World News

3 พันธมิตรส่อแววระส่ำ กับอนาคตที่ไร้เงา ‘คาร์ลอส โกสน์’

การจับกุมนาย “คาร์ลอส โกสน์” ผู้เป็นแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังการจับมือเป็นพันธมิตร 3 ฝ่ายของค่ายรถยนต์ชั้นนำระดับโลก เรโนลต์ นิสสัน มอเตอร์ และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ทำให้บริษัททั้ง 3 ราย จะต้องหาทางรักษาสายสัมพันธ์นี้เอาไว้ให้ได้เหมือนตอนที่โกสน์ยังอยู่

Nissan Carlos Ghosn afp
คาร์ลอส โกสน์

“เรากำลังทำงาน เพื่อรับประกันว่า จะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อการเป็นพันธมิตรของทั้ง 3 บริษัท” ฮิโรโตะ ไซกาวะ ซีอีโอนิสสัน แถลงเมื่อคืนวานนี้ (19 พ.ย.)

ขณะที่มิตซูบิชิ ระบุว่า มีแผนที่จะปลดโกสน์ ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร เช่นเดียวกับเรโนลต์ ที่คาดว่าจะจัดการประชุมบอร์ดบริหาร เพื่อตัดสินใจว่าจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร

การที่บริษัททั้ง 3 รายนี้ ไม่มีใครถือหุ้นข้างมากในแต่ละบริษัท ทำให้การเป็นพันธมิตรไม่ได้มีความเข้มแข็งมากเท่าใดนัก ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศส ที่ต้องการเพิ่มผลประโยชน์ให้กับเรโนลต์ ได้ยอมอนุมัติให้โกสน์ทำหน้าที่ซีอีโอของเรโนลต์ไปจนถึงปี 2565 ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า เขาจะต้องกำหนดกรอบการเป็นพันธมิตร 3 ฝ่ายที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้

แต่ความเป็นจริงที่ว่า เรโนลต์เป็นผู้ครอบครองกำไรส่วนใหญ่ของนิสสัน ทำให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นรายนี้รู้สึกไม่ค่อยพอใจนัก โดนผลกำไรจากนิสสันคิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของตัวเลขกำไรสุทธิของเรโนลต์ เมื่อปีที่แล้ว และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ทาคากิ นากานิชิ นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยนากานิชิ แสดงความเห็นว่า พันธมิตร 3 รายนี้ อาจจะเกิดความไม่ลงรอยด้านกลยุทธ์กันมากขึ้น ทั้งยังอาจเกิดการดิ้นรนเพื่อครองอำนาจมากขึ้นเช่นเดียวกัน

“โกสน์เป็นศูนย์กลางในการก่อตั้งพันธมิตร ซึ่งการหารือถึงวิธีการปรับโครงสร้างพันธมิตรนี้ น่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นมาได้ เพราะเสาหลักของกลุ่มล้มลงไปแล้ว”

gosn

ที่ผ่านมา โกสน์ยังพยายามที่จะสร้างความร่วมมืออย่างแข็งแกร่งระหว่าง 3 บริษัท ควบคู่ไปกับการทำให้แต่ละบริษัทมีอิสระในการดำเนินงานของตัวเอง แต่ภายใต้การบริหารของผู้นำใหม่ กลไกนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไป

ตามกลยุทธ์ระยะกลางที่วางไว้นั้น บริษัททั้ง 3 รายนี้ มีแผนที่จะขายรถยนต์ให้ได้ 14 ล้านคันภายในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 40% จากปัจจุบัน พร้อมเพิ่มงบกลางปีละ 10,000 ล้านยูโร แต่การขาดโกสน์ ผู้ก่อตั้ง และสถาปนิกผู้ออกแบบการเป็นพันธมิตรนี้ ก็จะอาจจะส่งผลกระทบต่อแผนการเหล่านี้ได้

ทั้งนี้ การจับมือเป็นพันธมิตรของทั้่ง 3 บริษัท เกิดขึ้นบนกรอบการทำงานที่ไม่ปกตินัก โดยท้้ง 3 บริษัท มีสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศ อยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ผ่านการร่วมทุนกันระหว่างนิสสัน และเรโนลต์ฝ่ายละ 50% ทำหน้าที่ร่างกลยุทธ์ระยะกลาง-ระยะยาว และตัดสินใจว่า จะแบ่งปันทรัพยากรระหว่าง 3 บริษัทอย่างไรบ้าง ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น หน่วยงานนี้ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของโกสน์เช่นกัน

“โกสน์ได้รวบรวมอำนาจไว้รอบตัวเขา และสร้างกรอบการทำงานสำหรับการบริหารจัดการพันธมิตร ที่จะทำงานต่อไปไม่ได้ถ้าไม่มีเขา” ผู้บริหารของนิสสันรายหนึ่ง ระบุ

Avatar photo