Economics

บีโอไอผนึก ‘อินฟลูเอนเซอร์’แม่เหล็กดึงต่างชาติลงทุนไทยปี 62

 บีโอไอวางเป้าปี 62 รุกหนักเจาะกลุ่มนักลงทุน เอเชีย -ยุโรป-สหรัฐ เน้นกลุ่ม  NEW S-CURVE หวังได้เทคโนโลยีชั้นสูง ใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” แม่เหล็กเชื่อมนักลงทุนเข้าไทย คาด”เทรดวอร์”ผลดีต่อไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์  รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)  กล่าวถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอกับสำนักงานในต่างประเทศ ว่ากลุ่มเป้าหมายหลักดึงการลงทุนกลุ่มเป้าหมายหลักในเอเชีย ยังคงเป็นญี่ปุ่น จีน เกาหลี ใต้หวัน นอกเอเชียก็จะมีในส่วนของยุโรป สหรัฐ กลุ่มเหล่านี้บีโอไอจำเป็นต้องเข้าไปเจาะการลงทุนให้มากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีที่เราต้องการ และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราต้องการดึงเข้ามาลงทุนในไทย

ส่วนนโยบายส่งเสริมการลงทุนในปี 2562 บีโอไอมองว่า ในส่วนของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์ในภาพรวมไปมากแล้ว รับรู้แล้วว่ามีอีอีซีเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่จากนี้ไปบีโอไอจะต้องลงลึก ต้องเจาะนักลงทุนกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อีอีซี หรือนอกพื้นที่อีอีซี ต้องเริ่มเจาะมากขึ้น ส่วนนักลงทุนเดิมเราเชื่อว่าเขามีใจรักประเทศไทยอยู่แล้ว มีการลงทุนต่อเนื่อง แต่นักลงทุนใหม่เราต้องเน้นกลุ่ม  NEW S-CURVE ใน  5 อุตสาหกรรมอนาคต ประกอบด้วย
1.    อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)
2.    อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
3.    อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
4.    อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital)
5.    อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)

เชฟรอนมอบหุ่นยนต์4
หุ่นยนต์เครื่องจักรโรงงานปัจจุบันและอนาคต

อย่างไรก็ดี ในกลุ่มนี้ บีโอไอต้องทำงานหนักเพื่อดึงการลงทุนเข้ามา แต่การดึงการลงทุนเข้ามาแล้วทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจไทย ดังนั้นจำเป็นต้องหาพาร์ทเนอร์คนไทย ซึ่งนักลงทุนรายใหม่จะต่างจากนักลงทุนรายเก่า นักลงทุนรายใหม่เขาต้องการพาร์ทเนอร์ ถ้าเจอพาร์ทเนอร์ดีธุรกิจจะไปได้เร็ว ซึ่งบีโอไอเองก็มีส่วนในการช่วยหาพาร์ทเนอร์

ส่วนนักลงทุนรายเดิมเราก็ไม่ได้ปล่อยให้มีการขยายการลงทุนตามยถากรรม แต่เราต้องการให้เขาทำเรื่องอาร์แอนด์ดีมากขึ้น จากเดิมโรงงานทำแต่การผลิตอย่างเดียว ซึ่งบีโอไอพยายามกระตุ้นให้นักลงทุนรายเดิมทำอาร์แอนด์ดี หากไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรในช่วงเริ่มต้น บีโอไอก็จะหามหาวิทยาลัยหรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มาช่วย เพื่อให้บริษัทสามารถเริ่มต้นทำอาร์แอนด์ดีได้

นายนฤตม์ ย้ำว่าในส่วนของการชักจูงนักลงทุนเข้ามาบีโอไอหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มนักลงทุนได้ “เราจำเป็นต้องใช้ อินฟลูเอนเซอร์ (influencer) เข้ามาช่วย ใครคือคีย์แมนที่จะพาบีโอไอไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ นี่คือโจทย์สำคัญที่ผมให้กับทุกสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ ต้องดูว่าองค์กรไหน หรือบุคคลใดที่เจาะกลุ่มที่เราต้องการให้ได้  ต้องจับมือกับกลุ่มเหล่านี้มห้แน่นเพื่อให้เขาช่วยเรา”

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการดึงการลงทุนตอนนี้หลายประเทศก็ทำเหมือนกัน  อย่างเกาหลี เมื่อก่อนบีโอไอมีพาร์ทเนอร์ คือหอการค้าเกาหลี ซึ่งมี 3 หน่วยงาน ปีนี้บีโอไอ จับมือกับพันธมิตรใหม่ สมาคมรถอีวี สมาคมผู้ประกอบการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  เพื่อให้สมาคมดึงสมาชิกมาร่วมกับเรา ล่าสุดบีโอไอได้เซ็นสัญญา ประธานโคเรียไบโอ หรือ องค์กรส่งเสริมเทคโนโลยีชีวภาพของสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Biotechnology Industry Organization: KoreaBio) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี และความร่วมมือในการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การสัมมนา การจับคู่ทางธุรกิจ การสำรวจลู่ทางการลงทุน

สงครามการค้าจีน-สหรัฐ

นายนฤตม์ ยังเชื่อว่าในเรื่องของ“เทรดวอร์” มองว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย จะเห็นว่าระยะหลังการลงทุนจากจีนมาไทยเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) จากจีนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จากเดิมเคยอยู่อันดับ 4 หรือ 5  ปัจจุบันการลงทุนจากจีนขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 เอฟดีไอของจีนอยู่ที่ประมาณ 20% จากเดิมประมาณ 10% ส่วนญี่ปุ่นยังคงอันดับ 1  มาอย่างต่อเนื่อง การลงทุนเอฟดีไอของญี่ปุ่นเกือบ 40%

สำหรับการลงทุนของจีน ส่วนใหญ่จะลงทุนในอุตสาหกรรม ภาคการผลิตก็จะเป็นผลิตภัณฑ์โลหะ ชิ้นส่วนรถยนต์ ยางล้อรถยนต์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เข้ามา  ส่วนภาคบริการก็จะมีเรื่องของการท่องเที่ยว ดิจิทัล เป็นตัวนำ จีนเข้ามาทำเรื่องดิจิทัล เซอร์วิส ซอฟแวร์   E-Commerce  ก็เริ่มเข้ามา

 “จากนี้ไปผมเชื่อว่าประเด็นเทรดวอร์ จะทำให้การลงทุนของจีนเพิ่มขึ้น ประเทศอื่นอาจจะหนีเทรดวอร์ แล้วมาที่ไทยมากขึ้น อีอีซีก็จะเป็นอีกตัวหนึ่งที่จะดึงดูดการลงทุน “

 

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight