COLUMNISTS

กิจการไฟฟ้าไทยจะไปทางไหน (1)

Avatar photo
1662

ประเทศไทยเริ่มมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกในรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นผู้ริเริ่มให้มีการก่อตั้งไฟฟ้าขึ้นในเขตพระนคร

ต่อมาในปี 2437 ประเทศไทยก็ได้มีการผลิตฟ้าเพื่อเดินรถรางในกรุงเทพฯ ชื่อ “บริษัทไฟฟ้าสยาม จำกัด” เป็นบริษัทของชาวเดนมาร์ก  จากนั้นในปี 2455 ได้มีการก่อสร้าง “การไฟฟ้าสามเสน” ขึ้น เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชนทางเหนือของกรุงเทพฯ  และผลิตไฟฟ้าให้โรงกรองน้ำประปาที่สามเสน  ก่อนที่จะขยายกิจการไปส่วนอื่นของกรุงเทพฯ

ส่วนในภูมิภาคก็มีการจัดแผนกไฟฟ้าขึ้นที่กองสุขาภิบาล กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย โดยมีการจัดตั้งขึ้นที่สุขาภิบาลเมืองนครปฐมเป็นแห่งแรก ต่อมาในปี 2477 ได้โอนมาอยู่กองไฟฟ้า กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย โดยในระยะแรกๆ ได้อนุญาตให้เอกชนรับสัมปทานไปดำเนินการ

  • พ.ศ.2500 ได้จัดตั้ง การไฟฟ้ายันฮี เป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อดำเนินการผลิตไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนยันฮี ขนาด 140 เมกะวัตต์ ซึ่งเริ่มก่อสร้างปี 2499 แล้วเสร็จปี 2507
  • พ.ศ. 2501 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้ง การไฟฟ้านครหลวงเพื่อรวมการไฟฟ้ากรุงเทพ และการไฟฟ้าสามเสนเข้าด้วยกัน เปลี่ยนชื่อเป็น การไฟฟ้านครหลวง เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย
  • พ.ศ. 2503 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่จัดหา และจำหน่ายไฟฟ้าในส่วนภูมิภาค
  • พ.ศ. 2511 รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อรวมรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง เข้าด้วยกัน คือ  การลิกไนท์ การไฟฟ้ายันฮี และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อทำหน้าที่ผลิต จัดหา และจำหน่ายไฟฟ้า ให้แก่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผู้ใช้ไฟฟ้าและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง รวมทั้งทำธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า พ.ร.บ. นี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2512

สายส่งไฟฟ้า 1

เอกชนเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมไฟฟ้า

การส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมไฟฟ้า เริ่มจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ได้เห็นชอบ แนวทางการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. โดยกำหนดให้มีการแปลง กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี เพื่อให้มีการบริหารงานคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ก่อนที่จะแปลงเป็น บริษัท จำกัด (มหาชน) เมื่อมีความพร้อม และกำหนดให้มีการจัดตั้งบริษัท ผลิตฟ้า จำกัด

ในขั้นแรกให้.กฟผ. ถือหุ้น 100% มีชื่อย่อว่า “บผฟ.”  รับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมระยองของ กฟผ. และให้นำ บผฟ. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และลดการถือหุ้นของ กฟผ. ลงเหลือไม่เกิน 49%  ต่อมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2537 คณะรัฐมนตรีได้ให้สิทธิ์ บผฟ.  ซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมขนอม จาก กฟผ. อีกแห่งหนึ่งด้วย

จากนั้น ในปี 2540 ประเทศไทยได้ประสบภาวะวิกฤติด้านการเงิน คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เพิ่มบทบาทเอกชนในกิจการพลังงาน เพื่อลดการก่อหนี้กับต่างประเทศและระดมทุนจากสาธารณะชน โดยกำหนดให้ขายหุ้นที่รัฐถืออยู่ในกิจการพลังงานและเริ่มแปรรูปรัฐวิสาหกิจพลังงาน

ในส่วนของ กฟผ. ได้ลดการถือหุ้นใน บผฟ. โดยขายหุ้นให้กับพันธมิตรร่วมทุน ให้แก่ บริษัท China Light and Power จากประเทศฮ่องกง คงถือหุ้นไว้ใน บผฟ. เหลือ  25.05%  ต่อมาในเดือนมีนาคม 2543 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ กฟผ. จัดตั้งบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อซื้อโรงไฟฟ้าราชบุรี จาก กฟผ. และนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนสิงหาคม 2543 โดย กฟผ. ถือหุ้น 45%

นอกจากนี้รัฐบาลได้ส่งเสริมบทบาทเอกชนให้ลงทุนในการผลิตไฟฟ้าในรูปผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer : IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Power Producer : SPP) ดังนี้

วันที่ 31 พฤษภาคม 2537 คณะรัฐมนตรีมีมติให้รัฐซื้อไฟฟ้าจาก IPP จำนวน 7 โครงการ โดยกำหนดกำลังการผลิตไว้ 2 ช่วง คือ ช่วงปี  2530-2535 จำนวน 3,800 เมกะวัตต์ และช่วงปี 2546-2549 จำนวน 2,144 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 5,944 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังมีนโยบายซื้อไฟฟ้าจาก SPP ขนาดไม่เกิน 60 เมกะวัตต์ ทั้งสิ้น 53 โครงการ รวมกำลังผลิต 2,259 เมกะวัตต์

จากนโยบายดังกล่าวทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศ ณ เดือนมิถุนายน 2547 มีกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 25,285 เมกะวัตต์ แยกเป็นกำลังผลิตจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน IPP จำนวน 8,550 เมกะวัตต์ (31.7%) และ SPP จำนวน 1915 เมกะวัตต์ (7.5 %) เป็นกำลังผลิตของ กฟผ. จำนวน 14,731 เมกะวัตต์ (58.3) ซื้อจากต่างประเทศอีกจำนวน 640 เมกะวัตต์( 2.5%) โดยมี กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการในระบบส่งไฟฟ้าจากประเทศและเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดีว (Single Buyer)