Economics

‘ไทย-ญี่ปุ่น’เปิดศูนย์นวัตกรรมฯ ยกระดับเทคโนโลยีแปรรูปอาหาร 

กระทรวงอุตฯ จับมือจังหวัดมิเอะ ญี่ปุ่น เปิดศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย ต่อยอดการวิจัย-ต้นแบบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารจากวัตถุดิบไทย หวังเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ เผยญี่ปุ่นคู่ค้าด้านอาหารอันดับ 1  คาดปีนี้ส่งออกกว่า 1.3 แสนล้าน ปี 62 คาดโต 8% 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย (Mie-Thailand Innovation Center) ว่าความร่วมมือจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทยในครั้งนี้ เกิดจากการประชุมหารือร่วมกันเมื่อครั้งเดินทางเยือนจังหวัดมิเอะเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นความร่วมมือที่มีการเชื่อมโยงกับท้องถิ่นในลักษณะ Local to Local ที่ได้มีการหารือแนวทางต่อยอดการดำเนินงานไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีแผนที่จะดำเนินการร่วมกันในอนาคต

ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย

ในปี 2560 ญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนอันดับ 1 และมีมูลค่าการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงที่สุดคิดเป็น 47% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด

ในด้านการค้าอาหารนั้น ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอาหารอันดับ 4 ของญี่ปุ่น โดยไทยส่งออกอาหารไปญี่ปุ่นสัดส่วน 13.3% ขณะที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากไทยคิดเป็นสัดส่วน 6.4% โดยมีสัดส่วนค่อนข้างคงที่ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในปี 2560 ทั้ง 2 ประเทศมีมูลค่าการค้าอาหารรวมกัน 1.45 แสนล้านบาท โดยไทยส่งออกอาหารไปญี่ปุ่นมูลค่า 1.35 แสนล้านบาท ขณะที่ญี่ปุ่นส่งออกอาหารมาไทย 9,800 ล้านบาท

ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย

ปี 62 ส่งออกอาหารไปญี่ปุ่น 1.4 แสนล้าน

สำหรับสิ้นปี 2561 คาดว่าไทยจะส่งออกสินค้าอาหารไปญี่ปุ่นมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2560 ส่วนในปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัว 8% มูลค่าส่งออกราว 1.4 แสนล้านบาท

สินค้าอาหารที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 5 อันดับแรก ได้แก่ ไก่สดและไก่แปรรูป 46% อาหารทะเลสดและแปรรูป 29% เช่น กุ้งแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง, ผักผลไม้สด และแปรรูป 4% เช่น มะม่วง กล้วยหอม ทุเรียน ข้าวโพดหวาน สับปะรดกระป๋อง, น้ำตาลทราย 4% ข้าว 3%

ส่วนสินค้าอาหารที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น 5 อันดับแรก ได้แก่ อาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง 55% เพื่อแปรรูปในอุตสาหกรรม และใช้บริโภคสด, เครื่องปรุงรส 7% ใช้ในครัวเรือนและร้านอาหาร/โรงแรม, เนื้อวัวสด/แช่เย็น 3% ส่วนใหญ่ใช้ในร้านอาหาร/โรงแรม ผลไม้สด 2% และไข่ปลาคาเวียร์ 2% ส่วนใหญ่ใช้ในร้านอาหาร/โรงแรม

ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย

ปัจจุบันมีบริษัทจากจังหวัดมิเอะถึง 30 บริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร เทคโนโลยี เคมีคอล อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการท่องเที่ยว เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท

สินค้าอาหารที่มีชื่อเสียง ของจังหวัดมิเอะ อาทิ สินค้าของ บริษัท Yamamori ผู้ผลิตแกงบรรจุถุงรีทอร์ทเพาช์ และแกงก้อน เช่น แกงกะหรี่ และซอสโชยุ มีโรงงานสาขาตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง ผลิตแกงไทยบรรจุถุงรีทอร์ทเพาช์ ส่งออกไปญี่ปุ่น เช่น แกงเขียวหวาน ปูผัดผงกะหรี่ และแกงเผ็ด เป็นต้น

“ผมมั่นใจว่าศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างจังหวัดมิเอะกับประเทศไทย ที่จะช่วยยกระดับและพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม และจะเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ที่จะช่วยให้เกิดความร่วมมือที่ขยายวงไปในด้านการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวระหว่างกันได้ต่อไปในอนาคต”

สมชาย หาญหิรัญ
สมชาย หาญหิรัญ

3 ยุทธศาสตร์ยกระดับอุตฯ

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทยมีเป้าหมาย “ขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทยให้เป็นผู้นำได้ในระดับสากล” มียุทธศาสตร์ที่สำคัญ 3 ด้าน  ประกอบด้วย  1. ยุทธศาสตร์การแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปอาหาร ได้แบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือ แนวการดำเนินงานทางตาม Agenda base ให้สถาบันอาหารเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานโดยจะร่วมกันวิจัยและการทำต้นแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร รวมถึงการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน และแนวทางตามพื้นที่ หรือ Area base กระทรวงอุตสาหกรรมได้เน้นกระจายความร่วมมือให้เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นสู่ท้องถิ่น หรือ Local to Local

โดยได้กำหนดไว้ 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่จังหวัดสงขลา ศูนย์นวัตกรรมฯ จะเชื่อมโยง กับ ศูนย์ ITC 4.0 ของสถาบันอาหาร ที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดสงขลา และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จะมีการเชื่อมโยงการทำงานศูนย์นวัตกรรมฯ กับการดำเนินงานโครงการ Northern Food Valley โดยจะมีความร่วมมือกับทางจังหวัดมิเอะด้านการพัฒนา Lanna Matsusaka Beef ความร่วมมือในด้าน Medical and Bio-Technology และความร่วมมือเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรม

2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากร ในด้านการพัฒนาบุคลากรนี้ จะดำเนินการโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในพัฒนาบุคลากรระดับ Leader ในภาคการผลิต โดยจะนำหลักสูตรของ Mie Industry and Enterprise Support Center (MIESC) มาปรับใช้

และ 3.ยุทธศาสตร์การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ฝ่าย จะเน้นด้านการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ (Business Networking) เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทยจะเข้ามามีส่วนร่วมกับการสร้างเครือข่ายนี้ด้วย

นายเอเค ซูซูกิ ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ
นายเอเค ซูซูกิ ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ

เสริมแกร่งอาหารแปรรูป

นายเอเค ซูซูกิ ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ กล่าวว่าการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย เพื่อแนะนำเทคโนโลยีทางด้านการแปรรูปอาหารของจังหวัดมิเอะให้กับผู้ประกอบการไทย และเพื่อสนับสนุนความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการจากจังหวัดมิเอะ

นอกจากการนำเครื่องจักรแปรรูปอาหารเข้ามาใช้ในการวิจัยและทดลองแล้ว ยังได้จัดให้มีสัมมนาแนะนำเทคโนโลยีอาหารแปรรูปของอาหารในจังหวัดมิเอะด้วย การเปิดศูนย์ฯ และการรับมอบเครื่องจักรสำหรับแปรรูปอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจังหวัดมิเอะ เพื่อสร้างโอกาสเติบโตในอนาคต

ศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ-ประเทศไทย ได้รับมอบเครื่องจักรแปรรูปอาหารมูลค่า 25 ล้านเยน จากบริษัท SUEHIRO EPM  ประเทศญี่ปุ่นมาติดตั้งเพื่อรองรับงานวิจัย ทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมุ่งเน้นใช้วัตถุดิบของไทย อีกทั้งเป็นเครื่องมือและกลไกในการเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรมอาหารของประเทศ

Avatar photo