Economics

รื้อข้าราชการพลังงานนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ-บริษัทเอกชน

หลังจากมานั่งในตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงานได้เดือนเศษ กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ก็เริ่มมองภาพของกิจการพลังงานภายใต้การดูแลได้ชัดเจนขึ้นตามลำดับ และเข้าใจที่มาที่ไปของกระทรวงพลังงานที่ตั้งมา 17 ปี

ปลัดกระทรวงพลังงาน

“ที่มาของกระทรวงพลังงานทุกวันนี้ มาจากหลายๆหน่วยงานมารวมกัน มีประวัติ และเรื่องราวไม่ยาวนานนัก หากเทียบกับรัฐวิสาหกิจในสังกัด ขณะเดียวกันก็สะสมความขัดแย้งตั้งแต่มีการปฏิรูป มีการแปลงปตท.เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการต่อต้านการแปลงสภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)จนต้องหยุดแผนนั้นไป กระแสความขัดแย้งสั่งสมตามลำดับ  พร้อมกับส่งต่อชุดความเชื่อกันมา ว่า พลังงานเอาเปรียบประชาชน การอธิบายด้วยเทคนิควิชาการก็ไม่ได้ผล เพราะเข้าใจยากไม่สามารถสู้ได้กับภาษาที่ง่ายกว่า”

แต่จะไม่ทำอะไรเลยคงไม่ได้

กุลิศ บอกถึงสิ่งที่เขาจะทำว่า กระทรวงพลังงานเป็นกระทรวงใหญ่ที่สำคัญ และมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศ และปากท้องของผู้คน จึงต้องการวางรากฐานการทำงานให้แน่น และชัดเจน บนหลักการสำคัญ คือ “โปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดความขัดแย้ง และอำนวยความสะดวกประชาชน”  สอดคล้องกับแนวทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แนวทางนี้จึงถูกเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมาตามลำดับ

แยกบทบาทบริหารปฏิบัติ ลดทับซ้อน

“ปลัดกระทรวงมีหน้าที่วางรากฐานการทำงาน และทำให้นโยบายเกิดผลในทางปฏิบัติ  ไม่ไปวางนโยบายใหม่”  กุลิศ ย้ำกับสังคม พร้อมกับระบุว่า มี 5 เรื่องต้องทำให้เห็นผลในทางปฏิบัติ นั่นก็คือ

  1. 1. Code of Conduct
  2. สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ
  3. ส่งเสริมการแข่งขัน
  4. มุ่งเน้นการอนุรักษ์พลังงาน
  5. เข้าถึงประชาชน

ดูเหมือน Code of Conduct  หรือ หลักจริยธรรม เป็นเรืองที่เขาให้ความสำคัญในลำดับต้น เพื่อรองรับการทำงานที่โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล ซึ่งกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการดำเนินงานในเรื่องสำคัญ โดยการแยกการทำหน้าที่กำหนดนโยบาย การบริหาร และการปฏิบัติออกจากกัน เพื่อให้ทับซ้อนให้น้อยที่สุด

เขา เล่าว่า อยู่ระหว่างการจัดทำแนวปฏิบัติเป็นคู่มือให้ผู้บริหารระดับสูงใช้ในการพิจารณาการเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือ ทั้ง บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัทลูกทั้งหมด รวมถึง กฟผ. และบริษัทที่กฟผ.ถือหุ้น

โดยจะต้องสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่ออกกฎเกณฑ์คุณสมบัติการเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคุณสมบัติหลักๆ ก็คือการเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสม

2559 ขนอม หน่วยที่ 4

ทำคู่มือข้าราชการนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ-เอกชน

แนวทางเบื้องต้นของเขา จะให้ผู้บริหารของกระทรวงพลังงานที่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริษัทปตท.และบริษัทในเครือจะต้องไม่เป็นผู้กำกับดูแลกิจการนั้น อาทิ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ไม่ควรเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมัน เช่น ปตท.หรือบางจาก เป็นต้น แต่สามารถเข้าไปนั่งในกิจการด้านไฟฟ้าได้

ส่วนกรมที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้า ก็ไม่ควรนั่งเป็นกรรมการกฟผ.หรือบริษัทในเครือ เหล่านี้กำลังถูกวางโครงสร้างรองรับการกำกับกิจการที่ดี เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน แต่ที่สำคัญ กุลิศ ย้ำว่า แต่ละท่านไม่ควรเข้าไปนั่งเป็นกรรมการมากกว่า 1 แห่ง

