Economics

กสทช.ผ่านเกณฑ์เรียกคืนคลื่นฯ-เยียวยา

กสทช. ผ่านหลักเกณฑ์การเรียกคืนคลื่นความถี่ไม่ใช้ประโยชน์หรือใช้ไม่คุ้มค่า พร้อมเยียวยา เพื่อนำกลับมาประมูลใหม่  เตรียมส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ มีมติอนุญาตให้ “เอไอเอส-ทรู” สาธิตเทคโนโลยี 5G วันที่ 22 พ.ย.-15 ธ.ค.นี้

กสทช
ฐากร ตัณฑสิทธิ์

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (22 พ.ย.) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ที่ได้ปรับปรุงจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป โดยขั้นตอนการดำเนินการดังนี้

1.สำนักงาน กสทช. จัดทำรายงานวิเคราะห์ประเมินว่าจะเรียกคืนคลื่นความถี่ย่านไหน
2.ขณะเดียวกันจะดำเนินการจ้างที่ปรึกษาซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของรัฐ หรือสถาบันวิจัยของรัฐ หรือสถาบันวิจัยที่ไม่แสวงหากำไร อย่างน้อย 3 ราย มาทำการประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่
3.นำผลการประเมินมูลค่าคลื่นฯ จาก 3 หน่วยงานข้างต้น มารายงานให้คณะอนุกรรมการซึ่งประกอบด้วย 1.ผู้แทนจากสำนักงาน กสทช. 2.ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง 3.ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด 5.ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 6.ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และ7.ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ทั้งนี้ประธานกรรมการจะได้จากคณะอนุกรรมการจะประชุมกันเพื่อคัดเลือกประธานเอง) ซึ่งคณะอนุกรรมการจะพิจารณาว่ามูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่นั้นเหมาะสมหรือไม่
4.นำเสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งหมดเพื่อเรียกคืนคลื่นความถี่ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 270 วัน หลังจากนั้น สำนักงาน กสทช. จะนำคลื่นความถี่ที่เรียกคืนกลับมาไปประมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

กสทช. 5จี

นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติอนุญาตให้บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ใช้คลื่นความถี่ย่าน 28 GHz เพื่อสาธิต (Demonstration) เครื่องวิทยุคมนาคม สำหรับแสดงเทคโนโลยี 5G เป็นการชั่วคราว ในระหว่างวันที่ 22 พ.ย.-15 ธ.ค. 2561 ณ ไอคอน สยาม โดยใช้กำลังส่งเพื่อการทดสอบไม่เกิน 23 dBm (200 มิลลิวัตต์)

พร้อมทั้งอนุญาตให้บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด นำเข้าเครื่องวิทยุคมนาคม ตราอักษร HUAWEI รุ่น AAU5G28A (AAU28A) จำนวน 2 ชุด และตราอักษร HUAWEI รุ่น 5G CPE จำนวน 4 ชุด พร้อมอุปกรณ์ประกอบ เพื่อนำมาใช้ในการจัดแสดงและสาธิตดังกล่าว

นอกจากนี้ได้อนุญาตให้บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด ใช้คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz เพื่อสาธิต (Demonstration) เครื่องวิทยุคมนาคม สำหรับแสดงเทคโนโลยี 5G เป็นการชั่วคราว เพื่อใช้ในการสาธิตเครื่องวิทยุคมนาคม ตราอักษร NOKIA รุ่น AEUA และตราอักษร Intel รุ่น Intel MTP จำนวนรุ่นละ 1 ชุด ในระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน- 15 ธันวาคม 2561 ณ AIS TCDC Center ห้างสรรพสินค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยม ชั้น 5 โดยใช้กำลังส่งเพื่อการทดสอบไม่เกิน 200 มิลลิวัตต์

Avatar photo