Economics

‘ไออาต้า-สายการบิน’ หนุนสุวรรณภูมิสร้าง ‘เทอร์มินอล 2’

“ไออาต้า – สายการบิน” หนุนโครงการเทอร์มินอล 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ขู่ถ้าไม่เดินหน้าเตรียมลดเที่ยวบิน

นายธีระ บัวศรี ประธานคณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินประเทศไทย (Airline Operators Committee Bangkok: AOC) เปิดเผยว่า สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คณะกรรมการตัวแทนจากสายการบิน (Board of Airline Representatives: BAR) และ AOC มีความเห็นว่าการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ด้านทิศตะวันออก ของสนามบินสุวรรณภูมิ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความแออัดของผู้โดยสาร โดยขอให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เร่งดำเนินโครงการดังกล่าวโดยด่วนเพื่อให้ทันกับปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น

ธีระ บัวศรี2

สำหรับ AOC ได้ประชุมร่วมกับสายการบินที่เป็นสมาชิกจำนวน 82 ราย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยที่ประชุม AOC มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าต้องการให้ ทอท. ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ด้านทิศตะวันออก เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการภายในสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะปัจจุบันพื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิมีปริมาณผู้โดยสาร 62 ล้านคนต่อปี สูงกว่าความสามารถในการรองรับซึ่งอยู่ที่ 45 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้เกิดความแออัดและได้รับความเดือดร้อนทั้งในส่วนของผู้โดยสาร สายการบิน และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แม้ผู้เกี่ยวข้องจะพยายามนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยแก้ปัญหาความแออัด แต่ก็ทำได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

นอกจากนี้ AOC เห็นว่าโครงสร้างของอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีการเดินทางทางอากาศยุคปัจจุบัน รวมถึงสอดคล้องกับลักษณะอาคารผู้โดยสารในสนามบินใหญ่ อย่างแฟรงเฟิร์ตหรือมิวนิค ในประเทศเยอรมัน

SWP Ter2 ๑๘๐๘๒๖ 0021

3 เหตุผลหนุน “เทอร์มินอล 2”

ประการที่ 1 คือ อาคารดังกล่าวถูกออกแบบให้มีทั้งหมด 5 ชั้น ชั้นที่ 1 ระบบระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า, ชั้นที่ 2 รองรับผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศ, ชั้นที่ 3 รอบรับผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ, ชั้นที่ 4 รองรับผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ และชั้นที่ 5 รองรับผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ การออกแบบดังกล่าวจะแบ่งแยกผู้โดยสารอย่างชัดเจน ส่งผลให้การเดินของผู้โดยสารจากเคาน์เตอร์เช็คอินไปถึงประตูขึ้นเครื่องบิน มีลักษณะเป็นเส้นตรง ไม่เสียเวลา แตกต่างจากอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ในสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งบางครั้งเคาน์เตอร์เช็คอินอยู่ฝั่งหนึ่ง แต่ต้องไปขึ้นเครื่องบินอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้ผู้โดยสารต้องเดินทางตัดกระแสกันและใช้เวลาเดินในสนามบินนาน

ประการที่ 2 อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ทั้งทางเดินเท้า รถไฟขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover: APM) และรถชัทเทิลบัส ซึ่งเชื่อว่าการเชื่อมต่อจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารและสายการบินได้อย่างดี ขณะเดียวกันจะทำให้การแก้ไขปัญหาหรือเหตุฉุกเฉินต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วด้วย

ประการที่ 3 เชื่อว่าอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปีตามที่ ทอท. อ้าง เพราะได้ศึกษาโครงสร้างอาคารแล้วว่า เป็นอาคารที่มีการเชื่อมต่อและสามารถใช้ประตูขึ้นเครื่องบินร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ได้

สนามบินสุวรรณภูมิ 3 ภาพจาก AOT Official
ภาพจาก AOT Official

สายการบินขู่ลดไฟลท์

จากเหตุผลทั้งหมด AOC ในฐานะที่มีสมาชิกเป็นผู้ใช้สนามบินโดยตรง จึงต้องการส่งเสียงไปถึงสังคมว่า ต้องการสนับสนุนอาคารผู้โดยสารแห่งนี้ สำหรับกรณีที่มีด้านวิศวกร สถาปนิก และนักวิชาการออกมาคัดค้าน ส่วนตัวก็รู้สึกเสียใจมาก เพราะไม่มีใครมาถามสายการบินซึ่งเป็นผู้ใช้สนามบินโดยตรง จึงอยากให้ผู้คัดค้านมาหารือร่วมกันก่อน เพราะทุกฝ่ายก็ทำเพื่อประเทศชาติเหมือนกัน

โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาสนามบิน (Airport Consultants Council: ACC) ซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม ซึ่งถ้าหากได้มาพูดคุยผ่าน ACC ก็เชื่อว่าจะหาทางออกร่วมกันได้

“ถ้าวันนี้ Terminal 2 หรือที่เรียกว่า Concourse A Anex ไม่เกิด ผมในฐานะประธาน AOC ก็ต้องบอกสายการบินให้ทุกคนลด Flight ลงมา เพราะไม่มีอะไรตอบโจทย์ความต้องการของสายการบินได้แล้ว รวมถึงเรื่องการดูแลเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยด้วย” นายธีระกล่าว

สายการบิน 180926 0050
ภาพจาก AOT Official

ไม่เห็นด้วยขยายปีกอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1

สำหรับกรณีที่มีความเห็นว่า ทอท. ควรก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ทางทิศใต้ตามผังแม่บท (Master Plan) สนามบินสุวรรณภูมิฉบับดั้งเดิมนั้น นายธีระ กล่าวว่า การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ทางทิศใต้ สามารถดำเนินการได้ในอนาคต 7-10 ปีข้างหน้า เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารถึง 120 ล้านคน จึงจะคุ้มทุน

ถ้าหากจะลงทุนในตอนนี้ก็ไม่เห็นด้วย เพราะถ้ามีอาคารผู้โดยสารฝั่งทิศใต้ สายการบินก็ต้องเพิ่มบุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นมาอีก 1 ชุด ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นและเป็นการซ้ำเติมผลประกอบการของสายการบิน ซึ่งย่ำแย่และมีกำไรน้อยอยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่การเสนอให้ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 ฝั่งตะวันตกและตะวันออก (East&West Wing) โดยไม่ต้องก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 นั้น นายธีระ กล่าวว่า การขยายปีกอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 1 จะต้องทุบอาคารเทียบเครื่องบินบ้างส่วนด้วย ซึ่งจะเป็นปัญหาอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันพื้นที่ใช้สอยของสายการบินก็มีจำกัด ไม่เพียงพอกับความต้องการอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ที่มีปัญหามาก

กังวลการประกวดออกแบบเทอร์มินอล 2

อย่างไรก็ตาม AOC มีความเห็นสอดคล้องกับผู้คัดค้านอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในประเด็นเรื่องการประกวดออกแบบ เนื่องจากสายการบินส่วนใหญ่ไม่ต้องการอาคารผู้โดยสารที่มีความหรูหราและเก็บค่าธรรมเนียมจากสายการบินในอัตราแพง แต่ต้องการอาคารที่มีความเป็นมิตรต่อสายการบินและนักเดินทาง ที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราเท่าเดิม ซึ่งถ้าหากการออกแบบของ ทอท. เป็นไปตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ก็ไม่มีปัญหาใดๆ

Avatar photo