Economics

‘นิด้า’ คว้า 50 ล้านหาข้อสรุป ‘มี/ไม่มี’ โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้

คณะกรรมการ SEA มีมติให้  “นิด้า” ได้โครงการฯ 50 ล้านบาท ศึกษายุทธศาสตร์ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ คาด 9 เดือนรู้ผล  ด้านเครือข่ายขอตามติดกรอบการทำงานนิด้า เพื่อให้ผลสรุปมีความเป็นกลาง

คณะกรรมการ SEA

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA ) สำหรับพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า ในการพิจารณาข้อเสนอโครงการการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ซึ่งคณะกรรมการฯได้เปิดรับสมัครผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการในเว๊ปไซด์ของกระทรวงพลังงาน

โดยกำหนดเวลาให้ผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอโครงการฯกลับมายังกระทรวงพลังงาน ระหว่างวันที่ 17 กันยายน –  5 ตุลาคม 2561 กรอบวงเงิน 50 ล้านบาท เบื้องต้นพบว่ามีผู้ยื่นเสนอโครงการทั้งสิ้น 3 ราย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันนี้ (19 พฤศจิกายน) คณะกรรมการฯได้พิจารณาสถาบันที่มีความเหมาะสม และมีมติเลือกศูนย์บริการวิชาการของนิด้าเป็นที่ปรึกษาโครงการ โดยเกณฑ์การพิจารณามุ่งดูกรอบข้อเสนอโครงการ (proposal) ที่มีการนำเสนอเป็นหลัก

สำหรับขั้นตอนต่อไปกระทรวงพลังงานจะส่งรายชื่อนิด้า ซึ่งได้รับการคัดเลือกไปยังปลัดกระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญาได้ภายในต้นเดือนธันวาคม 2561 เพื่อเริ่มดำเนินการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน 9 เดือน และจะเป็นส่วนประกอบในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี) ต่อไป

ธรณ์

นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล และสิ่งแวดล้อม หนึ่งในคณะกรรมการฯ กล่าวว่า ผลการพิจารณาพบว่า ทั้ง 2 สถาบันมีคะแนนใกล้เคียงกัน แต่เนื่องจากนิด้ามีความโดดเด่นในเรื่องการสร้างการมีส่วนร่วมมากกว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เน้นในเรื่องวิชาการมากกว่าจึงทำให้คณะกรรมการฯมีมติให้เป็นที่ปรึกษาโครงการ

ทั้งนี้ ยืนยันว่ามติของกรรมการฯเป็นเอกฉันท์ เพราะดูที่กรอบข้อเสนอเป็นหลัก ไม่ได้คัดเลือกให้นิด้าได้เป็นที่ปรึกษา เพราะแรงกดดันของม็อบที่มายื่นหนังสือก่อนหน้านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การพิจารณาของคณะกรรมการฯ วันนี้ เกิดขึ้นภายหลังตัวแทนเครือข่ายสองฝั่งอันดามัน กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการฯ คัดเลือกผู้ศึกษาจัดทำ SEA ด้วยความโปร่งใส เนื่องจากกังวลว่าผู้ที่จะเข้ามาทำการศึกษาจะไม่มีความเป็นกลาง และโน้มเอียงทางใดทางหนึ่ง  โดยระบุว่าท่าทีของจุฬาลงกรณ์ที่ผ่านมาสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างชัดเจน ขณะที่นิด้า และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่มีประวัติเชื่อมโยงกับการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน

นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการฯได้ตัดสินให้นิด้าเป็นที่ปรึกษาโครงการแล้ว กระบวนการต่อไปจะขอหารือกับนิด้า และขอดู proposal เพื่อติดตามกรอบการศึกษา และวิธีการทำงานอย่างไร รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วม  เพราะวิธีการจะนำมาซึ่งคำตอบในตอนท้ายว่าจะออกมาเป็นอย่างไร และจะเดินทางไปพบกับเครือข่ายในภาคใต้ทันที เพื่อนำมติของคณะกรรมการฯครั้งนี้ไปบอกกล่าว

“ไม่แน่ใจว่ามติของคณะกรรมการฯที่ให้นิด้าเป็นที่ปรึกษาโครงการจะมาจากแรงกดดันของเครือข่ายที่มายื่นหนังสือเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน หรือไม่ แต่หากกระทรวงพลังงานติดตามก็จะทราบดีว่าในงานสัมมนา หรือบทความวิชาการต่างๆทางจุฬาลงกรณ์มีท่าทีสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างไรบ้าง ขณะที่นิด้า และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่มีประวัติว่าสนับสนุนฝั่งไหน ดังนั้นก็เป็นหลักทั่วไปว่าควรจะเลือกสถาบันที่มีความเป็นกลางในเรื่องนี้ให้มาเป็นที่ปรึกษา”

Avatar photo