“เรื่องนี้เป็นนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วย และกำลังมีการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ขณะนี้หลายท่านก็ลาออกแล้ว  ส่วนท่านอื่นๆก็กำลังดูจังหวะ เพราะบริษัทเอกชนมีขั้นตอนประชุมคณะกรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นมาเกี่ยวข้องด้วย อาจทำไม่ได้ทันที แต่ที่สำคัญ 1 ท่านควรเป็นกรรมการเพียง 1 แห่ง “

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นเรื่องธรรมาภิบาลในทุกจุด โดยเฉพาะในเรื่องการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ และบงกช ซึ่งจะพบว่าที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเปิดเผย และชี้แจงทุกขั้นตอนเป็นระยะๆ และพร้อมให้การตรวจสอบในกรณีเกิดปัญหาข้อร้องเรียนใดๆ ขึ้นภายหลังการประมูลเสร็จสิ้นลงแล้ว  รวมไปถึงการสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในการใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

“ตอนผมเข้าไปนั่งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร ตอนนั้นกรมก็ถูกมองไม่ดี อยู่ไป 3 ปี ได้วางรากฐานไว้ในเรื่องความโปร่งใส คนใหม่มาก็สานต่อไป ทำให้ภาพพจน์ของกรมศุลกากรดีขึ้นตามลำดับ ต้องยอมรับว่าเรื่องแบบนี้ไม่สามารถทำได้เสร็จภายในคนคนเดียว เพราะเรื่องถูกสั่งสมมานาน

ปั็มบางจาก 5

ใช้ Big Data  ปฏิวัติระบบข้อมูล

สำหรับการทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้นั้น เขา เล่าว่า ปัจจุบันกำลังหารือกับทุกๆหน่วยงาน เพื่อนำข้อมูลมากองรวมกัน และเคลียร์ให้ตรงกัน จัดทำเป็น Big Data หรือศูนย์ข้อมูลกลางที่ถูกต้อง และทุกฝ่ายยอมรับ มีสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นแกนหลักในการทำงานเรื่องนี้

 “ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันจะทำให้หน่วยงานต่างนำไปวิเคราะห์ต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิภาพ ที่ลืมไม่ได้ต้องย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่าย มาใส่ลงในรูปแบบ โมบาย แอพพลิเคชั่น ให้ประชาชนเข้าถึง เช่น ค่าเอฟทีมาได้อย่างไร และเพิ่มขึ้นเพราะอะไรเป็นต้น”  

นอกจากนี้ เขา กำลังระดมสรรพกำลังเพื่อจัดทำแผนแม่บทของกระทรวงพลังงานระยะ 5 ปี ระหว่าง ปี 2562-2566 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นการย่อยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ที่อยู่ระหว่างจัดทำมาใส่ไว้ด้วย เพื่อให้เห็นว่าแต่ละปีประเทศจะมีสัดส่วนการใช้น้ำมันอย่างไร ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงใดบ้าง ใช้พลังงานทดแทนประเภทไหน  และจะประหยัดพลังงานอย่างไร

ทำแผนแม่บทของกระทรวงพลังงาน

“แผนแม่บทนี้กระทรวงพลังงานคิดเองทำเอง เป็นแผนของกระทรวง ไม่ใช่เอาแผนของคนอื่นมาให้เราทำ ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นกรอบการทำงาน ขณะเดียวกันก็ทำให้ประชาชนเห็นและติดตามได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ”

กุลิศ ย้ำในตอนท้าย ว่า การทำงานต้องมีเป้าหมาย มีแผนรวมระยะสั้น และระยะยาว  ทั้งต้องมีแผนปฏิบัติการมารองรับ เพื่อให้ตอบสังคมได้ว่าเรากำลังทำอะไร

“ที่ผ่านมาอาจจะขาดภาพรวม แต่ต่อไปคนกระทรวงพลังงานจะต้องมาช่วยกันวาดภาพ เป็นหูช้าง งาช้าง ขาช้าง และจะชัดเจนขึ้นตามลำดับ กลายเป็นภาพใหญ่ที่สมบูรณ์”  

Avatar photo