีหุ้นไทยยังมีแรงกดดัชนีด้วยปัจจัยกดดันจากนักลงทุนต่างชาติที่ยังขายต่อเนื่อง อีกทั้งความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะกระทบต่อต้นทุนในการทำธุรกิจที่สูงขึ้น แต่มองว่า การปรับตัวลดลงของดัชนีค่อนข้างจำกัด เพราะ มูลค่าพื้นฐาน(Valuation) ของตลาดไม่แพงโดยปัจจุบัน ดัชนีหุ้นไทยซื้อขายที่พีอี 15.2 เท่า โดยประเมินแนวรับ-แนวต้านไว้ที่ 1,587 – 1,640 จุด

ดังนั้นในช่วงที่ตลาด ยังมีความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ย จึงแนะนำหุ้น 4 กลุ่มที่น่าสนใจ ดังนี้ หุ้นกลุ่มพลังงานทางเลือก และกลุ่มโรงแรม ซึ่งโครงสร้างธุรกิจมีกระแสเงินสดแข็งแรง หุ้นกลุ่มหนี้สินต่อทุนต่ำคาดได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยน้อย  หุ้นบริษัทที่มีต้นทุนดอกเบี้ยคงที่และมีสัดส่วนเงินกู้ระยะยาวสูง และหุ้นกลุ่มที่ราคาหุ้นปรับลงแรง แต่มีโอกาสฟื้นตัวเร็วจากกำไรปี 2562 ที่แข็งแกร่ง

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight