Finance

คาดเงินบาทสัปดาห์นี้แกว่ง 31.10-31.35 บาท

ค่าเงินบาท

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10 – 31.35 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.20 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยด้วยมูลค่า 3 พันล้านบาทและ 7.7 พันล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ หลังประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนระบุว่าจะปรับลดภาษีนำเข้าซึ่งช่วยคลายความวิตกของตลาดเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และกระตุ้นนักลงทุนกลับเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง

ทั้งนี้ มองว่าตลาดจะจับตาสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศแม้นักลงทุนส่วนใหญ่ คาดว่า การโจมตีซีเรียด้วยขีปนาวุธที่นำโดยสหรัฐฯ จะไม่ขยายวงกว้างขึ้น ทั้งนี้ สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสได้ยิงขีปนาวุธไปยังจุดที่ระบุว่าเป็นโรงงานอาวุธเคมีในซีเรียช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเราประเมินว่าตลาดจะมีท่าทีระมัดระวังท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียและคาดว่าสหรัฐฯ จะประกาศมาตรการคว่ำบาตรใหม่ต่อรัสเซีย ขณะที่รัสเซียยังคงให้การสนับสนุนผู้นำซีเรีย

นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามสุนทรพจน์จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายรายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หลังจากการเปิดเผยรายงานการประชุมรอบล่าสุดของเฟดซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถูกบดบังด้วยการประกาศเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจของจีน นอกจากนี้ ตลาดจะให้ความสนใจกับการประชุมกลุ่มประเทศ G-20 ท้ายสัปดาห์นี้ซึ่งอาจกล่าวถึงประเด็นการบริหารจัดการค่าเงินเช่นกัน

สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่าการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ เมื่อวันที่ 28 มีนาคมให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ ไม่ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณปรับสมดุลนโยบายการเงินของไทย โดยกนง.ส่วนใหญ่ยังคงประเมินว่านโยบายการเงินควรผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น จำเป็นต้องติดตามความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านขาลงต่อการส่งออกของไทย

ทั้งนี้ เรายังมีมุมมองเหมือนเดิมที่ว่ากนง.มีแนวโน้มเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนสิ้นปีนี้ภายใต้สมมติฐานที่ว่าความเสี่ยงหลักจากปัจจัยภายนอก อาทิ นโยบายการค้าและการต่างประเทศของสหรัฐฯ การตอบโต้ของประเทศที่เกี่ยวข้อง ความผันผวนของตลาดการเงิน รวมถึงผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงจะอยู่ในวงจำกัด

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK