Telecommunications

SMS กินเงินทางออกง่าย กด ‘*137 โทรออก’ ยุติปัญหา

20180417 120030

กสทช. สั่ง “เอไอเอส-ดีแทค-ทรูมูฟ” ส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชนด้วยว่าสามารถยกเลิกบริการเอสเอ็มเอสได้ด้วยการกด *137 และโทรออก ชี้ค่าเสียหายปี 2560 จากเรื่องร้องเรียนการสมัครเอสเอ็มเอสโดยไม่ได้สมัครใจมี 772 ราย คิดเป็นเงินเกือบสองแสนบาทเท่านั้น

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเผยว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเอสเอ็มเอสที่ไม่ได้สมัครใจใช้บริการมายัง กสทช. 772 เรื่อง คิดเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น 176,911.48 บาท และทางสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการยุติปัญหาเหล่านี้เกือบทั้งหมดแล้ว โดยได้เชิญผู้ประกอบการมาเจรจา และข้อสรุปก็คือทำการยกเลิกให้ลูกค้าทั้งหมด รวมถึงคืนเงินให้ลูกค้าตามที่ลูกค้าต้องการ

ส่วนปี 2561 นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 เมษายน มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเอสเอ็มเอสเข้ามา 292 เรื่อง คิดเป็นเงิน 58,217.89 บาท โดย 94% ของจำนวนนี้ได้ยุติด้วยการคืนเงินให้ผู้บริโภคเช่นกัน

อย่างไรก็ดี กสทช. เผยว่า แนวทางในการจัดการกับปัญหานี้จะไม่ใช่อยู่บนสิ่งที่ว่าต้องมีการร้องเรียนก่อนจึงจะคืนเงินให้ เพราะยังมีผู้ที่ไม่สะดวกจะเดินทางมาร้องเรียนอีกเป็นจำนวนมาก แต่ทางโอเปอเรเตอร์ทั้งสามค่ายต้องมีการแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากการกล่าวขอบคุณว่าถ้าต้องการยกเลิกการใช้งาน สามารถทำได้อย่างไรบ้าง ซึ่งในการแถลงข่าวนี้ กสทช. ระบุว่า ผู้ใช้บริการสามารถกด *137 แล้วกดเครื่องหมายโทรออก เพื่อแจ้งยกเลิกการสมัครรับเอสเอ็มเอสได้ (ในกรณีที่เกิดสมัครอย่างไม่เต็มใจ) และให้ระยะเวลาโอเปอเรเตอร์ 7 วันในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อมีการยกเลิก ทางโอเปอเรเตอร์จะไม่สามารถคิดค่าบริการกับลูกค้าได้

ทั้งนี้ จากการชี้แจงของทางโอเปอเรเตอร์ทั้งสามค่าย ไม่ว่าจะเป็นเอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ต่างให้ข้อมูลว่า ปัญหาดังกล่าวนั้นเกิดจากผู้ใช้งานกดสมัครเอง และการหลอกให้สมัครนั้นไม่ใช่ทำได้โดยง่าย เพราะมีขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การกรอกข้อมูลเพิ่ม หรือการใช้เทคนิค CAPTCHA (เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้เป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ใช่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ) ปรากฏอยู่ในกระบวนการด้วย ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ผู้ใช้บริการร้องเรียนเข้ามาอย่างสิ้นเชิง โดยผู้ใช้งานบางรายยังไม่ทราบด้วยว่า ตนเองนั้นไปสมัครใช้บริการ SMS ตั้งแต่เมื่อไร อีกทั้งที่ผ่านมา กระบวนการในการยกเลิกมักยุ่งยาก เนื่องจากคอลล์เซนเตอร์ของบริษัทผู้ให้บริการ SMS มีการให้ผู้ใช้บริการถือสายรอนานผิดปกติ

อย่างไรก็ดี จากการเปิดเผยของเลขาธิการ กสทช. ยังอ้างด้วยว่า มูลค่าของธุรกิจ SMS ที่โอเปอเรเตอร์แต่ละรายได้รับนั้น เป็นเงินจำนวนน้อย จึงไม่ใช่เรื่องหลักที่บริษัทจะมาดำเนินการในส่วนนี้ให้กับผู้บริโภค

Avatar photo