COLUMNISTS

กิจการไฟฟ้าไทยจะไปทางไหน (2)

Avatar photo
5616

การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าของไทย

โครงสร้างกิจการฟ้าไทยเป็นรูปแบบ Single Buyer โดยมี กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการระบบส่งไฟฟ้า ผลิตไฟฟ้า และรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนทั้งใน รูป IPP และ SPP มาจนกระทั่งถึงปี 2540 ที่ประเทศไทยได้ประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ และได้เข้าขอความช่วยเหลือจาก IMF

โดย IMF กำหนดเงื่อนไขให้ไทยต้องปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมด้านบริการสาธารณะต่างๆ เช่น พลังงาน ขนส่ง และสื่อสาร เป็นต้น ในเดือนกันยายน 2541 รัฐบาลได้เห็นชอบแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ 4 สาขา ได้แก่ โทรคมนาคม สื่อสาร ประปา ขนส่ง และพลังงาน

โรงไฟฟ้า คอลัมน์

สายพลังงาน แบ่งแผนปฏิรูปออกเป็น 3 ระยะ ระยะสุดท้าย ปี  2546-2547 กำหนดให้แปรรูปโรงไฟฟ้าทั้งหมดของ กฟผ. ยกเว้นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ พร้อมกำหนดให้จัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า (Power Pool) ที่แยกเป็นอิสระ มีการแบ่งแยกบัญชีของกิจการระบบจำหน่าย (Distribution) และกิจการจัดหา (Supply) อย่างชัดเจน

ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขัน ในส่วนของค้าปลีกไฟฟ้า (Retail) ใช้กลไกตลาดแทนการวางแผนจากส่วนกลาง โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2543

โครงสร้างกิจการไฟฟ้า Enhanced Singer Buyer : ESB

ต่อมาเมื่อมีรัฐบาลใหม่ ได้มีการทบทวนแนวทางการปรับโครงสร้างที่เป็น Power Pool ดังกล่าว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2546 ให้ยกเลิกการปรับโครงสร้างดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าอาจจะก่อให้เกิดปัญหาเหมือนกับมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และอีกหลายประเทศ พร้อมมอบให้กระทรวงพลังงานไปศึกษาแนวใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2546

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางของกระทรวงพลังงานในรูปแบบ Enhanced Single Buyer (ESB) โดยมีความเห็นว่ารูปแบบนี้สามารถสร้างประสิทธิภาพภาคพลังงาน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และเพื่อรองรับบทบาทของไทยในการเป็นผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงสร้าง ESB ประกอบด้วย

1. กิจการผลิตไฟฟ้าและการส่งไฟฟ้า มี กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการผลิต และส่งไฟฟ้า รวมถึงเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว และส่งกระแสไฟฟ้าให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

2. ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator) ทำหน้าที่สั่งเดินเครื่องไฟฟ้า ซึ่งอยู่ภายใต้กิจการระบบไฟฟ้าของ กฟผ. โดยมีองค์กรกำกับ (Regulator) ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของศูนย์ให้มีความโปร่งใสสั่งจ่ายไฟฟ้าผ่านขบวนการแบ่งขอบ ( Ring Fence)เขตที่ชัดเจน

3.บทบาทของผู้ประกอบการเอกชน การผลิตไฟฟ้าในอนาคตจะมีการเปิดให้มีการแข่งขัน  โดยมีองค์กรกำกับ เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ และเงื่อนไขในการประมูล ให้มีความชัดเจน โปร่งใส ให้เป็นธรรมแก่นักลงทุน

4. การกำกับดูแล มีการจัดตั้งองค์กรกำกับ (Regulator) ภายใต้กระทรวงพลังงาน ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า กำกับดูแลอัตราค่าบริการ คุณภาพบริการ และการลงทุนให้มีความเหมาะสมพอเพียง รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ พร้อมทั้งดูแลให้ความเป็นธรรมกับนักลงทุน และคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับคุณภาพบริการที่ดี

energy 2904606 640

กฟผ. จะมีการแปรสภาพเป็นบริษัททั้งองค์กรและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในไตรมาสที่ 3 (ปี พ.ศ. 2547) โดยมีการแยกทางบัญชี (Account Unbundling) ระหว่างกิจการผลิต และกิจการระบบส่ง เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงาน และส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนนงาน ส่วน กฟน. และกฟภ. จะเป็นผู้ดำเนินการระบบจำหน่าย และการค้าปลีก (Retail) ภายในพื้นที่รับผิดชอบของตน โดยจะมีการแยกทางบัญชีระหว่างธุรกิจจำหน่ายและค้าปลีกไฟฟ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

ประเทศไทยใช้โครงสร้าง ESB มานับจากนั้น โดยมีการจัดตั้งองค์กรกำกับกิจการไฟฟ้า ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า พ.ศ. 2548 และต่อมาได้มีการออกพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 11 ธันวาคม 2554