Economics

ไทยเตรียมลงนามซื้อไฮสปีดจีน 4 หมื่นล้านบาท

ไทยตั้งเป้าลงนามสัญญาซื้อระบบไฮสปีดจากประเทศจีน วงเงิน 4 หมื่นล้านบาทช่วง ม.ค. 62 ด้าน “อาคม” เล็งเปิดประมูลงานโยธารถไฟไทย – จีนวงเงิน 1.1 แสนล้านบาทช่วง ก.พ. ปีหน้า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 26 วันนี้ (23 พ.ย.) ว่า โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 3.5 กิโลเมตรและอยู่ระหว่างการประมู 11 กิโลเมตร

S 71647260

สำหรับเส้นทางที่เหลืออีก 238.5 กิโลเมตร ถูกแบ่งเป็นงานโยธาจำนวน 12 สัญญา วงเงินรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะทยอยเปิดประมูลในต้นปี 2562

สำหรับ 5 สัญญาแรกจะเปิดประมูลในเดือนมกราคม 2562 และ 7 สัญญาสุดท้ายจะเปิดประมูลในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยจะทราบผลการประมูลในเดือนมีนาคม 2562 และใช้เวลาก่อสร้างงานโยธาอีก 36 เดือนจึงแล้วเสร็จ

ลงนามซื้อระบบไฮสปีดจีน 4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ฝ่ายไทยและฝ่ายจีนอยู่ระหว่างเจรจาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ กรอบวงเงิน 40,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินกู้ดังกล่าวไปว่าจ้างฝ่ายจีนวางราง ติดตั้งระบบการเดินรถ ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ และผลิตขบวนรถไฟความเร็วสูง

S 71647259

โดยล่าสุดกระทรวงการคลังของไทยเสนอขอกู้เงินในอัตราดอกเบี้ย 2.6% จากฝ่ายจีน แต่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (China EXIM) ได้เสนอดอกเบี้ยในอัตรา 3%

ดังนั้น ฝ่ายจีนจึงต้องไปพิจารณาข้อเสนอเรื่องอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งและเสนอคำตอบให้กระทรวงการคลังของไทยพิจารณาภายในเดือนธันวาคม 2561 เพื่อสรุปเรื่องทั้งหมดให้ทันการประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 27 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในวันที่ 25 มกราคม 2562 ซึ่งมีจะการลงนามสัญญาโครงการรถไฟไทย-จีน ฉบับที่ 2.3 เพื่อว่าจ้างฝ่ายจีนให้การวางราง ติดตั้งระบบการเดินรถ ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมผลิตขบวนรถ ด้วยกรอบวงเงินเบื้องต้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

“ตอนนี้ไทยและจีนเจรจาเงื่อนไขเงินกู้หมดแล้ว เหลือเพียงเรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งฝ่ายจีนจะให้คำตอบภายในเดือนธันวาคมนี้ แล้วกระทรวงการคลังจะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายว่ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 1 เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา จะก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จในปี 2564 จากนั้นจะเปิดให้บริการได้ในปี 2565

S 71647261

“หนองคาย” จุดเปลี่ยนถ่ายไฮสปีดไทย – ลาว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งนี้ ยังได้เห็นชอบให้ฝ่ายไทย ดำเนินการทบทวนผลการศึกษาและออกแบบรายละเอียด โครงการรถไฟไทย – จีน เฟสที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร โดยมีฝ่ายจีนเป็นที่ปรึกษา

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง สปป.ลาว ได้ตกลงจะให้ จ.หนองคาย เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายรถไฟความเร็วสูงระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว โดยฝ่ายไทย ฝ่ายจีน และฝ่ายลาว จะประชุมเพื่อสรุปรูปแบบการเปลี่ยนถ่ายระหว่างอีกครั้งในเดือนมกราคม 2562

ขณะเดียวกันที่ประชุมฯ เห็นชอบหลักการฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้บุคลากรฝ่ายไทย ประมาณ 900 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับการฝึกอบรมในประเทศไทย และเห็นชอบร่วมกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการทดสอบชิ้นส่วนรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงด้วย

Avatar photo