Media

‘เมเจอร์’ขยาย 1,000 โรง หนุน‘หนังไทย’โกยเงิน

หากเปรียบเทียบจำนวนประชากรไทยกว่า 67 ล้านคน กับยอดขายตั๋วหนังที่มีจำนวน 40 ล้านใบในปีนี้  นั่นเท่ากับว่าเฉลี่ยแล้วต่อคนไทยดูหนังไม่ถึง 1 เรื่องต่อปี  ขณะที่เบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างสหรัฐ เฉลี่ย 7-8 เรื่องต่อคนต่อปี  อาจประเมินได้ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้ง “โรงหนังและหนังไทย” ยังมีโอกาสเติบโตได้

วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปี 2561  เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ได้ขยายโรงภาพยนตร์เพิ่มทั้งในประเทศและกลุ่ม CLMV รวม 96 โรง หรือ จอ (Screen) โดยเป็นสาขาในต่างประเทศ 2 แห่ง คือ ที่ศูนย์การค้าอิออน มอลล์ 2 กัมพูชา  และ ITEC Mall เวียงจันทน์ ลาว ในกรุงเทพฯ ไตรมาสสุดท้ายมีอีก 2 สาขาใหญ่ คือ ไอคอนสยาม ขนาด 10,000 ตร.ม. และ เกตเวย์ บางซื่อ

วิชา พูลวรลักษณ์ เมเจอร์
วิชา พูลวรลักษณ์

สิ้นปี 2561 เมเจอร์ฯ มีสาขารวม 160 สาขา  771 โรง  จำนวน 176,435 ที่นั่ง  แบ่งเป็น สาขากรุงเทพฯและปริมณฑล  43 สาขา  349 โรง  จำนวน 79,003 ที่นั่ง, ต่างจังหวัด 110 สาขา  385 โรง  จำนวน 89,402 ที่นั่ง  และสาขาต่างประเทศ 7 สาขา  37 โรง  จำนวน 8,030 ที่นั่ง

ปัจจุบันการขยายสาขามุ่งไปที่พื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งขณะนี้มีจำนวนโรงเท่ากับกรุงเทพฯ  ขณะที่ปี 2562  มีแผนจะขยายโรงภาพยนตร์เพิ่มอีก 74 โรง  สัดส่วน 70% อยู่ในต่างจังหวัด และวางเป้าหมายเปิดให้ครบ 1,000 โรง ในปี 2563  ขณะที่ภาพรวมโรงหนังในอีก 2 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ 1,500 โรง

“หลังจากเมเจอร์ฯ ขยายสาขาครบ 1,000 โรงในปี 2563 แล้ว มองว่าตลาดไทยยังมีโอกาสขยายให้ถึง 2,000 โรงได้ในอีก 3-4 ปีหลังจากนั้น”

แผนการขยายสาขาโรงหนังเครือเมเจอร์ฯ ไม่ได้มองแค่ประเทศไทย แต่มุ่งขยายตลาดในกลุ่มเพื่อนบ้าน ทั้งกัมพูชา ลาว และพม่า  ส่วนเวียดนาม ต้องรอดูโอกาส เพราะปัจจุบันต้องถือว่ามีการแข่งขันสูง  ปี 2562 จะเปิดที่ ลาว 1 แห่ง และกัมพูชา 1 แห่ง

ปกติเมเจอร์ฯ วางงบลงทุนปีละ 1,000-1,200 ล้านบาท แต่ปี 2562 การลงทุนจะลดลงมาอยู่ที่ 700-800 ล้านบาท หรือลดราว 20-25%  เพราะการลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างจังหวัด 70%  ซึ่งแต่ละแห่งมีโรงภาพยนตร์ไม่มาก ตั้งแต่ 1 -5 โรงขึ้นไป  โดยพัฒนาโมเดลที่ตอบโจทย์กำลังซื้อในแต่ละพื้นที่  ขณะที่การลงทุนศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ แต่ละแห่งใช้ระยะเวลานาน  เช่น ไอคอนสยาม ก่อสร้างกว่า 5 ปี  มองว่าหลังจากนี้ กรุงเทพฯ ยังขยายโรงหนังได้อีกแต่การเปิดโครงการอาจล่าช้า  เพราะโปรเจคมิกซ์ยูส แต่ละแห่งต้องใช้เวลากว่า 5 ปีขึ้นไป

เมเจอร์ โรงหนัง

“ดิจิทัล ดิสรัปชั่น”ไม่กระทบอุตฯหนัง-โรง

อย่างไรก็ตามในยุคที่เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลเติบโตและเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจาก “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” (Digital Disruption)

