COLUMNISTS

‘Connectedness’ ทักษะที่ 4 แห่งโลกอนาคต

Avatar photo
ที่ปรึกษาบริหารโครงการ บริษัท สลิงชอท คอนซัลทิง จำกัด
2055

มีใครเคยคุยกับ Chatbot บ้างไหมคะ คุยแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างเอ่ย แล้วถ้าเทียบกับแอดมินเพจไก่ทอดที่โด่งดังในเฟซบุ๊ก แต่ละท่านชอบแบบไหนมากกว่ากันคะ

fig 23 11 2018 12 08 03

บางท่านคงเลือก Chatbot เพราะตอบคำถามได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอ แต่เชื่อว่าอีกหลายๆ ท่าน คงชอบการคุยกับแอดมินเพจไก่ทอดมากกว่า เพราะดูมีชีวิตชีวา มีลูกเล่น แม้จะต้องรอคำตอบก็ตาม

นั่นเป็นเพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ชอบที่จะติดต่อและโต้ตอบกันอย่างมีชีวิตชีวามากกว่าการตอบตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม Chatbot ต่าง ๆ จึงยังไม่สามารถแทนที่เราได้ แม้ว่าจะมีการพยายามพัฒนาโปรแกรมอย่างมากมาย

สิ่งหนึ่งที่หุ่นยนต์ยังไม่สามารถทำได้คือการเข้าอกเข้าใจ และอยู่ร่วมกับผู้อื่นนั่นเอง ซึ่งทักษะนี้จัดเป็นหนึ่งในทักษะสำหรับโลกอนาคต โดยได้รับการกล่าวถึงในงานวิจัยมากกว่า 6 ชิ้นเลยทีเดียว

สำหรับ Connectedness คือ ความสามารถในการเชื่อมต่อกับผู้อื่น และแสดงการตอบสนองระหว่างกันอย่างเหมาะสม เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ และอยู่ร่วมกันอย่างที่ต้องการ

ทักษะนี้ไม่ใช่เพียงเข้าใจผู้อื่น และแสดงปฏิกิริยาตอบสนองที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเข้าใจตนเองอีกด้วย เพราะการเข้าใจตนเองเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกับผู้อื่นนั้นเอง

เราทุกคนเคยได้ยินบ่อยๆ ว่างานบริหารที่ยากที่สุด คือการบริหารคนนั้นเอง หลายครั้งที่เราพบว่าคนที่เก่งงาน อาจจะไม่เหมาะกับการเป็นผู้นำ เพราะเขายังขาดทักษะการบริหารคน  ดังนั้นหากเราต้องการที่จะเติบโตในสายงานคงปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากเก่งงานแล้ว ยังต้องเก่งคนอีกด้วย

วันนี้เราจึงมี 3 วิธีง่ายๆ ในการพัฒนาทักษะนี้กันค่ะ

การรู้จักตนเอง

ก่อนที่เราจะไปเข้าใจคนอื่น คนแรกที่เราต้องรู้จักและทำความเข้าใจคือตัวเราเอง หลาย ๆ คนชอบคิดว่าตนเองรู้จักตัวเองดี แต่เคยไหมค่ะ ที่อยู่ๆ ก็รู้สึกหงุดหงิดโดยไม่ทราบสาเหตุ นั่นอาจจะเป็นมีบางมุมที่เรายังไม่เข้าใจตนเอง และเมื่อเราไม่เข้าใจสาเหตุของปัญหาหรือความรู้สึก การรับมือกับปัญหาก็ย่อมทำได้ไม่ดีตามไปด้วย

ดังนั้นการทำความรู้จักตัวเอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเข้าใจความแตกต่างของความรู้สึกที่เกิดขึ้น และช่วยให้เราฝึกรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น ซึ่งเราสามารถฝึกทำความเข้าใจตนเอง โดยการฝึกสังเกต จดบันทึก วิเคราะห์พฤติกรรมในทุกๆ วัน จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น

อีกวิธีที่สามารถทำได้คือการพยายามขยายมุมมองของตนเอง โดยการขอ Feedback จากคนอื่น ซึ่งวิธีนี้เป็นนำทฤษฎีทางจิตวิทยา “ทฤษฎีหน้าต่างโจฮารี (Johari Window)” มาใช้ เพื่อหามุมมองต่าง ๆ ใน 4 มุมคือ มุมที่ทุกคนรู้ มุมที่มีเพียงเราเท่านั้นที่รู้ มุมที่เรามองไม่รู้แต่คนอื่นรู้ และมุมที่ไม่มีใครรู้เลยแม้แต่ตัวเราเอง

fig 23 11 2018 12 06 36

ฝึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เปรียบเสมือนศิลปะอย่างหนึ่งในการเข้าใจผู้อื่น และมองภาพจากมุมมองของคนๆ นั้น

ฟังดูอาจจะเหมือนยากใช่ไหมคะ แต่เพียงเราเริ่มจากการลองตั้งใจฟังใครซักคนโดยปราศจากอคติ ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ซึ่งการฟังนี้ไม่ใช่เพียงแค่ใช้หูฟัง แต่ต้องใช้ทั้ง 5 ด้าน คือ ฟังด้วยหู รับฟังด้วยความตั้งใจ ฟังด้วยตา สังเกตท่าทางของผู้พูด ฟังด้วยตัว แสดงพฤติกรรมตอบสนองกับผู้พูด ฟังด้วยปาก โต้ตอบกับผู้พูด เช่น การซักถามข้อมูลเพิ่มเติม

สุดท้ายคือ ฟังด้วยใจ ซึ่งจะทำให้เราได้ยินสิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างใน แม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดออกมาก็ตาม

หลังจากฟังแล้ว เราต้องมีอีกหนึ่งความเข้าใจคือ คนทุกคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ให้เราลองคิดในจุดยืนของคนนั้นๆ ว่าทำไมเขาถึงคิดเช่นนั้น วิธีนี้จะช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นและเมื่อเราเข้าใจกันมากขึ้น ยืนบนพื้นฐานเดียวกัน การสื่อสารระหว่างกันก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

เรียนรู้การตีความพฤติกรรมที่คนอื่นแสดงออก

การสื่อสารของเราไม่ได้มีเพียงการสื่อสารทางวัจนภาษา (Verbal Communication) แต่ยังมีการสื่อสารผ่านทางอวัจนภาษา (Nonverbal Communication) อีกด้วย ซึ่งบางครั้งอวัจนภาษาอาจจะบอกข้อมูลได้ชัดเจนกว่าการสื่อสารด้วยคำพูดด้วยซ้ำไป

การที่เราสามารถตีความ และแปลความหมายของทั้ง 2 ช่องทางการสื่อสาร จะช่วยให้เราเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้เราจะต้องอาศัยความช่างสังเกต และจดจำซักนิดนึง เพราะหากเราสังเกตพฤติกรรมของใครบ่อย ๆ แล้ว เราจะสามารถเข้าใจท่าทีและตีความได้ไม่อยากเลย และเมื่อเราตีความได้อย่างถูกต้อง เราก็จะสามารถแสดงพฤติกรรมโต้ตอบได้อย่างเหมาะสม

จากทั้ง 3 วิธี สิ่งที่เหมือนกันคือการสังเกตและใส่ใจทั้งตนเองและผู้อื่น หวังว่าหลังจากจบบทความนี้ ทุกคนจะหันมาสังเกตตนเอง และผู้อื่นมากขึ้นนะคะ