COLUMNISTS

เหตุผล 7 ข้อผู้ว่าแบงก์ชาติ ทำไมต้องขยับดอกเบี้ยฯ

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
533

หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเสียงข้างมากเห็นควรว่า ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50 % ต่อไป โดยให้เหตุผลว่า นโยบายการเงินผ่อนคลาย ยังมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจยามนี้

แต่ขณะเดียวกัน จำนวนเสียงผู้เห็นด้วยว่า ถึงเวลาแล้วต้องขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่เพิ่มขึ้นจากมติ 5 ต่อ 2 ในการประชุมครั้งก่อน ทำให้ตลาดคาดหมายว่าการประชุม กนง. ครั้งสุดท้ายของปี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ มีโอกาสมากที่กนง.เสียงข้างมากน่าจะเห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เครื่องมือที่แบงก์ชาติใช้ในการส่งสัญญาณทางการเงิน

สัญญาณดอกเบี้ยจากแบงก์ชาติก่อปฏิกิริยาในวงกว้าง อภิศักดิ์ ตันติวรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มองต่างมุมกับแบงก์ชาติมาหลายเรื่อง ล่าสุดคือ มาตรการปรับสัดส่วนแอลทีวี (อัตราส่วนสินเชื่อตามมูลค่าหลักประกัน) สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่สอง หรือราคาเกิน 10 ล้านบาท เพื่อป้องกันการเก็งกำไรมาแล้วรอบหนึ่ง สำหรับเรื่องดอกเบี้ยนโยบายนั้น รัฐมนตรีคลังออกมาค้านตั้งแต่แบงก์ชาติเริ่มส่งไฟกระพริบ โดยประกาศลั่นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมคือ 1.50 % เท่านั้น

เช่นกันครั้งนี้ อภิศักดิ์ ออกมาส่งสัญญาณสวนกลับแบงก์ชาติเช่นเคย โดยเตือนให้แบงก์ชาติพิจารณาเรื่องผลจากต้นทุนเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้น (จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย) การเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน และทุนไหลออกเป็นต้น

กลางสัปดาห์ที่แล้ว ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ได้ออกมาพูดกับสื่อเรื่องดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง โดยยกเหตุและผลถึงความจำเป็นที่ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ค่อนข้างละเอียดซึ่งสามารถจัดกลุ่มได้เป็น 7 ข้อด้วยกันคือ

วิรไท สันติประภพ2
วิรไท สันติประภพ

หนึ่ง การตัดสินของ กนง. เรื่องทิศทางดอกเบี้ย จะยึดหลักการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่มีนัยสำคัญ เพราะเศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็ก แต่เชื่อมโยงกับต่างประเทศมาก ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงของตลาดเงินตลาดทุนโลกที่มีอยู่ตลอดเวลานั้น คือปัจจัยที่แบงก์ชาตินำมาพิจารณาในแต่ละช่วงเวลา เพื่อตัดสินนโยบายการเงินที่เหมาะสม

สอง การขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ได้หมายความว่าหมดยุคดอกเบี้ยต่ำ ผู้ว่าแบงก์ชาติย้ำว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติต่อเนื่องเป็นเวลานานมีความจำเป็นน้อยลง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าดร.วิรไท ใช้คำว่า “การผ่อนคลายในระดับพิเศษ” เพื่ออธิบายความมุ่งหมายของแบงก์ชาติต่อท่าทีการกำหนดนโยบายการเงิน โดยระบุว่า นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษมีความจำเป็นน้อยลง แต่นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย(ธรรมดา) เพื่อดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจมีความจำเป็นอยู่

ผู้ว่าแบงก์ชาติยังแจงข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอดีตว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ 1.50 % โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำสุด 1.25 % เป็นการลดลงในช่วงเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ใน ปี 2552 ซึ่งช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจไทยขยายตัวติดลบ 0.9 %

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50 % ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวแค่ 0.7 % และใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ ต่อเนื่องเป็นเวลานานช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้

ก่อนเน้นย้ำแบบขีดเส้นใต้เอาไว้ว่า “ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีความเข็มแข็งกว่าช่วงที่ผ่านมามาก”

สาม หากดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าปัจจุบัน จะไม่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมากนัก โดยให้เหตุผลทำนองว่า เศรษฐกิจไทยตอนนี้อยู่ในช่วงขาขึ้น ปีนี้ (2561) เศรษฐกิจจะขยายตัว 4 % ต้นปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 3 % ปลายๆหรือ 4 % ต้นๆ

สี่ ดร.วิรไทกล่าวเชิงกดดันว่า หากปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานานจะสร้างผลข้างเคียง(เศรษฐกิจ) วันนี้อาจไม่รู้สึก แต่อาจเป็นปัญหาระยะยาวในอนาคต

ห้า ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ยังไม่ขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยยกตัวอย่างอินโดนีเซียที่เศรษฐกิจต่างประเทศอ่อนแอกว่าไทย ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปถึง 6 % แล้ว

saraly brand
ภาพจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย

หก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่แล้ว ไม่ได้หมายความจะส่งให้ (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่แบงก์ชาติ และ กนง.ต้องประเมินเศรษฐกิจก่อนทุกครั้ง และทำอย่างรอบครอบคล้ายกับธนาคารกลางบางประเทศที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว จะหยุดประเมินดูสถานการณก่อนว่าจะปรับ หรือไม่ปรับ

เจ็ด ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไม่ได้หมายความว่า อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับขึ้นจนกระทบกับผู้กู้ทันที ประเด็นนี้ ดร.วิรไท ให้เหตุผลว่า เพราะปัจจุบันสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์สูงมาก พร้อมกับเชิญชวนให้แบงก์พาณิชย์ปฏิบัติตามล่วงหน้าว่า แบงก์พาณิชย์ไม่จำเป็นที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ที่จะกระทบต่อผู้กู้ทันที เพราะยังมีช่องว่างในการปรับลดดอกเบี้ยของรายใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยพันธบัตร หรือตราสารหนี้ที่สูงขึ้น

อีกทั้งในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น แบงก์พาณิชย์ได้เปรียบ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะขึ้นตามระยะเวลาการฝากเงิน 3 เดือน 6 เดือน รายจ่ายดอกเบี้ยของแบงก์พาณิชย์จึงไม่ปรับขึ้นแม้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ตาม

ด้วยเหตุและผลทั้ง 7 ข้อ ที่ลำดับมา ชัดเจนว่าผู้ว่าแบงก์ชาติในฐานะประธาน กนง. ตัดสินใจแล้วว่า การประชุม กนง. ครั้งสุดท้ายของปีที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านั้น จะยกมือเลือกข้างไหน