วิชา บอกว่าเวลาเจอกับนักลงทุน มักถูกถามเสมอว่า Digital Disruption กระทบกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือไม่  ซึ่งหากย้อนไป 3 ปีก่อน ที่เจอกับคำถามนี้ต้องบอกว่า ไม่แน่ใจในคำตอบ!! ว่าได้รับผลกระทบหรือไม่ และถือเป็นคำถามที่เกิดขึ้นทั่วโลก

แต่ก็พบว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกยังคงลงทุนสร้าง “โรงหนัง” กันต่อเนื่อง และขยายตัวอย่างมากโดยเฉพาะในเอเชีย ปัจจุบันในประเทศจีน มีกว่า 51,000 โรง มากที่สุดในโลก, อินเดีย 11,000 โรง, ญี่ปุ่นกว่า 3,000 โรง ,เกาหลีใต้ กว่า 2,000 โรง  ปัจจุบันไทยมีโรงหนังราว 1,000 โรง ยังมีโรงหนังน้อยกว่าประเทศอื่นๆ  และเป็นสัดส่วน 50% ของเกาหลีใต้

เมเจอร์ โรงหนัง

“หลายคนอาจมองว่าธุรกิจภาพยนตร์และโรงหนังจะได้รับผลกระทบจากดิจิทัล ดิสรัปชั่น หรือออนไลน์ สตรีมมิ่ง จะเข้ามาแทนที่ แต่ผมเชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะโรงหนังเป็น first screen ฉายภาพยนตร์ ที่ผู้ชมต้องการดูก่อนสกรีนอื่นๆ”

สะท้อนได้จากผลประกอบการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในตลาดโลก รายได้ปีนี้จากตลาดใหญ่อย่างสหรัฐและแคนาดาถึงปัจจุบัน ยังเติบโต 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน รายได้จากการฉายหนังในโรงภาพยนตร์ทำได้กว่า 11,000 ล้านดอลลาร์ ติดต่อเป็นปีที่ 4  คาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 12,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ตลาดจีน ยังเติบโต 20-30% คาดว่ารายได้จากทั่วโลกปีนี้จะมากกว่า 41,000 ล้านดอลลาร์

หนุนหนังไทยโกยเงินวันละ 100 ล้าน

เป้าหมายการขยายโรงหนังเมเจอร์ฯ ให้ได้ 1,000 โรงในปี 2563  วิชา บอกว่าเพราะเมเจอร์ฯ ตั้งใจเป็นหัวรถจักรนำขบวนให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทยเติบโต ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนหนังไทยส่งออกไปตลาดต่างประเทศมากขึ้น

หากมีโรงหนังจำนวนมาก ครอบคลุมทั่วประเทศ เมื่อหนังใหม่เข้าโรงวันแรก อาจทำได้วันละ 100 ล้านบาท และช่วง 4 วันแรก มีโอกาสทำได้ 400 ล้านบาท  เมื่อผู้สร้างหนังไทยเห็นโอกาสสร้างรายได้แบบนี้ จะกระตุ้นให้มีผู้สร้างหนังไทยคุณภาพมากขึ้น

ปัจจุบันการทำหนังไทย จะต้องจับตลาดทั้ง Tier 1  พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่  เชียงใหม่ ภูเก็ต และที่สำคัญต้องทำหนังสำหรับตลาด Tier 2 (ต่างจังหวัด)  เพราะมีจำนวนผู้ชมทั่วประเทศมากกว่า และต้องการหนังที่ตอบความสนใจแต่และภาค  เช่น  นาคี  4 วันแรกทำรายได้ 200 ล้านบาท ปัจจุบันรายได้ 400 ล้านบาท   สัดส่วนจากต่างจังหวัด 70%

หนังไทย ปี 2561

ที่ผ่านมารายได้ของหนังไทยมาจากตลาดต่างจังหวัดมีเพียง 20% แต่ปัจจุบันการขยายตัวของโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ ที่ไปพร้อมกับเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ในต่างจังหวัด ครอบคลุม  53 จังหวัด เรียกว่าเข้าถึงผู้ชมระดับตำบลและอำเภอ ปัจจุบันมีสาขาโรงภาพยนตร์กว่า 50% อยู่ต่างจังหวัด ทำให้หนังไทยที่ตอบสนองความสนใจผู้ชมในต่างจังหวัดมีโอกาสทำรายได้มากขึ้น เพราะมีโรงหนังรองรับ

“โรงหนังต้องสร้างโรงหนังจำนวนมาก เพื่อให้หนังไทยมีโรงฉายมากขึ้น และมีโอกาสสร้างรายได้ เพื่อที่ทั้งโรงหนังและภาพยนตร์ จะไม่ถูก Disrupt จากเทคโนโลยี

