Economics

เสนอขยายเวลาโปรโมชันส่วนลดบี 20 ลิตรละ 5 บาทเป็น 1 ปี

ผู้ประกอบการขนส่งฯ ขอขยายเวลาโปรโมชันส่วนลดบี 20 สัดส่วน 5 บาทต่อลิตรเป็น 1 ปีจากมติเดิม 3 เดือน ด้านกรมธุรกิจฯไม่รับปาก ขอหารือในกบง.

diesel fuel pump minerva studio istock

การที่กระทรวงพลังงานกลายเป็นด่านหน้ารับแรงกดดันจากชาวสวนปาล์มที่ประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ ทำให้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้โหมการใช้น้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) เป็นเชื้อเพลิง โดยเฉพาะบี 20 หรือดีเซลที่มีส่วนผสมของซีพีโอสัดส่วน 20% โดยตั้งเป้าหมายการใช้ 15 ล้านลิตรต่อวัน

แต่ดูเหมือนตอนนี้ยังไกลเกินเอื้อม ปัจจุบันที่มียอดการใช้เพียง 5 แสนลิตรต่อวัน ทำให้ต้องมีมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อให้ส่วนลดราคาน้ำมันบี 20 ให้ต่ำกว่าดีเซลปกติ 5 บาทต่อลิตร จากเดิม 3 บาทต่อลิตร  เพื่อกระตุ้นยอดการใช้ซีพีโอ หลังสต็อกล้นทะลักถึง 450,000 ตัน

วันนี้ ( 21 พ.ย.) กรมธุรกิจพลังงาน  ยังได้เรียกผู้ประกอบการขนส่งทุกค่าย และผู้ค้ามาตรา 7 มาหารือ เพื่อให้เข้ามาใช้บี 20 มากขึ้น

นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการหารือว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ช่วยทั้งผู้ประกอบการขนส่ง และชาวสวนปาล์ม แต่ต้องการให้นโยบายนี้มีความต่อเนื่องระยะยาว จึงมีข้อเสนอในที่ประชุมให้ขยายระยะเวลาการให้ส่วนลด 5 บาทต่อลิตรเป็น 10 เดือน หรือ 1 ปีจากนโยบายให้ส่วนลด 3 เดือน ระหว่างธันวาคม 2561 – 28 กุมภาพันธ์ 2562 โดยเรื่องนี้กรมธุรกิจพลังงานระบุว่าจะต้องนำเข้าหารือในกบง.เพื่อพิจารณาก่อน

“การให้ส่วนลด 5 บาทต่อลิตร จูงใจให้ผู้ประกอบการขนส่งสนใจแน่นอน เมื่อเทียบกับให้ส่วนลด 3 บาทต่อลิตร ซึ่งไม่แตกต่างจากที่เขาซื้อจากผู้ค้าส่ง (จ็อบเบอร์) แต่เห็นว่าการให้ส่วนลด 5 บาทต่อลิตรแค่ 3 เดือนสั้นเกินไป ไม่น่าจะได้ผลมากนัก ต้องทำให้ระยะยาวจึงจะเห็นผลจริง ไม่อยากเห็นเป็นแบบส่วนลดเอ็นจีวีที่ไม่ยั่งยืน”

เขายังเสนอให้มีกระบวนการศึกษาทางวิชาการอย่างเป็นระบบถึงการใช้บี 20 ว่าเครื่องยนต์ใดใช้ได้ และต้องทำอย่างไร เช่น ต้องปรับแต่งเครื่องยนต์อย่างไร และเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะการโปรโมทเกินไป อาจทำให้ประชาชนสับสน

thongyu
ทองอยู่ คงขันธ์

โดยหลักแล้วบี 20 จะใช้ได้กับเครื่องยนต์เก่ามาตรฐานยูโร 1 หรือ 2 เท่านั้นสูงกว่านั้น หรือเครื่องยนต์คอมมอนเรลใช้ไม่ได้เลย เพราะเครื่องพังแน่นอน ขณะเดียวกันเครื่องยนต์ยูโร 1 หรือ 2 จะใช้ได้ก็ต้องปรับแต่งเล็กน้อย ทั้งเครื่อง ไส้กรอง น้ำมันเครื่อง รวมค่าใช้จ่ายต่อคันประมาณหมื่นบาทเศษ

นอกจากนี้ยังเสนอให้ผู้ค้ามาตรา 7 เข้ามาดูแลนำแทงก์ขนาดใหญ่บรรจุบี 20 มาติดตั้งที่ฝูงรถพร้อมใช้งาน และให้ขั้นตอนการอนุญาตนำแทงก์ขนาดใหญ่มาตั้งรวดเร็วมากขึ้น เพื่อให้โครงการนี้เริ่มได้เร็ว

นายทองอยู่ กล่าวต่อว่า เป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่กระทรวงพลังงานหันมาส่งเสริมบี 20 อย่างจริงจังกับผู้ประกอบการรถบรรทุก เพราะมีสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลถึง 50 % และมียอดรถบรรทุกรวมประมาณ 2.5 แสนคัน

หากทุกค่ายหันมาใช้บี 20 ก็จะช่วยดันยอดการใช้บี 20 ได้สูง เพราะปัจจุบันใช้ดีเซลอยู่ 300 ลิตรต่อคันต่อวัน หากทั้งหมดใช้บี 20 จะทำให้ยอดการใช้พุ่งไปถึง 75 ล้านลิตรต่อวัน เมื่อเทียบกับ บี 7 ซึ่งใช้กับรถทั่วไปที่มียอดการใช้น้อยมาก

Avatar photo