World News

สงครามการค้าฉุดเศรษฐกิจ 5 เสืออาเซียน

การทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พึ่งพาการส่งออกอย่างมาก และทำให้แนวโน้มธุรกิจของภูมิภาคนี้มืดหม่นลง

1cb3

เศรษฐกิจของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่างชะลอตัวลงในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ หลังจากที่ชาติเศรษฐกิจรายใหญ่สุด 2 รายของโลกเปิดศึกขึ้นภาษีต่อสินค้านำเข้าของอีกฝ่ายหนึ่ง

ข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) แสดงให้เห็นว่า อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของ 5 เศรษฐกิจใหญ่ในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในไตรมาสที่ผ่านมา นับถึงเดือนกันยายนอยู่ที่ 4.5% ลดลงจากระดับ 5.5% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ในไตรมาสที่แล้ว เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวเพียง 2.2% ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจากการเติบโตในไตรมาสก่อนหน้านี้ ที่ 4.4% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวในภาคการผลิต

กระทรวงการค้า และอุตสาหกรรมสิงคโปร์ แถลงว่า มีความเสี่ยงที่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ กับประเทศคู่ค้ารายใหญ่ๆ ที่กำลังดำเนินอยู่จะเพิ่มความรุนแรงมากกว่านี้ ซึ่งจะจุดชนวนให้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และผู้บริโภคโลกดิ่งลงอย่างหนัก

ไทยก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวอย่างหนักหน่วงเช่นกัน ด้วยการขยายตัวในไตรมาสลดลงมาอยู่ที่ 3.3% จากระดับ 4.6% ในไตรมาส 2 ของปีนี้

ภาคส่งออก ที่คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทย ปรับลดลงมาเหลือ 0.1% ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้น 6.8% ในไตรมาสก่อนหน้านั้น สาเหตุหลักจากการส่งออกไปจีน จุดหมายปลายทางการส่งออกใหญ่สุดของประเทศ ลดลงอย่างหนัก
สถานการณ์ข้างต้นยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้

กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์จากแคปิตัล อิโคโนมิคส์ แสดงความเห็นว่า การที่เศรษฐกิจสหรัฐ และจีนมีแนวโน้มที่จะโตลดลงในช่วงไตรมาสต่อๆ ไป ทำให้ความต้องการภายนอกประเทศของภาคส่งออกไทยส่อแววที่จะซบเซาลง

“สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ ที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อความต้องการ และส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยที่ต้องส่งออกไปยังจีนจำนวนหนึ่ง”

เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ที่การส่งออกขยายตัวช้าลงในไตรมาสที่ผ่านมา ฉุดให้การเติบโตของประเทศ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในภูมิภาคนี้ ลดลงมาอยู่ที่ 5.17% จากระดับ 5.27% ส่วนการส่งออกจากมาเลเซีย ลดลง 0.8% ดึงการเติบโตโดยรวมลดลงมาอยู่ที่ 4.4%

สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการภาคเอกชน พากันกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และภาคธนาคารท้องถิ่น ต่างพากันเตรียมพร้อมรับมือกับการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง

เอ เชคาร์ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ (ซีโอโอ) โอแลม อินเตอร์เนชันแนล ในสิงคโปร์ ระบุว่า สงครามการค้าทำให้เกิดความผันผวนอย่างมากในระยะสั้น โดยบริษัทของเขามีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ร่วงลงถึง 14%

ส่วน แซมมวล เซียน ซีอีโอโอเวอร์ซี ไชนีส แบงกิ้ง คอร์ป ธนาคารรายใหญ่สุดอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่สินทรัพย์ มองว่า ความตึงเครียดทางการค้า กำลังสะท้อนออกมาให้เห็นในเศรษฐกิจปีหน้า ซึ่งจะทำให้การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งด้านสินเชื่อของธนาคารในปีนี้ ลดลงเล็กน้อยในปี 2562

ที่มา: Nikkei Asian Review

 

 

Avatar photo