โอกาส “หนังไทย” ครองมาร์เก็ตแชร์ 50%

โมเดลการสร้างหนังของค่ายเมเจอร์ฯ  ได้ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของอุตสาหกรรม เป็นรูปแบบเดียวกับฮอลลีวู้ด  โดยเป็นรูปแบบแบ่งกำไรเป็นเปอร์เซ็นต์กับ “ผู้กำกับ”  ที่ผ่านมาหนังไทยเรื่องที่ทำเงิน ผู้กำกับ เช่น เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา (หม่ำ จ๊กมก) มีส่วนแบ่งนับ 10 ล้านบาท   ทำให้ “ผู้กำกับ” กลายเป็นอาชีพที่ทำเงินได้สูง และเป็นแรงจูงใจให้เกิดการสร้างสรรค์งานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากขึ้น

ณ เดือนตุลาคม 2561 หนังไทยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 26%  ไตรมาส 4 ยังมีหนังไทย ที่มีโอกาสทำเงินออกฉายอีกหลายเรื่อง  คาดว่าสิ้นปีนี้หนังไทยจะมีส่วนแบ่งการตลาด 30%  มีเป้าหมายต้องการพัฒนาหนังไทยให้เหมือนเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น  จีน ที่มีสัดส่วนหนังในประเทศ 60%  หากประเทศไทยเดินตามโมเดลนี้ได้  มั่นใจว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จะยอดขายตั๋วหลัก 100 ล้านใบต่อปีได้ ปัจจุบันภาพรวมอยู่กว่า 40 ล้านใบ

“การจะทำให้ยอดขายตั๋วหนังได้ 100 ล้านใบต่อปี  เหมือนไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อน แต่ต้องมีทั้งการสร้างโรงจำนวนมาก เพื่อให้คนสร้างหนังไทยคุณภาพลงทุนสูงมากขึ้น และทำให้มียอดขายตั๋วมากขึ้น”

โรงหนัง เมเจอร์

ในอดีตเกาหลีใต้ มีส่วนแบ่งการตลาดหนังโลคอลไม่ถึง 10%  “จุดเปลี่ยน” อุตสาหกรรมในเกาหลีใต้ คือ การขยายโรงหนังในต่างจังหวัด  ปัจจุบันมีโรงหนังกว่า 2,000 โรง และไม่ได้อยู่แค่ในโซล  แต่กระจายอยู่ทั่วเกาหลีใต้  รวมทั้งจุดเปลี่ยนการสร้างหนังโลคอลที่มีคุณภาพ  ทำให้ได้รับการยอมรับจากคนเกาหลีใต้และตลาดต่างประเทศ  ทำให้มีการสร้างหนังปีละกว่า 200 เรื่อง

ปี 2562  คาดว่าหนังไทยจะมีส่วนแบ่งการตลาด 35-40%  เพราะปีหน้าจะมีหนังไทยออกฉายจำนวนมาก หลังจากชะลอตัวในช่วง 2 ปีก่อน  ตัวอย่าง บริษัทร่วมทุน “ซีเจ เมเจอร์” ที่ร่วมทุนมา 3 ปี ที่ผ่านมาผลิตภาพยนตร์ออกฉายเพียง 1 เรื่อง แต่ปีหน้าจะมี 3 เรื่อง  ทั้งปี 2562  เครือเมเจอร์ฯ จะมีหนังไทยออกฉาย 23 เรื่อง  ขณะที่ทั้งตลาดน่าจะอยู่ที่ 50 เรื่อง  ส่วนหนังต่างประเทศอยู่ที่ 270 เรื่อง และในปี 2563 ที่เมเจอร์ฯ มีเป้าหมายขยายโรงหนังครบ 1,000 โรง ต้องการเห็นหนังไทยมีส่วนแบ่งการตลาด 50%

หากหนังไทยสร้างปีละ 55-60 เรื่อง หรือสัปดาห์ละ 1 เรื่อง  ต้องการเห็นหนังคุณภาพที่ดีด้วย เพื่อดึงดูดคนออกมาดูหนัง เพราะต้องยอมรับว่า ปี 2561 ที่มีหนังไทย 43 เรื่อง แต่มีหนังที่ลงทุนมากว่า 20 ล้านบาทเพียง 50% เท่านั้น  มองว่าหนัง 1 เรื่องการลงทุนเฉลี่ยจะอยู่ที่ 30-50 ล้านบาท

โรงหนัง เมเจอร์

ปีนี้รายได้แตะ “หมื่นล้าน”

