Economics

กลัวตกยุค!! กฟผ.จับมือสกว.ดึงงานวิจัยอัพเดตเทรนด์

กฟผ.-สกว.เปิดเวทีระดมสมอง อัพเดตเทคโนโลยีสถานการณ์ใกล้ตัว พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยด้านพลังงาน หวังรับมือการพลิกโฉมไฟฟ้าไทยและปรับตัวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 6 ปีเกิดแล้ว 43 โครงการ อัดเงินสนับสนุนไปแล้วกว่า 140 ล้านบาท  

DSC02854

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  เปิดเผยในงานสัมมนาวิจัยพลังงานสู่การใช้งานจริงอย่างยั่งยืน ปีที่ 4 ภายใต้แนวคิด “การพลิกโฉมไฟฟ้าไทย” (Disruptive Technology) ว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของระบบไฟฟ้าของโลกก้าวไปถึงจุดที่มีการเปิดเสรีทั้งในสหรัฐ และสิงคโปร์ เปิดกว้างให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตและขายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้  รวมถึงประเทศไทย ที่ผู้บริโภคเริ่มผลิตไฟฟ้าใช้เองได้แล้ว จึงส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีผลกระทบ เช่น  ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ฯลฯ ที่กำลังถาโถมเข้ามา และส่งผลต่อการซื้อขายไฟฟ้าในอนาคต ทำให้แต่ละภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมพร้อมโดยใช้งานวิจัยเป็นฐาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ทัน

อ.ศุภชาติ
รศ. ดร.ศุภชาติ จงไพบูลย์พัฒนะ

ขณะที่ รศ. ดร.ศุภชาติ จงไพบูลย์พัฒนะ สำนักประสานงานโครงการร่วมฯ กฟผ.-สกว. ระบุว่า มีแนวโน้มที่โครงข่ายพลังงานไฟฟ้าจะปรับเปลี่ยนไปในลักษณะที่มีผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งขายเองด้วยที่มีขนาดเล็กเกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น โซลาร์เซลล์ กังหันลม ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง  เป็นต้น โดยมีสมาร์ทเซนเซอร์ หรือสมาร์ทมิเตอร์เข้ามาเป็นกลไกสำคัญ ที่สามารถวิเคราะห์ปริมาณ และคุณภาพของระบบไฟฟ้าตนเองได้ พร้อมมีสายส่งเชื่อมโยงถึงกันและกันด้วยระดับสมาร์ทกริด สื่อสารข้อมูลกันเองผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน

เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณูปโภคไฟฟ้าแบบเดิมๆ ที่ผูกขาดดำเนินงานให้บริการ รวมถึงเกิดผู้เล่นรายใหม่ที่จะเข้ามาสู่ตลาดสาธารณูปโภคไฟฟ้า สิ่งที่น่ากังวล คือ ตอนกลางวันแดดจัด ทำให้คนใช้ไฟจากการไฟฟ้าน้อยลง เกิดปัญหากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่าง กฟผ. เช่นเดียวกับที่เกิดในต่างประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี

นอกจากนี้ขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้า และมาตรการเชิงนโยบายทั้งในระดับประเทศ และท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะในเขตเมือง ทำให้ยานยนต์ที่ใช้น้ำมันจะถูกพลิกโฉมไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอนในอนาคต

“อาจคาดไม่ได้ว่าจะพลิกโฉมเร็วเพียงใด ภายในกี่ปีข้างหน้า แต่ชะล่าใจไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถทำให้หลายอย่างถูกพลิกโฉมไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันตั้งตัว สิ่งสำคัญคือเราจะหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร เช่น ผลิตสมาร์ทมิเตอร์ในประเทศได้เอง ช่วยประหยัดเงิน เพิ่มการจ้างงาน และสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับไทย”

รศ. ดร.ศุภชาติ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้กฟผ.ต้องปรับตัวอย่างมาก โดยนำการวิจัยและพัฒนามาช่วยสนับสนุน ซึ่ง 6 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2555 ที่ได้ร่วมมือกับสกว.ในการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาด้านพลังงาน ก่อให้เกิดโครงการสำคัญที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ถึง 45 โครงการ และกำลังมีเพิ่มอีก 3 โครงการเร็วๆนี้ รวมวงเงินทุนสนับสนุนกว่า 140 ล้านบาท

ผู้ช่วยผู้ว่าการอาวุโส กฟผ.
ภัทรพงศ์ เทพา

ด้านนายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการอาวุโส กฟผ. กล่าวว่า เทคโนโลยีพลิกโฉมกำลังจะมาพลิกโฉมระบบไฟฟ้า นอกจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนจะมีบทบาทมากขึ้นแล้ว ผู้บริโภคผลิตไฟฟ้าด้วย ที่เรียกว่า Prosumer  และมีการซื้อขายกันเองไม่ผ่านระบบสายส่งไฟฟ้า วันนี้ กฟผ.จึงมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าลดลงเหลือ 35-36%

ดังนั้นกฟผ.ในอนาคตจะอยู่ได้และเดินหน้าได้อย่างไร งานวิจัยจะเข้ามาช่วยได้ กฟผ.จึงร่วมมือกับสกว. โดยเบื้องต้น “แบตเตอร์รี่”จะเป็นเทคโนโลยีที่มาตอบโจทย์ได้ เพื่อมาบริหารจัดการไฟฟ้าของประเทศ และจำเป็นต้องนำงานวิจัยมาใช้ในการแก้ปัญหาทางเทคนิคด้วย โดยเฉพาะกรณีแก้ปัญหาไฟฟ้าดับวงกว้าง เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก

หลังจากเกิดล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุฟ้าผ่าทางสปป.ลาว ซึ่งไทยรับไฟฟ้าพลังน้ำจากลาวผ่านสายส่ง 500 เควี ทำให้ไฟฟ้าของไทยตกดับไปด้วย แม้จะแก้ปัญหาหลายอย่างแล้ว เช่น ผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าของไทยเพิ่มขึ้น แต่ความถี่ของไฟฟ้ายังตก เพราะการใช้ไฟฟ้าไม่ได้หายไป ต้องตัดสินใจซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียมาใช้ฉุกเฉิน แต่ความถี่ก็ยังตกอยู่เช่นเดิม สุดท้ายการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าก็สะบัดออกจากระบบ จนทำให้กำลังผลิตหายไปช่วงเวลาเสี้ยววินาทีถึง 3,800 เมกะวัตต์ นี่คือสิ่งที่กฟผ.จะต้องวิจัย และศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาทางเทคนิคให้ได้

 

Avatar photo