CSR

ปตท.สผ.หนุน ‘ศูนย์เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขา’ เพิ่มรายได้ชาวประมงยั่งยืน 

จากปัญหาปริมาณสัตว์น้ำลดลงจากปัจจัยต่างๆ ทั้งการจับสัตว์น้ำเกินผลผลิตจากธรรมชาติ การใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม รวมถึงปัญหาคุณภาพน้ำทะเลและการกัดเซาะชายฝั่งตามธรรมชาติ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำอย่างมาก

ptt2
ลูกปูจากไข่ปูที่ได้รับการอนุบาล ที่ศูนย์เพาะฟักลูกปู เตรียมนำปล่อยสู่ทะเล

โดยเฉพาะสัตว์น้ำทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่าง “ปู” ทำให้ชาวประมงมีรายได้ลดลง จากที่เคยจับได้วันละเกือบ 100 กิโลกรัม มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 4,000 – 6,000 บาทต่อวัน กลับมีรายได้ลดลงเหลือเพียงไม่กี่ร้อยบาท ทำให้บางครัวเรือน ซึ่งยึดอาชีพประมงมาทั้งชีวิต และเป็นรายได้หลักเลี้ยงครอบครัวต้องหันเหไปทำอาชีพอื่น

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ตระหนักถึงปัญหาของพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ จึงหารือร่วมกับกลุ่มออมทรัพย์ประมงพื้นบ้าน ป.ทรัพย์อนันต์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา (NICA) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เพื่อหาแนวทางพัฒนาอาชีพประมงให้มีความยั่งยืน จนก่อเกิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขา” (โครงการเพาะฟักลูกปูคืนสู่ธรรมชาติ) ที่ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งปัจจุบันมีชาวประมงเป็นสมาชิกประมาณ 80 คน

ในตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ปตท.สผ. ได้นำความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีมาช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ของชาวบ้านในการเพาะฟักลูกปู พัฒนาบ่อเพาะฟักลูกปู บ่อเลี้ยงแพลงก์ตอนพืช พัฒนาระบบเครื่องเติมอากาศ การควบคุมอุณหภูมิและการปรับปรุงคุณภาพน้ำทะเลให้เหมาะสมสำหรับการเพาะฟักลูกปู เพื่อใช้เป็นแหล่งเพาะฟักพันธุ์ และอนุบาลลูกปูก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

นอกจากนั้น ยังได้สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาและก่อสร้างโรงเพาะฟักลูกปู ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นศูนย์สร้างการเรียนรู้แก่ชุมชนและประมงพื้นบ้าน มีประชาชนจากจังหวัดอื่นๆ เข้ามาเรียนรู้วิธีการเพาะฟักลูกปูที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังได้รับความสนใจจากหน่วยงานราชการ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เข้าเยี่ยมชมที่ศูนย์เพาะฟักลูกปูแห่งนี้ ปีละประมาณ 1 หมื่นคน

“ปตท.สผ.มีฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียม ท่าเทียบเรือ และคลังสินค้าเพื่อให้การสนับสนุนในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย และอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนมาโดยตลอด และได้รับทราบปัญหาจากชาวประมงพื้นบ้าน จึงได้เข้าไปสนับสนุนการสร้างบ่อปูนเก็บน้ำและอนุบาลลูกปูในพื้นที่ และนำนักวิชาการมาให้ความรู้ ส่งเสริมธนาคารปูของกลุ่มประมงพื้นบ้าน ป. ทรัพย์อนันต์ ให้พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขาอย่างเต็มรูปแบบ” นายประพนธ์ จารุไสลพงษ์ ผู้จัดการอาวุโส ฐานสนับสนุนการพัฒนาปิโตรเลียมสงขลา ปตท.สผ. กล่าว

พร้อมกันนี้ ปตท.สผ. ยังได้สร้างอาคารสองชั้นมอบให้ทางกลุ่มฯ ด้วย โดยชั้นบนเป็นห้องจัดอบรม ส่วนชั้นล่างเป็นพื้นที่นิทรรศการมีชีวิตและโรงเพาะฟักและอนุบาลลูกปู รองรับผู้มาเยี่ยมชมเพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติจริงไปพร้อมกัน

ขณะที่ นายอนันต์ มานิล ประธานกลุ่มออมทรัพย์ประมงพื้นบ้าน ป.ทรัพย์อนันต์ หรือ ลุงนันต์ เล่าว่า ที่ศูนย์เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขา จะมีจุดแข็งในการเพาะฟักลูกปูเพื่อเพิ่มอัตราการรอดของปูโดยจะใช้แม่พันธุ์ปูชั้นดีจากธรรมชาติ และนำน้ำทะเลซึ่งห่างออกไปจากชายฝั่ง 20-25 กิโลเมตร มาใช้ในการเพาะฟักลูกปู และควรปล่อยลูกปูในระยะซูเอี้ย (zoea) หรือระยะเวลาตั้งแต่ 1-6 วันจนถึงระยะตัวเต็มวัย (young crab) จะทำให้อัตราการรอดมีสูงถึง 50% เมื่อเทียบกับวิธีการอื่น ซึ่งนอกจากจะเพาะฟักลูกปูคืนสู่ธรรมชาติได้จำนวนมากแล้ว ยังสามารถเพาะฟักได้ทั้งปูน้ำเค็มและน้ำกร่อย เช่น ปูม้า ปูเสือ และปูดำได้อีกด้วย

ptt3

ป้าต้อย สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ประมงพื้นบ้าน ป.ทรัพย์อนันต์
ยีไข่ปูก่อนแยกไปอนุบาลในบ่อที่จัดเตรียมไว้ และปล่อยสู่ทะเลเมื่อมีขนาดเหมาะสม