ทางด้านผลประกอบการปีนี้ เมเจอร์ฯ น่าจะเติบโต 5-6% เนื่องจากครึ่งปีแรกมีหนังไทยออกฉายไม่มาก  ส่วนใหญ่อยู่ในครั้งปีหลัง   โดยรายได้  3 ไตรมาสแรกต่ำกว่าปีก่อนไม่มาก เนื่องจากปีก่อนมีรายได้จากการขายหุ้นธุรกิจโรงหนังและโบว์ลิ่งในอินเดีย ขณะที่ไตรมาส 4 ปีนี้ มีแนวโน้มดี  เนื่องจากมีหนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวู้ดและหนังไทยออกฉายหลายเรื่อง แต่รายได้ปีนี้จะทะลุ 10,000 ล้านบาทแน่นอน

เฉพาะยอดขายตั๋วหนังของเมเจอร์ฯอยู่ที่ราว 32 ล้านใบ หรือราว 5,000 ล้านบาท  ขณะที่ภาพรวมตลาดน่าจะอยู่ที่ 7,000-8,000 ล้านบาท

ทุกปี เมเจอร์ฯ เติบโตปีละ 10-15%  ปี 2562 น่าจะเป็นตัวเลขดังกล่าวอีกครั้ง เป็นปีที่หนังฮอลลีวู้ดมีไลน์อัพหนังที่ดี ขณะที่หนังไทยมีผู้สร้างมากขึ้น  ในเครือเมเจอร์ จะผลิตเพื่อออกฉายรวม 23 เรื่อง  เฉลี่ยรายได้เรื่องละ 50-60 ล้านบาท

ปั้น “คอมมูนิเคชั่น แพลตฟอร์ม”

วิชา มองว่าในยุคดิจิทัลที่แพลตฟอร์มสื่อขยายตัวสูง ผู้บริโภคเปิดรับสื่อหลากหลาย  เมเจอร์ฯ จึงเตรียมพัฒนา “คอมมูนิเคชั่น แพลตฟอร์ม” ที่เข้าถึงผู้ชมภาพยนตร์  เพราะปัจจุบันโลกเป็นยุค “โมบาย เฟิร์ส”  การสื่อสารกับผู้บริโภควันนี้จึงต้องผ่านโมบาย และใช้เทคโนโลยี AI  เพื่อวิเคราะห์ความต้องการผู้บริโภคและนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์

การเข้าใจผู้บริโภคต้องมีบิ๊กดาต้า และคอมมูนิเคชั่น แพลตฟอร์ม ที่จะสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ  เพราะลูกค้าในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทั้งอายุของผู้ชม รวมทั้งประเภทหนัง จะมีความแตกต่างกัน  ดังนั้นการสื่อสารต้องเป็นรูปแบบ Personalization  ปัจจุบันเมเจอร์ฯ มีข้อมูลต่างๆ อยู่แล้ว ผ่านบัตร M Gen ซึ่งมีฐานผู้ถือบัตรกว่า 3 ล้านใบ  แต่ต้องมีการวิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้น  ปัจจุบันการสื่อสารและข้อเสนอโปรโมชั่นลูกค้าบัตรแต่ละประเภทจะแตกต่างกัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการแต่ละบุคคล

เมเจอร์ M Gen

รูปแบบการพัฒนา คอมมูนิเคชั่น แพลตฟอร์ม เมเจอร์ฯ  ได้ร่วมทุนกับต่างชาติ โดยเดือนเมษายน  2561 ได้จัดตั้งบริษัท เอ็มเทล (ประเทศไทย) จำกัด  เมเจอร์ฯ ถือหุ้น 54.99%  และเอ็มเทล โซลูชั่นส์ ถือหุ้น 29.99%  เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ และแอพพลิเคชั่น

เมเจอร์ฯ  ไม่ได้มองว่าจะได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption  จะเห็นได้ว่าธุรกิจยังเติบโตได้ต่อเนื่อง  อีกทั้งจะใช้ประโยชน์จาก Digital Disruption มาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้รู้จักลูกค้าดีขึ้น รู้ว่าลูกค้าชอบอะไร และสนใจอะไร  สามารถเข้าถึงลูกค้าแบบ “ออนดีมานด์” ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเซ็กเมนต์ต่างๆ อย่างแม่นยำ และเป็นสิ่งที่จะเข้ามาช่วยสร้างยอดขายให้กับธุรกิจ

Digital Disruption จะช่วยให้เราเข้าไปเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้า เป็นบัดดี้ กับลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา เราต้องพัฒนาให้เป็น เมเจอร์ 5.0  ต้องทรานส์ฟอร์มทุกด้าน วันนี้เทคโนโลยีของเราแอดวานซ์ ไม่แพ้ใครในโลก”

Avatar photo