“เราจะนำแม่ปูไข่นอกกระดองที่มีสีดำหรือเทามาเขี่ยหรือยี ให้หลุดออกมาคล้ายเม็ดทรายเล็กๆ แล้วนำไข่ที่ได้มาใส่ถัง 15 ลิตร ทิ้งไว้ 1 วัน เพื่อให้ไข่ฟักแตก ส่วนที่เป็นลูกปูก็จะลอยขึ้น จากนั้นจะนำไปเพาะเลี้ยงให้ได้ระยะในบ่อเพาะฟัก ที่ต้องควบคุมอุณหภูมิประมาณ 30 องศา เพื่อให้ได้ลูกปูอายุประมาณ 1 สัปดาห์จนเริ่มเข้าสู่ระยะซูเอี้ย 2 ที่ลูกปูพอจะเอาตัวรอดในทะเลได้ เพื่อเพิ่มอัตราการรอดตาย”

วิธีนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะสามารถปล่อยลูกปูกลับสู่ทะเลได้มากกว่าเดิมหลายเท่า ตอนนี้ชาวประมงแม้จะไม่ได้อยู่เป็นสมาชิกของกลุ่ม ก็สามารถจับปูม้า ปูดำ ปูเสือได้มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว บางคนจับปูได้วันละ 1,000 กิโลต่อลำ รายได้ก็กลับมาเพิ่มขึ้น เลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัวได้ สิ่งที่ทำไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของกลุ่มประมง แต่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม

จากกระบวนการคิด กลั่นกรอง จนเป็นวิธีการเทคนิคต่างๆ นี้ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ล้วนเกิดจากการร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันระหว่างชุมชน ภาครัฐ สถาบันการศึกษาและภาคเอกชน

ปัจจุบันสามารถปล่อยลูกปูคืนสู่ธรรมชาติไปแล้วกว่า 500 ล้านตัว และจากการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่าชาวประมงมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 60,000 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี ต่อยอดจากความวิริยะอุตสาหะ และความตั้งใจของชุมชนในการแก้ไขปัญหา ปตท.สผ.ได้เข้าไปร่วมจัดทำแผนการอนุรักษ์ในระยะยาวในการพัฒนาโรงเพาะฟักทรัพยากรสัตว์น้ำ

โดยรวบรวมองค์ความรู้การเพาะฟักในทะเลสาบสงขลา ต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ประชาชน นักเรียน นักศึกษาหรือกลุ่มอนุรักษ์อื่นๆ ที่สนใจ เข้ามาศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนของตนเอง องค์ความรู้จากชาวบ้านที่บ้านหัวเขานับเป็นต้นแบบในการขยายผล สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างส่วนราชการ ภาคเอกชนและชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนชาวสงขลาต่อไป

ptt4
ชาวประมง ช่วยกันนำไข่ปูที่ยีแล้วไปอนุบาลในบ่อพักน้ำทะเล

ในปี 2560 ปตท.สผ. ได้ขยายผลโครงการเพาะฟักลูกปูเพิ่มเติมทั้งในจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และปัตตานี พบว่า กลุ่มอนุรักษ์ชายฝั่งและฟาร์มทะเลชุมชนบ้านใหม่ (ท่าเสา) ชุมชนบ้านใหม่ ม. 1 ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 200 ครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพประมง ได้รับผลกระทบจากทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงเช่นเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆ และเป็นหนึ่งในกลุ่มเครือข่ายที่ความเข้มแข็งและมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ

ปตท.สผ.จึงให้การสนับสนุนในการจัดตั้งเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำในพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา และสร้างบ้านปลาจากวัสดุท้องถิ่น ต้นโกงกางและกิ่งไม้ เป็นบ้านปลามีชีวิตแห่งแรกกลางทะเลสาบสงขลา ก่อนที่จะส่งเสริมในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมตามความต้องการของชุมชน เพื่อสานต่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์ที่แท้จริงแก่ชุมชน

จากความสำเร็จของศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปูบ้านหัวเขา ปตท.สผ. จึงขยายผลและส่งเสริมจัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลเพิ่มเติมที่ชุมชนบ้านพังสาย ตำบลกระดังงา อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา หรือกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลและชายฝั่งบ้านพังสาย ซึ่งให้สนใจและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นศูนย์เพาะฟักลูกปู

ปตท.สผ. จึงเข้าไปให้การสนับสนุนจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์เพาะฟักลูกปูและสัตว์น้ำกลุ่มพังสาย เพื่อให้ชุมชนขยายผลในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำอื่นๆ เพิ่มเติมจากลูกปู โดยคาดว่าอาคารศูนย์อนุรักษ์เพาะฟักลูกปูและสัตว์น้ำแห่งนี้ จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2561 เพื่อช่วยต่อยอดพัฒนาการทำประมงของชุมชน เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและผลผลิตจากการทำประมง พัฒนาเป็นต้นแบบในการทำประมงแบบยั่งยืนแก่กลุ่มประมงพื้นบ้านอื่นๆ ต่อไป

Avatar photo